เปลี่ยนโอท็อปให้เป็นตัวท็อป! ด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ

Text : พิมพ์ใจ พิมพิลา
Photo : Sir.Nim 




 
Main idea

 
  • ผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือสินค้า OTOP ในประเทศไทยถือว่ามีความหลากหลายตามวัตถุดิบของแต่ละชุมชนที่สะท้อนวิถีชีวิตหรือเรื่องราวของคนในชุมชนได้ในบางส่วน ซึ่งในปัจจุบันอาจไม่เพียงพอเพราะบางครั้งผลิตภัณฑ์บางอย่างก็ไม่สามารถอธิบายความเป็นมาให้ชัดเจนดั่งใจหวัง 
 
  • อีกทั้งสินค้าบางอย่างก็ดูธรรมดาเกินกว่าจะนำเสนอให้ออกมาน่าสนใจเพราะในตอนนี้ผู้บริโภคต่างก็ต้องการสินค้าที่ใช้ได้มากกว่าหนึ่งอย่าง 
 
  • ดังนั้นผู้ประกอบจึงต้องเพิ่มนวัตกรรมเข้ามาใส่ในตัวสินค้าพร้อมทั้งนำเทคโนโลยีมาช่วยในการสื่อสารเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ ทันสมัยและสามารถบ่งบอกเรื่องราวความเป็นมาของสินค้าชิ้นนั้นได้อย่างชัดเจนครบถ้วน อีกทั้งยังสามารถเป็นช่องทางการซื้อขายได้อีกด้วย

__________________________________________________________________________________________
 

     หลายๆ คนคงคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์จากชุมชนเป็นอย่างดีที่ไม่เพียงมีความหลากหลายและความสร้างสรรค์ หากแต่มาพร้อมกับงานฝีมือที่มีคุณภาพของคนในชุมชนเล็กๆ ไปจนถึงชุนชนใหญ่ๆ ซึ่งความตื่นตาตื่นใจได้อาจจะกลายเป็นเรื่องในอดีตเสียแล้วสำหรับคนในปัจจุบัน


     ดังนั้นเราจึงอยากนำเสนอผลิตภัณฑ์จากชุมชนสุดเจ๋งที่มีการเพิ่มนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใส่เข้าไปในตัวสินค้าได้อย่างน่าสนใจ เพื่อเป็นไอเดียให้ผู้ประกอบการได้นำมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ของตนเองได้อย่างสร้างสรรค์


 
  • ของที่ระลึกก็ดู AR ได้

     สินค้าที่ระลึกที่ใส่อัตลักษณ์ของชุมชนพื้นถิ่นผ่านดีไซน์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร สร้างความเจ๋งได้โดยสามารถเล่น AR 3D และสามารถถ่ายทอด Story ของชุมชนได้ด้วย 


     อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับ Google MAP ที่จะนำพานักท่องเที่ยวให้สามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักวิถีวัฒนธรรมชุมชนพื้นถิ่นไทยและสามารถทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นรู้จักด้วย โดยการใช้ระบบ AR และ Web Block จะเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งระบบนี้จะทำให้ชุมชนสามารถเก็บข้อมูล วัดผล และนำสถิตินั้นมาสร้างการรับรู้ในมิติใหม่ และนำกลับมาทำตลาดใหม่ ช่วยให้เกิดการซื้อซ้ำหรือกลับมาเที่ยวซ้ำไปเรื่อยๆ 


 
  • ข้าวนพเก้า ข้าวติด QR Code 

     ข้าวนพเก้าเป็นผลิตภัณฑ์จากข้าวกล้อง 5 สายพันธุ์จากเมืองเชียงใหม่ คือ 1. กล้องหอมมะลิ 2. กล้องลืมผัว-ม้ง 3. กล้องบือบอ-ปกากะญอ 4. กล้องเล่าทูหยา-ไทยใหญ่ 5. กล้องเงาะเลอทิญ-ลัวะ โดยก่อตั้งจากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 4 เพื่อส่งเสริมให้ผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์มีคุณภาพและสามารถเพิ่มมูลค่าให้เกษตรกรกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 3 อย่าง คือ 1. ข้าวนพเก้า 999 ข้าว 9 พลัง 3 สูตร มีทั้งสูตรหยิน สูตรหยาง และสูตรหยินหยาง 2. โจ๊กนพเก้า  (ทั้ง 3 สูตร) 3. นพเก้ามธุปายาส โดยผลิตภัณฑ์นพเก้าได้มีการทำเทคโนโลยีมาใช้อย่าง QR Code ติดที่กล่องบรรจุภัณฑ์ สื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ เว็บไซต์ เพจเฟซบุ๊ก ไลน์กลุ่มเพื่อให้ผู้สนใจสามารถหาข้อมูล เรื่องราวและใช้ในการติดต่อซื้อสินค้าได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น


 
  • เบาะยางพาราที่นวดตัวเองด้วยน้ำหนักตัวเอง 

     นวดตัวเองด้วยน้ำหนักตัวเอง เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เริ่มจากผลิตภัณฑ์โอท็อปของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเย็บผ้าเครื่องนอนยางพาราเขาคีริส ด้วยการผสานภูมิปัญญาสร้างสรรค์กับนวัตกรรมโครงสร้างยางพาราแบบแยกชิ้นที่เป็นหลักการเดียวกับเตียงตะปูโยคี โดยเปลี่ยนมาเป็น โยคีดิจิตอล หรือ Healthy Community ที่จะช่วยปรับสรีระของผู้ใช้ให้ห่างไกลจากโรคออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) เนื่องจากการทำงานของเบาะยางพาราจะเป็นการกระจายน้ำหนักทั่วผืนที่สามารถลดแรงกดทับได้จริง ซึ่งสันนูนจากการสานจะเปรียบเสมือนปุ่มนวด กด แล้วต้านกลับเหมือนนวดตัวเองด้วยน้ำหนักของตัวเองนั้นเอง


 
  • กล้วยทรงเครื่องแบรนด์ NAWITY ส่องวิถีด้วย QR Code

     กล้วยเส้นทรงเครื่องเป็นการแปรรูปกล้วยน้ำว้าของชุมชนบ้านกล้วยที่มีรูปลักษณ์และรสชาติสูตรเฉพาะ ที่อยู่ภายใต้แบรนด์ NAWITY โดยมีความหมายว่าผู้หญิงที่มีความตั้งใจ และเนื่องจากกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวและชื่นชอบการเล่นโซเชียล จึงทำให้มีการเพิ่มช่องการตลาดด้วยการใส่ QR Code บนบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเข้าไปดูเรื่องราวหรือวิถีชีวิตตั้งแต่การปลูกกล้วยของคนในชุมชนไปถึงกระบวนการผลิตกล้วยเส้นที่กว่าจะได้มาเป็นกล้วยเส้นแสนอร่อย อีกทั้งยังสามารถสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านการสแกน QR Code รวมไปถึงใครที่สนใจอยากปลูกกล้วยก็สามารถสั่งซื้อพันธุ์หน่อกล้วยนี้ได้อีกด้วย
 


 
  • กระจูดติด GPS กระเป๋าอยู่ไหนก็เจอ! 
วนิดากระจูดติด GPS จากจังหวัดสงขลา เป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่มีการเพิ่มมูลค่าด้วยการนำเอาหัตกรรมของชุมชนมาสร้างความน่าสนใจด้วยการใช้เทคโนโลยีอย่าง GPS Tracking ในการค้นหาตำแหน่งที่อยู่ที่ระบุกระเป๋าไว้ได้ โดยจะมีสัญญาณเตือนหากกระเป๋านั้นอยู่ห่างจากเจ้าของเกิน 10 เมตร แน่นอนสิ่งที่ได้มาไม่ได้มีเพียงแค่คุณสมบัติของของเส้นใยกระจูดคุณภาพที่ต่างจากพืชชนิดอื่นหากแต่ยังได้ผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถสร้างความมั่นใจและลดความเสี่ยงในการสูญหายได้อีกด้วย ซึ่งใครที่มีนิสัยขี้หลงขี้ลืมหรือชอบหาของไม่เจอจนบางครั้งก็ต้องค้นบ้านทั้งหลังเพื่อหาของสิ่งเดียว วนิดากระจูดนี้ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจไม่แพ้กันอย่างแน่นอน
 

     จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์ในชุมชนก็สามารถพัฒนาได้ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี และสามารถพัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ หากกล้าที่จะลอง ซึ่งเราเชื่อว่าคุณจะพบช่องทางใหม่ๆ ให้ได้ลองใช้กันอีกมากมาย 





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: TECH

“จุลินทรีย์คึกคัก” นวัตกรรมกำจัดสารเคมีตกค้างบนดิน ตัวช่วยเกษตรกรประหยัดทุน ได้ธุรกิจยั่งยืน

จุลินทรีย์คึกคัก ตัวช่วยแก้ปัญหาสารเคมีตกค้าง สร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร ด้วยฝีมือคนไทยจากบริษัท ไบโอม จำกัด บริษัทที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงตอบโจทย์การทำธุรกิจแบบยั่งยืน

เทคนิคขายของออนไลน์อย่างไร ให้สต็อกไม่จม ออร์เดอร์ไม่หลุด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วง Double day หรือเทศกาลต่างๆ เป็นโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้ตักตวงออร์เดอร์มากกว่าช่วงเวลาปกติ แต่จะทำอย่างไรให้โอกาสเหล่านี้ไม่กลายเป็นวิกฤตสร้างปัญหาทางธุรกิจ เช่น สต็อกจม ส่งของไม่ทัน ทำให้สูญเสียลูกค้าในที่สุด

รู้จักเทรนด์ Hyper Automation ช่วย SME กำจัดงานซ้ำๆ น่าเบื่อให้หมดจากองค์กร

Automation หรือ "ระบบอัตโนมัติ" ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่อนาคตจะพัฒนาไปสู่ Hyper automation เพื่อช่วยกำจัดความยุ่งยากของการทำงานที่ซ้ำซากน่าเบื่อ และก่อนจะสายเกินไป เพื่อให้ธุรกิจตามทันเทคโนโลยี ลองมาทำความรู้จักกับเทรนด์นี้พร้อมกัน