Main Idea
- เป็นเพียงผู้ประกอบการรายเล็กๆ จะเอาอะไรไปสู้กับรายใหญ่ เพราะไม่ว่าจะเงินทุน คน หรือทรัพยากร ก็มีแต่จะเสียเปรียบเขา อยากมีแบรนด์ที่ใช่ อยากไปโตต่างประเทศกลายเป็นเรื่องยากของ SME เป็นฝันที่ไม่กล้าฝัน แต่ก็อยากมีวันนั้นเหมือนอย่างใครเขา
- ได้เวลาทำความรู้จักกับ “ทรัพย์สินทางปัญญา” อาวุธที่ใช่ของ SME ที่จะช่วยส่งเสริมธุรกิจได้ดีที่สุดในยุค New Normal ไม่จำเป็นต้องสู้ด้วยสิ่งที่เสียเปรียบ แต่ถึงเวลาสู้ด้วย “ทุนสมอง” สูตรเพิ่มแต้มต่อธุรกิจที่ SME ทำได้
ในอดีตเราเคยเชื่อว่า อุปสรรคของ SME คือ เรื่องเงินทุน กำลังคน และทรัพยากร ที่ทำให้เสียเปรียบธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ในปัจจุบันมีตัวอย่างมากมายให้เห็นว่า “ทุนสมอง” คือสิ่งที่ SME มีไม่แพ้ผู้ประกอบการใหญ่ยักษ์ และหลายครั้งที่สามารถพลิกกลับมาชนะได้ด้วยพลังของอาวุธที่ว่านี้
“วีระเวช อรธนาลัย” ผู้ก่อตั้ง บริษัท อินเทลเล็คชวล ดีไซน์ กรุ๊ป จำกัด (IDG) ที่ปรึกษาด้านการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม จะพาทุกคนมารู้จักอาวุธตัวใหม่ที่เขาย้ำว่า จะช่วยส่งเสริมธุรกิจได้ดีที่สุดในยุค New Normal อาวุธที่ว่านั้นชื่อ “ทรัพย์สินทางปัญญา”
ทุนทรัพย์มีน้อย ต้องสู้ด้วย “ทุนสมอง”
ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) หมายถึง ผลงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ เป็นสิทธิทางกฎหมายของเจ้าของสิทธิ มี 2 ประเภทหลักๆ คือ “ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม” เป็นความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับสินค้าอุตสาหกรรม แบ่งออกได้เป็น สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า การออกแบบอุตสาหกรรม ความลับทางการค้า และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และ “ลิขสิทธิ์” หมายถึง งานหรือความคิดสร้างสรรค์ในสาขาวรรณกรรม ศิลปกรรม ดนตรี งานภาพยนตร์ หรืองานด้านอื่นใดในแผนกวิทยาศาสตร์ รวมทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ งานฐานข้อมูล เป็นต้น
“ทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ในประเภทสินทรัพย์ไม่มีตัวตน (Intangible Assets) ซึ่งในบริษัทระดับโลกตอนนี้มีมูลค่าถึง 90 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้น ที่เหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์ จะมาจากพวกสินทรัพย์ที่มีตัวตน (Tangible Assets) ทั่วไป เช่น ที่ดิน เครื่องจักร โรงงาน อะไรพวกนี้ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ในช่วงที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจในอเมริกา ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ยุคนั้นหลายๆ บริษัทต้องมาปรับโมเดลธุรกิจกันเยอะมาก คดีความเรื่องสิทธิบัตรก็เยอะขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะคนที่ถือครองสิทธิบัตรเขามองว่า อยากจะบีบเอาทรัพยากรอะไรบางอย่างมาใช้ประโยชน์ให้ได้เต็มที่เพราะฉะนั้นถ้ามีใครละเมิดงานของเขาก็จะรีบดำเนินคดีทันที เพราะเขาถือว่า ตรงนี้เป็นแหล่งรายได้สำหรับเขา”
วีระเวช ยกตัวอย่าง พลังของทรัพย์สินทางปัญหา ที่ไม่ใช่แค่การคุ้มครองสิทธิ์ การฟ้องร้องดำเนินคดี หรือมีไว้ให้ชื่นใจว่าเป็นผลงานของเราเท่านั้น แต่คือการนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ธุรกิจ สามารถทำเงิน สร้างรายได้ และใช้เป็นอาวุธที่ทำให้หลายองค์กรเอาตัวรอดจากวิกฤตมาได้
ยิ่งวิกฤต จำนวนสิทธิบัตรยิ่งเพิ่มขึ้น
กูรูด้านทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมบอกเราอีกว่า ในเวลาที่เกิดวิกฤตมักจะมีจำนวนยื่นจดสิทธิบัตรต่างๆเพิ่มมากขึ้น เพราะคนเริ่มมองหาวิธีการใหม่ การสร้างสรรค์ใหม่ๆ เพื่อนำพาตัวเองออกจากวิกฤต
“ในเวลาที่เกิดวิกฤตมักพบว่า จำนวนยื่นจดสิทธิบัตรต่างๆ จะเพิ่มขึ้น เพราะพอคนต้องการหลุดออกจากวิกฤตเขาก็จะมาคิดหาวิธีใหม่ๆ คิดหานวัตกรรมใหม่ๆ เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ก็เริ่มเห็นชัดเจนว่าคนเริ่มมีการสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ จำนวนสิทธิบัตรที่มีการยื่นจดก็ไม่ได้ลดน้อยลงกว่าเดิม แสดงว่า ในช่วงวิกฤตคนก็ต้องยิ่งให้ความสำคัญเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น เพราะเขามองว่า แทนที่จะต้องไปลงทุนในเรื่องอะไรที่ทำได้ยาก เช่น ไปสร้างอาคารใหม่ หรือลงทุนเครื่องจักรใหม่ การลงทุนในสินทรัพย์ไม่มีตัวตน หรือแล้วจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญามันสำคัญกว่า เพราะนอกเหนือจากการที่เราจะได้สิทธิเพียงผู้เดียว สามารถป้องกันไม่ให้ผู้อื่นเข้ามาแข่งขันในตลาดได้แล้ว เรายังสามารถที่จะหาวิธีใช้ประโยชน์จากมันได้อีกด้วย เพราะบางสิ่งบางอย่างที่เราถือครองสิทธิอยู่ เราอาจไม่ได้อยากจะผลิตขายเอง ก็สามารถขายไลเซนส์ (License) ให้คนอื่นไปใช้ประโยชน์จากเราได้” เขาสะท้อนโอกาส
ก่อนยกตัวอย่าง ธุรกิจแฟรนไชส์ ที่เป็นการนำเอาทรัพย์สินทางปัญญาหลายๆ ประเภทมารวมกัน แล้วก็ขายไลเซนส์ทั้งระบบ เพื่อให้แฟรนไชซีสามารถนำเอาไปใช้ต่อได้ ซึ่งผู้ที่อยากทำธุรกิจลักษณะนี้ทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องเข้มแข็ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับแฟรนไชซีที่จะมาลงทุนกับเรานั่นเอง
หลังวิกฤตโควิด ทรัพย์สินทางปัญญาจะมีบทบาทมากขึ้น
วีระเวช บอกเราว่า เขาเชื่อว่า ในยุคหลังวิกฤตโควิด-19 เรื่องของการนำสินทรัพย์ไม่มีตัวตนมาใช้ประโยชน์นั้นจะมีบทบาทมากขึ้น และเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่าการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีตัวตนเพียงอย่างเดียว
“ในอดีตเราอาจจะคุ้นเคยกับการลงทุนในโรงงาน ต้องซื้อเครื่องจักร ต้องมีการผลิตโน่นนี่นั่นเอง แต่เดี๋ยวนี้จะเห็นว่าหลายๆ บริษัท ไม่จำเป็นต้องมีไลน์ผลิตของตัวเองด้วยซ้ำ อย่าง Apple ก็มีเอาท์ซอร์สการผลิตทั้งหมดออกไป แต่สิ่งที่เขามีก็คือทรัพย์สินทางปัญญา เขาถือครองแบรนด์ ถือครอง Design iPhone ที่ออกมาทุกรุ่น มีสิทธิบัตรคุ้มครองไว้หมด ฉะนั้นสิ่งที่เป็นมูลค่าสำหรับ Apple จริงๆ ก็คือทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ใช่เพราะเขามีตึก หรือมีทรัพยากรที่จับต้องได้มหาศาล แต่เป็นเพราะเขามีทรัพย์สินทางปัญญา แล้วสามารถเอาทรัพย์สินทางปัญญานั้นมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่” เขาย้ำให้เห็นภาพ
ในวันนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่วิถีปกติใหม่ หรือที่ใครๆ เรียกว่า New Normal วีระเวช บอกเราว่า ทรัพย์สินทางปัญญา นี่แหล่ะคืออาวุธที่ดีที่สุดของ SME ในวันนี้
“SME ต้องไม่มองข้ามเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ผมมองว่าสิ่งที่จะช่วยส่งเสริมเราได้ดีที่สุดในยุค New Normal ก็คือทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ใช่เรื่องของทรัพย์สินประเภทอื่นอีกต่อไป แต่คือทุนจากสมองของเราทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราคิดค้นขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ใหม่ การสร้างสรรค์แบบใหม่ หรือว่างานประดิษฐ์แบบใหม่ เราต้องพยายามหาวิธีในการคุ้มครองมันให้ได้เต็มประสิทธิภาพ ถ้าคุณไม่สามารถที่จะคุ้มครองได้เต็มที่ พอลอนซ์สินค้าออกไปในตลาด แล้วมีคนก๊อปปี้ไปคุณก็จะไม่สามารถทำอะไรได้เลย ทำให้ธุรกิจอาจจะไปไม่รอด หรือยอดขายต่ำมากๆ เพราะส่วนแบ่งการตลาดที่หายไปเยอะ ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือปกป้องให้ดี โดยเริ่มจากไปหาก่อนว่า สินทรัพย์ไม่มีตัวตนภายในองค์กรของเรามีอะไรบ้าง แล้วปกป้องสิทธิมันให้เต็มประสิทธิภาพ จากนั้นก็วางกลยุทธ์การใช้ประโยชน์ โดยเราไม่จำเป็นต้องแค่ผลิตขายในประเทศอย่างเดียว แต่อาจจะถ้ามีพาร์ทเนอร์เราในต่างประเทศ เราก็สามารถที่จะขายไลเซนส์ให้เขาไปใช้ประโยชน์ได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องผลิตและขายเองแล้ว ซึ่งนี่เป็นโมเดลที่ดิสนีย์ใช้กันมาเป็น 50-60 ปีแล้ว ใช้วิธีไลเซนส์คาแร็กเตอร์การ์ตูนออกไป แล้วเก็บค่ารอยัลตี้ (Royalty Fees) อย่างเดียว แทบจะไม่ต้องผลิตขายเอง และแทบจะไม่ต้องมีต้นทุนอะไรเลย”
วีระเวช บอกอีกว่า ทรัพย์สินทางปัญญาไม่ใช่เป็นแค่เอกสารที่ใช้ในการป้องกันสิ่งที่เราคิดมาเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้ธุรกิจสามารถที่หารายได้ได้หลายช่องทางมากขึ้น และยิ่งการบุกตลาดต่างประเทศ ก็ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างยิ่งยวด ถ้าวันนี้ SME สามารถเป็นเจ้าของไลเซนส์ได้ ขายทรัพย์สินทางปัญญาได้ ก็จะเป็นรายได้มหาศาล แทนที่จะมองเป็นตัวสินค้าเพียงอย่างเดียว
“มองว่าข้อได้เปรียบของประเทศไทย คือเรามีทรัพยากรที่เป็นพวกธรรมชาติเยอะมาก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ต่างจากสิงคโปร์ที่เขาแทบไม่มีทรัพยากรอะไรเลย เป็นแค่เกาะเล็กๆ แต่สิ่งที่เขามีคือ การให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เขามองว่า ทุกคนต้องสร้างทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นมาแล้วเอาไปใช้ประโยชน์ในต่างประเทศ เนื่องจากเขาไม่มีทรัพยากรอย่างอื่น แต่เมืองไทยเราทรัพยากรเยอะมาก ถ้าสามารถนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มได้ บวกความโดดเด่นในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ และเรื่องของโลเคชั่นที่เป็นโลจิสติกส์ฮับในอาเซียน ใช้จุดแข็งที่เรามีอยู่แล้ว เพียงเริ่มใส่ใจในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้นอีกนิด ก็เชื่อว่าจะทำให้ SME ของเราอาจก้าวกระโดดแซงหน้าประเทศในอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ก็ได้” เขาบอกในตอนท้าย
ด้วยอาวุธใหม่ที่ไม่ใช่แค่เงินทุน กำลังคน หรือทรัพยากรที่ SME จะเสียเปรียบใคร แต่เป็นเรื่อง “ทุนสมอง” ที่ผู้ประกอบการรายเล็กก็สามารถต่อกรกับรายใหญ่ได้ และนี่แหล่ะจะเป็นสูตรเพิ่มแต้มต่อธุรกิจในยุค New Normal ที่ SME ทำได้ และจะแข็งแกร่งอีกมากในโลกหลังวิกฤตโควิด-19
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี