ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ คอร์ปอเรชั่น (HDS) ธุรกิจในเครือของบริษัท ฮิตาชิ จำกัด (TSE: 6501) เผยการคาดการณ์ 5 แนวโน้มธุรกิจและไอทีของภาคพื้นเอเซียแปซิฟิค ใน Business and Technology Predictions for Asia Pacific in 2015
มร. Adrian De Luca ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด ว่า ในปี 2015 จะเป็นยุคสำคัญที่เทคโนโลยีสารสนเทศและธุรกิจต้องเชื่อมโยงเพื่อเป้าหมายเดียวกัน และถึงเวลาที่เทคโนโลยีสารสนเทศจะเปิดรับ แพลทฟอร์มที่สาม หรือ “the 3rd platform” คลื่นลูกใหม่ที่จะมีผลกระทบต่อการดำเนินงาน
อาทิ อุปกรณ์เคลื่อนที่และแอพพลิเคชั่นต่างๆ, บริการด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง, การวิเคราะห์ Big data และโซเชียลมีเดีย ซึ่งผู้บริหารระดับสูงด้านสารสนเทศจำต้องตอบสนองความจำเป็นเหล่านี้ พร้อมปรับตัวให้เป็นผู้ให้บริการทางธุรกิจมากกว่าที่จะเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นแต่โครงสร้างไอทีของศูนย์ข้อมูลเท่านั้น
ปัจจุบันมีตลาดใหม่เกิดอยู่ตลอดเวลา และความคาดหวังด้านการบริการของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ องค์กรธุรกิจที่ตกยุคจะหายไป เหลือไว้แต่ผู้ชนะสำหรับระบบเศรษฐกิจแห่งอนาคตที่พร้อมปรับตัวในทันที ทั้งนี้ 5 แนวโน้มหลัก อาทิ การสร้างเมืองอัจฉริยะ, Big Dataในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง, ไฮบริดคลาวด์, อุปกรณ์เคลื่อนที่เน้นด้านข้อมูล และการพัฒนากฎระเบียบข้อบังคับ ร่วมกับแรงขับเคลื่อนต่างๆด้านธุรกิจในภูมิภาค จะกำหนดอนาคตของเทคโนโลยีสารสนเทศในเอเชียแปซิฟิก ในปี 2015
1. แนวคิดเรื่องเมืองอัจฉริยะจะผลักดันให้มีการลงทุนอย่างมากใน Internet of Things
รัฐบาลประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก รวมถึงประเทศอย่างญี่ปุ่น จีน ศรีลังกา และเกาหลีใต้ กำลังริเริ่มโครงการเมืองอัจฉริยะเพื่อรองรับความท้าทายด้านการขยายตัวเมือง การจัดการพลังงงานและการใช้ทรัพยากร รวมถึงการเตรียมตัวสำหรับการเติบโตในอนาคต
แนวคิดในการสร้างชาติทั่วภูมิภาคครั้งนี้จะสร้างแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาโซลูชั่นด้านโครงสร้างอัจฉริยะเพื่อสังคมที่รวมเอาการวิเคราะห์ขั้นสูงเข้ากับ Internet of Things (แนวคิดที่เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์อัจฉริยะเหล่านี้ให้สื่อสารกันได้เองโดยไม่ต้องผ่านมนุษย์ในการสั่งการ เพื่อช่วยให้การทำงานสะดวกสบายขึ้น) หรือ การโต้ตอบระหว่างเครื่องจักร (M2M หรือ machine to machine)
ทั้งนี้ เมืองอัจฉริยะต้องอาศัยโครงสร้างด้านคอมพิวเตอร์เครือข่าย ระบบจัดเก็บ รวมถึงสถาปัตยกรรมด้านซอฟต์แวร์รูปแบบใหม่ เพื่อรองรับข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ทั้งในแง่ของ ปริมาณ (Volume) ความเร็ว (Velocity) และความหลากหลาย (Variety)
2. ภาคธุรกิจจะเพิ่มศักยภาพด้าน Big Data เพื่อเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขัน
Big Data ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับภาคธุรกิจที่มีภาวการณ์แข่งขันสูง อาทิ ธนาคารและธุรกิจด้านบริการการเงิน กำลังปรับใช้ระบบวิเคราะห์เชิงลึกกับข้อมูลในองค์กรเพื่อประเมินความเสี่ยงของผู้กู้ วิเคราะห์การสูญเสียลูกค้า ชี้โอกาสในการขายแบบเพิ่มยอดตามพฤติกรรมการใช้จ่าย โซลูชั่น Big Data ในอนาคตจำเป็นต้องอาศัยไม่เพียงแต่แพลตฟอร์มด้านโครงสร้างใหม่เพื่อจัดเก็บและจัดการปริมาณข้อมูลจำนวนมาก (Data Lakes) หากยังต้องรวมถึงความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างทันท่วงที ณ จุดเวลานั้นๆในแบบเรียลไทม์ ซึ่งการจะทำให้ได้เช่นนี้ต้องมีการประสานโครงสร้างขนาดใหญ่เข้ากับระบบการเรียนรู้ของเครื่องจักรและซอฟต์แวร์ด้านธุรกิจเพื่อให้การทำงานเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและเชื่อถือได้เพื่อการใช้ประโยชน์สูงสุด
ล่าสุดในการสำรวจที่ตีพิมพ์ใน Economist Intelligence Unit (EIU) เรื่อง “The Future for CIOs: Which Way Is Up?” ภายใต้การสนับสนุนจากบริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ เมื่อเร็วๆนี้ พบว่าร้อยละ 10 ขององค์กรในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิคได้ลงทุนในระบบการวิเคราะห์ข้อมูลในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 12 ในปีต่อมา
3. Hybrid Cloud จะเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ สำหรับการติดตั้งแอพพลิเคชั่นระดับองค์กร
จากการที่แพลตฟอร์มคลาวด์คอมพิวติ้งในรูปแบบต่างๆ ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง องค์กรต่างๆ จึงเริ่มปรับตัวในการปรับใช้แอพลิเคชั่นหลักในระบบคลาวด์ให้ผสานทั้งแบบ private และ public เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด การนำโซลูชั่นเพื่อการผสานแพลตฟอร์มทั้งคู่เข้าด้วยกันเพื่อสร้างระบบการใช้งานที่ราบรื่นจะช่วยให้องค์กรสามารถปรับลดต้นทุน และตอบสนองความจำเป็นด้านความเป็นส่วนตัวและกฎระเบียบต่างๆ
ทั้งนี้ ผู้บริหารระดับสูงด้านสารสนเทศที่ทันสมัยได้เริ่มย้ายแอพลิเคชั่นขององค์กร และจำเป็นต่อการปฏิบัติงานไปยังระบบ private cloud พร้อมทดสอบการลดปริมาณงานภายในชั่วคราว เช่นย้ายระบบสำคัญรองหรือระบบเว็บสำหรับลูกค้าไปไว้กับระบบ public cloud
แต่อย่างไรก็ดี ความง่ายในการใช้งานและประหยัดค่าใช้จ่ายทำให้เกิดการใช้งานอย่างไม่มีระเบียบ ทำให้ภาคธุรกิจเริ่มกังวลถึงการติดตามบริหารงานด้านทรัพยากรและการใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งระบบ Hybrid Cloud สามารถจัดการความกังวลเหล่านี้ได้ ด้วยการอำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกันของระบบ Public และ Private Cloud ซึ่งหมายถึงระบบการจัดการและควบคุมที่ดีกว่าเดิม
และรายงานล่าสุดโดย Economist Intelligence Unit (EIU) ดังกล่าว ได้ชี้ว่าร้อยละ 10 บริษัทต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกได้ลงทุนในคลาวด์คอมพิวติ้งแล้ว แต่ปริมาณการลงทุนยังกระจายตัวในระดับต่างๆ ทั่วภูมิภาคมากน้อยต่างกัน โดยสิงคโปร์มีการลงทุนด้านนี้มากที่สุดในปีที่แล้ว ร้อยละ 20 ในขณะที่อินโดนีเซียและไทยไม่มีการลงทุนด้านนี้มากนัก สำหรับปี 2015 ร้อยละ 13 บริษัทต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิก จะลงทุนในคลาวด์คอมพิวติ้งมากขึ้น
4. ความนิยมของอุปกรณ์เคลื่อนที่จะผลักดันโครงสร้างด้านเทคโนโลยีให้รองรับข้อมูลมากขึ้น
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายสารสนเทศขององค์กรและผู้ให้บริการด้านคลาวด์ต่างได้ลงทุนในเทคโนโลยีด้าน object storage เพื่อปกป้องและรักษาข้อมูลธุรกิจให้มีอายุยาวขึ้น โดยมีพื้นฐานสำคัญคือสามารถรองรับและบริหารผู้ใช้งานได้มากขึ้น การขยาย metadata เพื่อเชื่อมโยงกลุ่มข้อมูลอื่นๆ พร้อมลดปริมาณข้อมูลซ้ำซ้อนและบีบอัดข้อมูลเพื่อลดค่าใช้จ่าย และจากการที่ข้อมูลต้องเคลื่อนย้ายผ่านระบบคลาวด์หลายรูปแบบ ความสามารถต่างๆ ดังกล่าวจำต้องมีพร้อมมากกว่าแค่กำแพง 4 ด้านของดาต้าเซ็นเตอร์ องค์กรต้องหาทางในการสร้างระบบการเข้าถึงข้อมูลและแอพลิเคชั่นจากระยะไกลที่ชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการแบ่งปันข้อมูลผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ในขณะที่สามารถปกป้องข้อมูลสำคัญได้อย่างเต็มที่
5. ระเบียบใหม่เพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและป้องกันข้อมูลทำให้ธุรกิจต้องเพิ่มการลงทุนด้านนี้
รัฐบาลต่างๆ ทั่วเอเชียแปซิฟิก กำลังออกกฎระเบียบใหม่หรือปรับปรุงกฎระเบียบในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ต่างบังคับใช้หรือเพิ่มระดับกฎหมายด้านความเป็นส่วนตัว ซึ่งต้องอาศัยกฎระเบียบด้านความเป็นส่วนตัวและความลับของข้อมูล สำหรับองค์กรต่างๆ นับเป็นความท้าทายอย่างมากในการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของข้อมูลจากแพลตฟอร์มและช่องทางที่หลากหลาย ซึ่งธุรกิจในปัจจุบันต้องเพิ่มความระวังเป็นพิเศษในการปกป้องข้อมูลของลูกค้าในขณะที่รับมือกับการเติบโตอย่างมหาศาลของข้อมูลแบบ structured และ unstructured ภายในองค์กร
นอกจากการคาดการณ์สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ มร. Adrain แล้ว ทาง มร.Hu Yoshida ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยีของ HDS ได้เผยถึงแนวโน้มของ 10 เทคโนโลยีสารสนเทศระดับโลกไว้ที่นี่