TEXT : กองบรรณาธิการ
Main Idea
- หนึ่งในวิธีง่ายๆ ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและไม่ทำลาย ก็คือ การใช้ทรัพยากร หรือข้าวของที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้คิดค้นนวัตกรรม “พลาสติกซ่อมแซมตัวเองได้” หรือเรียกว่า “self-repairing plastics” เพื่อช่วยให้สิ่งของที่ผลิตจากพลาสติกที่แตกหักไปแล้ว สามารถยึดติดกันได้เหมือนเดิม ทำให้ช่วยยืดอายุการใช้งานออกไป
พลาสติก คือ หนึ่งในวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก และยังเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่ถูกนำมาใช้เพื่อผลิตขึ้นเป็นสินค้าต่างๆ มากมายที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย จนบางครั้งเกิดเป็นปัญหาขยะล้นโลก โดยเฉพาะการใช้แบบครั้งเดียวทิ้ง หรือ “Single use plastic” โดยมีรายงานกล่าวไว้ว่ากว่า 91% ของพลาสติกมักไม่สามารถนำรีไซเคิลได้
ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการพยายามคิดค้นหาวิธีนำพลาสติกมาใช้ประโยชน์ให้เกิดคุณค่าสูงสุด เพราะอย่างไรเสียในอีกแง่มุมหนึ่งข้อดีของพลาสติก ก็คือ มีความแข็งแรงทนทาน สามารถนำไปใช้เป็นส่วนประกอบเพื่อผลิตเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ออกมาได้มากมาย และยังมีสีสันความสวยงามในตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน เป็นต้น โดยล่าสุดนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า “self-repairing plastics” หรือ “พลาสติกซ่อมแซมตัวเองได้” ช่วยให้แม้วันหนึ่งสินค้าที่ผลิตจากพลาสติกของคุณเกิดแตกหักเสียหายขึ้นมา มันอาจสามารถซ่อมแซมตัวเองได้อย่างน่าอัศจรรย์
เรื่องราวดังกล่าวนี้ได้ถูกบอกเล่าผ่านเว็บไซต์ข่าวภาษาอังกฤษของ Asahi Shimbun ว่ามีทีมนักวิจัยซึ่งนำโดยศาสตราจารย์ด้านเคมี “Takuzo Aida” ได้ค้นพบวิธีสร้างพลาสติกที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้
โดยได้อธิบายวิธีการว่าในพลาสติกหนึ่งชิ้นจะประกอบไปด้วยโพลิเมอร์ ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของโมเลกุลขนาดเล็กที่เรียกว่า “มอนอเมอร์” ด้วยปฏิกิริยาเคมีรุนแรงที่เรียกว่าพันธะโคเวเลนต์ (พันธะเคมีที่เกิดจากอะตอม 2 อะตอมมีแรงยึดเหนี่ยวกัน) ซึ่งพันธะที่แข็งแรงเหล่านี้ทำให้พลาสติกแตกตัวออกจากกันหรือแยกโพลิเมอร์ออกมาได้ยาก จึงไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้
การจะทำให้โพลิเมอร์สามารถซ่อมแซมตัวเองได้จึงต้องมีการเติมสารชนิดพิเศษลงไปในพลาสติก เพื่อยึดโมเลกุลมอนอเมอร์เข้าด้วยกันด้วยพันธะไฮโดรเจน ซึ่งจะอ่อนแอกว่าพันธะโคเวเลนต์มาก ทำให้เมื่อพลาสติกชนิดใหม่ถูกสลายด้วยความร้อนแทนที่จะเผาทิ้งเป็นขยะ พันธะไฮโดรเจนจะสลายตัวและทำให้เกิดการก่อตัวของโมเลกุลรูปลิ่มพิเศษหรือมอนอเมอร์ เพื่อสร้างรากฐานสำหรับมอนอเมอร์จำนวนมากขึ้น จนสามารถสร้างชั้นและสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ได้
มีการทดลองนำแผ่นพลาสติกที่มีคุณสมบัติสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ทิ้งไว้อุณหภูมิห้อง พบว่าจากรอยร้าวที่แตกหักมา ใช้เวลาเพียงแค่หนึ่งชั่วโมงกว่าๆ ก็สามารถสมานติดกันได้ดังเดิม แถมความแข็งแรงก็ไม่หนีจากเดิมสักเท่าไหร่ด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้ยังไม่มีรายงานออกมาว่าได้มีการนำพลาสติกดังกล่าวมาใช้กับผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการทดลองให้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด แต่ศาสตราจารย์ Aida ก็ได้กล่าวเป็นแนวทางเอาไว้ว่า
“เทคนิคนี้อาจนำไปสู่การพัฒนาพลาสติกที่ทำขึ้นใหม่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งต่อไปทำให้แม้เกิดการชำรุด แตกหัก ก็ไม่จำเป็นต้องทิ้งหรือนำไปรีไซเคิล ทำให้นอกจากช่วยยืดอายุสินค้าที่ผลิตขึ้นมาได้แล้วให้สามารถใช้ได้นานขึ้น ยังช่วยลดขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นและส่งผลเสียต่อโลกด้วย ซึ่งต่อไปอาจอยู่ในส่วนประกอบการผลิตสมาร์ทโฟน ไปจนถึงรถยนต์ หรือแม้แต่อาคารก่อสร้างก็ได้”
ที่มา : https://www.goodnet.org/articles/this-innovation-could-make-everyday-objects-unbreakable
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี