เรื่อง นเรศ เหล่าพรรณราย
ด้วยนโยบายของเฟซบุ๊ค สื่อสังคมออนไลน์อันดับหนึ่งที่มุ่งเน้นให้ผู้ใช้งานเชิงธุรกิจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อที่จะให้ให้ลูกค้าได้มองเห็นกิจกรรมบนแฟนเพจ ล่าสุดเฟซบุ๊คได้ทำการปรับเปลี่ยนระบบอัลกอริธึมใหม่ทั้งหมดสามข้อ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนักการตลาดออนไลน์ต้องมีการปรับตัวตามดังนี้
หนึ่ง..ลดจำนวนการเห็นโพสต์จากการกดไลค์ของเพื่อน ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊คได้ปรับระบบการสุ่มแสดงโพสต์ต่างๆจากแฟนเพจโดยปรับให้เห็นโพสต์ที่เพื่อนของเราเข้าไปกดไลค์ เนื่องจากระบบคาดเดาว่าสิ่งที่เพื่อนกดไล์เราเองก็น่าจะชอบด้วย แต่ล่าสุดเฟซบุ๊คได้ปรับระบบใหม่ ลดจำนวนการเห็นโพสต์ที่เพื่อนกดไลค์ลง ทำให้เจ้าของแฟนเพจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อ Sponsor เพื่อให้คนกดไลค์แฟนเพจเห็นมากขึ้น
สอง..เฟซบุ๊คเริ่มเปิดให้เห็นฟีดมากขึ้น ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊คจะไม่เปิดโอกาสให้เห็นฟีดคอนเทนท์จากแฟนเพจใดๆมากเกินไป หากมีการโพสต์ข้อความถี่เกินไปก็จะไม่แสดงบนหน้าฟีดให้เห็นจนครบ แต่ล่าสุดเฟซบุ๊คได้อนุญาตให้คนที่กดไลค์แฟนเพจสามารถมองเห็นคอนเทนท์ได้มากขึ้นถ้ามีผู้สนใจเข้าไปกดอ่านเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคอนเทนท์นั่นจะต้องถูกต้องตามกฎระเบียบที่มีความเข้มข้นมากขึ้น เช่น ไม่โพสต์เรื่องทางเพศ ภาพที่ไม่เหมาะสม การปลุกปั่นยุยง รวมไปถึงเรื่องราวที่นำไปสู่การสร้างความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ศาสนา ฯลฯ
สาม....แสดงโพสต์บ่อยขึ้นถ้าคนกดไลค์เข้าไปแสดงความคิดเห็น ถ้าหากโพสต์ใดที่มีคนเข้าไปแสดงความเห็นหรือเข้าไปมีปฎิสัมพันธ์ด้วยเป็นจำนวนมากจะยิ่งเพิ่มโอกาสให้เห็นคอนเทนท์บนฟีดมากยิ่งขึ้น เจ้าของแฟนเพจจึงควรต้องสร้างคอนเทนท์หรือกิจกรรมที่จะสร้างปฎิสัมพันธ์กับลูกค้าเพื่อเพิ่มยอดการเข้าถึงคอนเทนท์ให้มากขึ้น
สรุปได้ว่าคอนเทนท์ที่จะประสบความสำเร็จบนแฟนเพจไม่ได้วัดกันที่จำนวนการโพสต์ว่าต้องมีข่าวถี่เท่าไรแต่วัดที่คอนเทนท์ที่โพสต์ว่าจะดึงความสนใจของผู้ที่ติดตามรวมถึงจะสร้างปฎิสัมพันธ์ได้มากน้อยเพียงใด การที่ผู้ใช้งานจ่ายเงินเพื่อได้รับการ Sponsor ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับการการันตีว่าจะได้เห็นคอนเทนท์อีกต่อไป ซึ่งความคิดสร้างสรรค์และความสม่ำเสมอในการใช้งานจะเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ
นอกจากนี้ เฟซบุ๊ค ยังได้เปิดบริการใหม่ในส่วนของข้อความหรือ Messenger โดยเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถร่วมมือกับภาคธุรกิจในการสร้างเครือข่ายลูกค้าร่วมกัน กล่าวคือแบรนด์ต่างๆสามารถส่งข้อความประชาสัมพันธ์สินค้าหรือสร้างแบบสอบถามการใช้บริการไปยังผู้ใช้เฟซบุ๊คได้
ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมาซึ่งเฟซบุ๊คมีบริการตอบแบบสอบถามผ่าน Messenger พบว่ายอดการมีปฎิสัมพันธ์โต้ตอบกลับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว จากอัตราตอบกลับเพียง 5% ปัจจุบันอยู่ทีอัตรา 74% ในอนาคตจึงมีการคาดการณ์ว่าเฟซบุ๊คจะพัฒนาแพลตฟอร์มในด้านธุรกิจขึ้นมาในชื่อ Messenger for Business เพื่อให้แบรนด์สินค้าได้ใช้เป็นช่องทางสื่อสารกับผู้ใช้เฟซบุ๊คกว่า 600 ล้านคน
Create by smethailandclub.com