เรื่อง นเรศ เหล่าพรรณราย
ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีทองของอินสตาแกรม สื่อสังคมออนไลน์ที่เน้นการแสดงผลด้วยรูปภาพที่ล่าสุดมีผู้ใช้งานแตะระดับ 300 ล้านรายเป็นที่เรียบร้อย ไม่เพียงแต่ผู้ใช้งานทั่วไปเท่านั้น แต่อินสตาแกรมกำลังเป็นเครื่องมือการตลาดที่สำคัญของนักการตลาดออนไลน์ไม่แพ้เฟซบุ๊คและทวิตเตอร์
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟังชั่นการโพสวีดีโอซึ่งล่าสุดได้มีการเพิ่มเครื่องมือสร้างภาพช้าหรือ Hyperlapse เข้ามา แม้ปีที่ผ่านมาจะมีการโพสต์วีดีโอในสัดส่วนเพียงแค่ 6% แต่นับว่ามีอัตราการเติบโตกว่า 600%
สถิติล่าสุดที่ประกาศออกมาโดยอินสตาแกรม พบว่ามีกลุ่มผู้ใช้งานหลักมีอยู่ด้วยกันสามกลุ่มคือกลุ่มเซเลบริตี้ กลุ่มสื่อและกลุ่มตราสินค้า และเมื่อวัดสถิติอัตราการเข้าถึง (Engagement) และการมีปฎิสัมพันธ์ (Interaction) ของทั้งสามกลุ่มผู้ใช้งานพบว่ากลุ่มเซเลบริตี้ เป็นกลุ่มที่มีการเข้าถึงและมีปฎิสัมพันธ์มากที่สุดกว่า 302 ล้านครั้ง รองลงมาคือกลุ่มสื่อ 109 ล้านครั้งและกลุ่มแบรนด์ 90 ล้านครั้ง เห็นได้ว่ากลุ่มเซเลบริตี้ มีอัตราการเข้าถึงของผู้ใช้งานมากกว่าสื่อและแบรนด์ถึงสามเท่า
นักการตลาดออนไลน์จึงให้คำแนะนำว่าตราสินค้าควรที่จะใช้อินสตาแกรมเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งควบคู่ไปกับการใช้เฟซบุ๊คแฟนเพจโดยเน้นไปที่การสร้างภาพลักษณ์ของตัวบุคคล ขณะที่แฟนเพจใช้ในการโปรโมตตัวสินค้าและบริการเป็นหลัก
แม้ว่าวีดีโอกำลังเป็นฟังชั่นที่เติบโตรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตามรูปภาพยังคงเป็นฟังชั่นหลักที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด ทั้งนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจจากอินสตาแกรมที่แสดงให้เห็นว่า 81% ของตราสินค้าที่โพสต์ลงอินสตาแกรมไม่ได้ใช่ฟังชั่นฟิลเตอร์ในการแต่งภาพแต่อย่างไร เป็นการบ่งชี้ว่าผู้ใช้งานเลือกที่จะโพสต์ภาพลงบนโซเชียลมีเดียอื่นและลิงค์ไปยังอินสตราแกมมากกว่าโพสต์ภาพผ่านอินสตราแกมโดยตรง นอกจากนี้ยังมีข้อมูลสนับสนุนว่าผู้ติดตามมักจะให้ความสำคัญกับความสวยงามของรูปภาพที่จะสื่อถึงตัวแบรนด์และสินค้ามากกว่าการแต่งภาพให้ดูสวยเกินจริง
เมื่อทำการแยกแยะการใช้ฟิลเตอร์แต่งภาพพบว่าสินค้าประเภทภาคบริการ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รถยนต์ ค้าปลีกและความงาม เป็นสินค้าที่ใช้งานฟิลเตอร์แต่งภาพมากที่สุด โดยฟิลเตอร์ Valencia Amaro Mayfair และ Lo-Fi เป็นกลุ่มที่ถูกใช้งานมากที่สุด
อีกเครื่องมือที่น่าสนใจคือการใช้ แฮตชแท็ก #hashtags ในการจำแนกประเภทของสินค้าและบริการ นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาสิ่งที่สนใจได้โดยง่ายและยังเป็นการสร้าง word-of-mouth ให้นำไปกล่าวต่อๆกัน จากการสำรวจพบว่ากว่าหนึ่งในสี่ของตราสินค้าไม่มีการตั้งแฮตชแท็กแต่อย่างไร โดยครึ่งหนึ่งมีการตั้ง แฮตชแท็ก ประมาณหนึ่งถึงสามชื่อ อย่างไรก็ตามมีข้อระวังว่าความน่าสนใจของตราสินค้าจะลดลงเมื่อมีการตั้ง แฮตชแท็ก มากเกินไปจนเกิดเป็นสแปม
ความน่าสนใจของอินสตาแกรมอีกข้อหนึ่งคือการจำกัดคำนิยามหรือคำอธิบายต่อหนึ่งโพสต์ไม่เกิน 2200 ตัวอักษร ซึ่งนักการตลาดได้อธิบายว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้วเนื่องจากไม่ยาวและไม่สั้นมากจนเกินไป
ภาพรวมของอินสตาแกรมกำลังเป็นเครื่องมือด้านการตลาดที่มีประสิทธิภาพเมื่อถูกนำไปใช้ควบคู่กับสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊คแฟนเพจหรือทวิตเตอร์ และในอนาคตอาจจะก้าวขึ้นมาเป็นเครื่องมือหลักก็เป็นได้โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์สำหรับบุคคล
Crate by smethailandclub.com