ชาวสวนต้องว้าว! เมื่อ ‘หุ่นยนต์’ จะเข้ามาช่วยงาน เพิ่มแต้มต่อธุรกิจเกษตร

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
  • การทำเกษตรยุคใหม่ เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
 
  • หุ่นยนต์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยวผลไม้
 
  • ช่วยประหยัดต้นทุนด้านแรงงาน
 
  • ช่วยเกษตรกรลดการสัมผัสกับสารเคมีหรือยาปราบศัตรูพืชโดยตรง
 
  • วางแผนการเก็บเกี่ยวได้อย่างแม่นยำ
 
  • สามารถบันทึกการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อัตโนมัติ เพื่อนำไปวางแผนการเพาะปลูกรอบใหม่ 




      เป็นความจริงที่วันนี้ภาคการเกษตรต้องเจอกับข้อจำกัดต่างๆ มากมาย ทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวน พื้นที่สวนไร่-
นามีจำกัด ตลอดจนปัญหาด้านแรงงานในภาคการเกษตรที่ลดน้อยลงทุกวัน ซึ่งล้วนส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตที่ยากจะควบคุมได้ ในขณะที่ความต้องการอาหารโลกกลับเพิ่มขึ้นสวนทางกับข้อจำกัดเหล่านี้ เกษตรกรยุคใหม่จึงต้องการตัวช่วยที่จะทำให้สามารถสร้างผลผลิตได้เพียงพอและมีคุณภาพอย่างที่ผู้บริโภคยุคนี้ต้องการได้
               

       แล้วในยุคนี้ตัวช่วยอะไรจะดีไปกว่าเทคโนโลยีล่ะ จริงไหม?
               





       เทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่ (Agricultural Technology : AgriTech) กำลังมีบทบาทในภาคการเกษตรไทย ทำให้ภาพของการทำเกษตรในอนาคตใกล้เคียงกับการดำเนินงานในภาคอุตสาหกรรมในแง่ที่สามารถตรวจวัดตัวแปรต่างๆ และควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการเพาะปลูกได้แบบเรียลไทม์ ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่น่าตื่นตาตื่นใจเท่าไร เพราะเราได้เห็นแล้วในสมาร์ทฟาร์มหลายแห่ง แต่เทคโนโลยีที่กำลังเข้ามายกระดับการเปลี่ยนโฉมภาคการเกษตรไทย ก็คือ หุ่นยนต์การเกษตร (Farming Robot) ที่เข้ามาช่วยเกษตรกรได้ตั้งแต่ขั้นเตรียมการเพาะปลูก ปลูกลงดิน เก็บเกี่ยว ไปจนถึงขั้นหลังการเก็บเกี่ยวเลยทีเดียว





 
หุ่นยนต์เก็บเกี่ยว ตัวช่วยสำคัญในสวนผลไม้             
  

       ในกระบวนการทำการเกษตรทั้งหมด การเก็บเกี่ยวนับเป็นขั้นตอนที่ใช้แรงงานมากที่สุด ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนต้นทุนแรงงานถึง 42.7 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างแรงงานทั้งหมด “หุ่นยนต์เก็บเกี่ยว” จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่เกษตรกรควรนำมาใช้มากที่สุด เพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตไปพร้อมๆ กับลดการใช้แรงงานและค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้ลง
ขณะที่โดยส่วนใหญ่การปลูกผลไม้ในพื้นที่ขนาดใหญ่กลางแจ้ง (Outdoor Farming) ทำให้เดิมทีแรงงานคนที่ใช้อาจคาดการณ์การสุกของผลไม้ที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลต่อความสูญเสียของผลผลิตผลไม้ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งการใช้หุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้แทนคนจะเป็นการแก้ไขปัญหานี้ได้
               

       นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์อื่นๆ รองลงมา อย่างเป็นตัวช่วยด้านสุขอนามัยของเกษตรกร เพราะสามารถลดการสัมผัสสารเคมีและยาปราบศัตรูพืชได้อีกด้วย
 



 
ผลไม้ไทย High Value เป้าหมายแรกของหุ่นยนต์ผู้ช่วย     
 
         

       ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ชนิดของผลไม้ที่ควรนำหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวเข้ามาใช้ โดยมองว่า
               

       ผลไม้ในกลุ่มที่ 1 คือ ผลไม้ที่มีมูลค่าสูง (High Value) อย่างทุเรียน มังคุด มะม่วง กล้วย ซึ่งเป็นผลไม้ส่งออกหลักของไทย น่าจะเป็นกลุ่มแรกที่ไทยควรนำหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวเข้ามาใช้ก่อนเพื่อเพิ่มคุณภาพการผลิต เนื่องจากผลไม้กลุ่มนี้เน้นการคัดคุณภาพแบบลูกต่อลูก จึงเป็นกลุ่มที่เน้นด้านคุณภาพเป็นหลัก จากความคาดหวังของผู้บริโภคที่ต้องการรูปลักษณ์ของผลไม้ที่สวยงาม ขนาดได้มาตรฐาน ทำให้ผู้ผลิตต้องมีความพิถีพิถันเป็นอย่างมาก
               

        ผลไม้ในกลุ่มที่ 2 เป็นผลไม้ในลักษณะเหมาเข่งอย่าง ลำไย ลิ้นจี่ หรือสัปปะรด เนื่องจากกลุ่มผลไม้กลุ่มนี้ไม่ได้เน้นด้านคุณภาพมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผลไม้ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูป เช่น เงาะกระป๋อง สัปปะรดกระป๋อง ลิ้นจี่กระป๋อง ลำไยอบแห้ง เป็นต้น จึงไม่ต้องเน้นความพิถีพิถันมากนัก แต่จะเน้นไปที่ปริมาณการผลิตมากกว่า
 




 
ช่วยยกระดับคุณภาพผลไม้ส่งออก             
  

        หุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้จะเป็นตัวช่วยยกระดับคุณภาพผลไม้ของไทยให้ดีขึ้นได้ ตอบโจทย์ตลาดผู้บริโภคที่เน้นด้านคุณภาพ และมาตรฐานการส่งออกที่มากขึ้น อย่าง จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ไต้หวัน ฮ่องกง เป็นต้น สอดคล้องกับแนวทางส่งเสริมของภาครัฐในโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor: EFC) โดยเฉพาะจังหวัดในแถบภาคตะวันออก เช่น จันทบุรี ระยอง ตราด เพื่อผลักดันให้ไทยเป็น “มหานครผลไม้โลก” ภายในปี 2564
               

       ซึ่งที่ผ่านมา ผลไม้เป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกที่สำคัญของไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ของสินค้าส่งออกในหมวดสินค้าเกษตรมาโดยตลอด ไทยส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 28.2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และมีมูลค่าส่งออกพุ่งสูงแตะระดับ 113,118 ล้านบาท ในปี 2562 สะท้อนถึงศักยภาพของผลไม้ไทยในตลาดโลก โดยเฉพาะผลไม้สดที่มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสูงถึง 79.8 เปอร์เซ็นต์ จึงนับว่าผลไม้สดมีบทบาทสำคัญมากที่สุดเมื่อเทียบกับผลไม้แห้งและแช่แข็ง ไทยจึงควรเร่งส่งเสริมและต่อยอดการผลิตผลไม้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สอดรับกับความต้องการในตลาดโลก
               


       อย่างไรก็ดี ในช่วงปีแรกของการลงทุนในหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้ เกษตรกรอาจต้องเผชิญปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตจากราคาหุ่นยนต์ รวมถึงต้นทุนจากการบริหารจัดการแปลงผลไม้ใหม่ ด้วยการจัดระเบียบให้กับต้นผลไม้อย่างเป็นแถว/แนว เพื่อสะดวกต่อการทำงานของหุ่นยนต์ และอาจต้องเผชิญผลผลิตต่อไร่ที่อาจลดลงได้จากการลดความหนาแน่นของต้นผลไม้ แต่ก็นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่เกษตรกรอาจต้องพิจารณาลงทุนเพิ่มในช่วงปีแรกนี้ เนื่องจากในระยะยาว ผลตอบแทนจากการใช้หุ่นยนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยวที่มีผลต่อคุณภาพของผลไม้จะให้ผลคุ้มค่ากว่าการที่ใช้แรงงานคนเพียงอย่างเดียว ในภาวะที่แนวโน้มค่าจ้างแรงงานคนสูงขึ้นเรื่อยๆ และจำนวนแรงงานภาคเกษตรที่อาจลดลง   





       แต่ในระยะถัดไป คาดว่าราคาหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้น่าจะมีแนวโน้มถูกลงเรื่อยๆ เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตมีการแข่งขันกันมากขึ้น องค์ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีหุ่นยนต์ของผู้เกษตรกรที่มีมากขึ้น รวมถึงเทรนด์ของสินค้าจำพวกเทคโนโลยีที่มักจะมีราคาลดลงอย่างรวดเร็วตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น อีกทั้งเทคโนโลยี 5G  ที่น่าจะมีการใช้ที่แพร่หลายมากขึ้นจะช่วยให้หุ่นยนต์ทำงานได้ดีขึ้น และทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้ได้ง่ายขึ้นในอนาคต



      นี่คือตัวช่วยใหม่ ที่จะมีบทบาทกับธุรกิจเกษตรของไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ประกอบการในกลุ่มเกษตรก็ต้องลองศึกษาและหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องเหล่านี้ได้
 


      ที่มา : เรียบเรียงข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: TECH

“จุลินทรีย์คึกคัก” นวัตกรรมกำจัดสารเคมีตกค้างบนดิน ตัวช่วยเกษตรกรประหยัดทุน ได้ธุรกิจยั่งยืน

จุลินทรีย์คึกคัก ตัวช่วยแก้ปัญหาสารเคมีตกค้าง สร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร ด้วยฝีมือคนไทยจากบริษัท ไบโอม จำกัด บริษัทที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงตอบโจทย์การทำธุรกิจแบบยั่งยืน

เทคนิคขายของออนไลน์อย่างไร ให้สต็อกไม่จม ออร์เดอร์ไม่หลุด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วง Double day หรือเทศกาลต่างๆ เป็นโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้ตักตวงออร์เดอร์มากกว่าช่วงเวลาปกติ แต่จะทำอย่างไรให้โอกาสเหล่านี้ไม่กลายเป็นวิกฤตสร้างปัญหาทางธุรกิจ เช่น สต็อกจม ส่งของไม่ทัน ทำให้สูญเสียลูกค้าในที่สุด

รู้จักเทรนด์ Hyper Automation ช่วย SME กำจัดงานซ้ำๆ น่าเบื่อให้หมดจากองค์กร

Automation หรือ "ระบบอัตโนมัติ" ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่อนาคตจะพัฒนาไปสู่ Hyper automation เพื่อช่วยกำจัดความยุ่งยากของการทำงานที่ซ้ำซากน่าเบื่อ และก่อนจะสายเกินไป เพื่อให้ธุรกิจตามทันเทคโนโลยี ลองมาทำความรู้จักกับเทรนด์นี้พร้อมกัน