Main Idea
- การสร้างนวัตกรรมคือการทำให้การใช้ชีวิตของผู้บริโภคดีขึ้น ดังนั้นแบรนด์ที่ต้องการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอันดับแรก หาความต้องการที่แท้จริงของเขาให้ได้
- แต่ลูกค้ามักไม่สามารถบอกออกมาได้ตรงๆ ว่าพวกเขาต้องการอะไร หรือแบรนด์ต้องทำแบบไหน แต่แบรนด์ต่างหากที่เป็นฝ่ายต้องปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการเพื่อระบุปัญหาของพวกเขาให้ได้ และหาวิธีแก้ปัญหานั้นในแบบที่ลูกค้าไม่คาดคิด นั่นต่างหากถึงจะเป็น “นวัตกรรม”
Boston Consulting Group ศึกษาบริษัทที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรม 3 แห่งในโลกได้แก่ Google, Apple และ Amazon ว่าอะไรที่ทำให้บริษัทเหล่านี้เก่งกาจในเรื่องการสร้างนวัตกรรมนัก คำตอบก็คือ การให้ความสำคัญกับลูกค้า และแก้ปัญหาของลูกค้าให้ได้ แต่บริษัทไม่สามารถคาดหวังว่าลูกค้าจะบอกได้ว่าต้องทำอะไรหรือสร้างสรรค์อะไร แต่ต้องปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีทำ เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน
นี่คือวิธีคิดขององค์กรเหล่านี้ ที่จะทำให้บริษัทของคุณเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมได้เหมือนกัน
- ลูกค้าไม่รู้ความต้องการของตัวเอง
ต้องเข้าใจก่อนว่าลูกค้าไม่ใช่ฝ่ายถูกต้องเสมอไป นั่นเป็นเพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจำเป็นต้องใช้อะไรจึงไม่สามารถขอสิ่งที่พวกเขาเองก็ยังไม่รู้ได้ ถ้าจะให้อธิบายภาวะนี้ได้ดีที่สุด คงจะเป็นคำพูดของ Henry Ford เจ้าของแบรนด์รถยนต์ฟอร์ดที่กล่าวไว้ว่า “ถ้าถามลูกค้าว่าต้องการอะไร พวกเขาจะบอกว่า..ม้าที่เร็วกว่านี้!” นั่นสะท้อนให้เห็นถึงความจริงที่ว่าผู้คนไม่สามารถนึกภาพสิ่งที่พวกเขาไม่เคยสัมผัสมาก่อนได้ และถ้าฟอร์ดมัวแต่ถามลูกค้าด้วยประโยคนั้นทุกวันนี้เราอาจจะยังคงใช้รถม้าในการเดินทางแทนรถยนต์อยู่ก็เป็นได้
เช่นเดียวกับ “สตีฟ จ็อบส์” ผู้ก่อตั้ง Apple ที่เคยอธิบายประเด็นนี้ไว้ในการสัมภาษณ์หลายปีก่อนว่า ปัญหาของการวิจัยตลาดคือสามารถบอกได้ว่าลูกค้าคิดอย่างไรกับสินค้าหรือบริการ และต้องการให้ปรับปรุงอะไรเพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม แต่ไม่สามารถคาดเดาสิ่งที่ตัวเขาเองก็ยังไม่รู้ว่าพวกเขาต้องการ สิ่งที่สตีฟ จ็อบส์ และทีมงาน Apple ทำได้คือการค้นหาปัญหาที่ลูกค้าไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามี จากนั้นจึงคิดวิธีใหม่ทั้งหมดมาใช้แก้ปัญหาที่ว่านั้น จนเกิดเป็นนวัตกรรมที่ใครๆ ก็คาดไม่ถึง
- ปัญหาคือโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรม
เมื่อพูดคุยกับลูกค้า อย่าคาดหวังว่าพวกเขาจะบอกเราได้ว่าบริษัทต้องทำอะไร แต่สามารถชี้ให้เห็นปัญหาซึ่งเป็นรากฐานสำหรับโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งคนที่ทำธุรกิจได้ดีที่สุดไม่ใช่คนที่มีปัญหาน้อยที่สุด แต่เป็นคนที่แก้ปัญหาได้ดีและสนุกกับการทำให้ทำทุกอย่างให้ดีขึ้นนั่นเอง
- กระโดดออกจากกรอบประสบการณ์เดิม
หากคุณต้องการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ คุณต้องไม่คิดถึงการสร้างม้าที่เร็วขึ้นได้ แต่ต้องคิดสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนอย่าง รถยนต์ ซึ่งการทำเช่นนี้ได้ต้องใช้ความคิดที่ไม่ต่อเนื่องจากประสบการณ์เดิม เพราะประสบการณ์ในอดีตและความคาดหวังในอนาคตมักเป็นกรอบที่ขวางทางความคิดใหม่ๆ เสมอ
ยกตัวอย่างเมื่อ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” กำลังครุ่นคิดถึงวิสัยใหม่ในเชิงฟิสิกส์ เขามักข้ามวิชาคณิตศาสตร์แล้วตั้งคำถามเชิงปริศนาว่า ลำแสงจะมีลักษณะเป็นอย่างไรหากอยู่บนรถไฟ หรือ เหตุการณ์ในลิฟต์ที่เคลื่อนที่จะแตกต่างจากลิฟต์ที่นิ่งอยู่ในสนามโน้มถ่วง จนเกิดเป็นทฤษฎีสัมพันธภาพ
ในขณะที่คนอื่นๆ จะมุ่งเน้นไปที่การพยายามปรับปรุงความเข้าใจฟิสิกส์ในปัจจุบัน แต่ไอน์สไตน์กลับใช้ความคิดที่ก้าวกระโดดออกจากกรอบเดิมๆ เพื่อจินตนาการถึงอนาคตที่แตกต่างออกไป และเป็นแนวทางใหม่สำหรับโลกวิทยาศาสตร์
- นวัตกรรมต้องการการรับรู้
เมื่อมีสิ่งใหม่เกิดขึ้น ยิ่งมีความแตกต่างจากสิ่งที่เคยชินอยู่มากเท่าไร ผู้คนยิ่งลังเลที่จะให้โอกาสกับของใหม่นั้นๆ มีเพียงลูกค้าบางรายเท่านั้นที่เข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือนวัตกรรม ดังนั้น เมื่อพัฒนาวิธีแก้ปัญหาได้แล้ว บริษัทต้องพึ่งพาการตลาดเพื่อโน้มน้าวผู้บริโภคให้รู้ว่าคุณสามารถแก้ปัญหาของพวกเขาได้จริง ลองมุ่งเน้นไปที่การบอกว่าโปรดักต์หรือบริการของคุณจะทำให้ชีวิตของลูกค้าดีขึ้นไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง และมันน่าสนใจนะถ้าพวกเขาจะลองดู
ฉะนั้น SME รายไหนที่ต้องการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่าถามลูกค้าว่าจะทำอย่างไร แต่ให้พูดคุยเพื่อระบุว่าปัญหาใดที่เขาต้องการได้รับการแก้ไข จากนั้นค่อยๆ หาวิธีแก้ปัญหาในแบบที่ลูกค้าคาดไม่ถึง อย่าลืมว่าการทำให้ชีวิตของลูกค้าดีขึ้น นั่นล่ะคือ “นวัตกรรม”
ที่มา : Forbes
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี