Main Idea
- “สวนทุเรียนลุงแกละ” เกิดขึ้นในปี 2509 ตั้งแต่รุ่นปู่ ส่งต่อสู่รุ่นลูก และหลาน จากพื้นที่ 20 กว่าไร่ ขยับเป็น 60 กว่าไร่
- ในวันที่ทายาทรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อ เขาใช้เทคโนโลยีมาช่วย ตั้งแต่ การวางแผนเพาะปลูก แปรรูป ประชาสัมพันธ์ ไล่ไปจนทำการตลาด เพื่อให้ธุรกิจก้าวไกล และตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที
เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาหยิบยื่นทางเลือกที่มากขึ้นให้กับผู้ประกอบการไทย จึงมี SME วิสัยทัศน์ไกล คิดนำเครื่องมือเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในโลกธุรกิจ แม้แต่กับสวนทุเรียน ใครจะคิดว่าวันนี้สามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการได้ครบตั้งแต่ การวางแผนเพาะปลูก แปรรูป ประชาสัมพันธ์ ไล่ไปจนทำการตลาด เพื่อให้ธุรกิจก้าวไกล และตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที
นิธิภัทร์ ทองอ่อน คือหนึ่งในเกษตรกรรุ่นใหม่ที่หันมาให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการจัดการ “สวนทุเรียนลุงแกละ” สวนทุเรียนของครอบครัวที่ทำมาตั้งแต่ปี 2509 ในรุ่นปู่ ส่งต่อสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน เริ่มจากพื้นที่กว่า 20 ไร่ ขยับมาเป็นกว่า 60 ไร่ในปัจจุบัน
ทายาทหนุ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ตั้งแต่วางแผนการเพาะปลูก ไปจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว และทำการตลาด จนก่อเกิดมูลค่าเพิ่มที่เห็นภาพชัดในวันนี้ เขาเล่าให้เราฟังว่า อินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญในการทำงานของเขาในวันนี้
“ผมมองว่าวันนี้โลกเปลี่ยนไป อินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญกับโลกธุรกิจมากขึ้น และด้วยเป้าหมายการเข้ามาทำสวนทุเรียนของผม คือ ผมต้องการทำให้ทุเรียนออกนอกฤดูกาลให้ได้ ซึ่งปัจจัยสำคัญ ได้แก่ สภาพอากาศ แต่เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ จึงเริ่มศึกษาแอปพลิเคชั่นพยากรณ์อากาศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการพยากรณ์ภาพรวมของจังหวัด” เขาบอก
นั่นเองที่ทำให้ได้รู้จักกับ “ฟาร์มแม่นยำ” แอปพลิเคชั่นที่เกิดจากความร่วมมือพัฒนาโดย dtac ร่วมกับ Ricult และรักบ้านเกิด ที่อยู่ในแอปพลิเคชั่น Farmer Info เครื่องมือช่วยให้เกษตรกรทำเกษตรแบบแม่นยำ โดยเครื่องมือดังกล่าวถูกออกแบบให้พยากรณ์อากาศแบบเจาะจงพื้นที่เพาะปลูกล่วงหน้า 7 วัน สามารถคาดการณ์น้ำฝนล่วงหน้าได้ถึง 9 เดือน และยังบอกได้ว่าฝนจะตกเวลาไหนวันไหนในจุดที่ต้องการบริหารจัดการ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถวางแผนการปลูก ใส่ปุ๋ย ใส่ฮอร์โมนโดยไม่สูญเปล่า
“เมื่อก่อนการทำเกษตรจะใส่ปุ๋ยให้ฮอร์โมนไปตามเวลาที่กำหนดเอง บางทีใส่ไปแล้ว ฝนตก ปุ๋ยยาละลายหายไปหมด พืชไม่ได้รับ แต่ต้นทุนตรงนี้ต้องเสียไปเป็นหมื่นบาท แต่ตัวแอปฯ ฟาร์มแม่นยำ ทำให้ต้นทุนและแรงงานไม่เสียเปล่า ซึ่งเมื่อรู้สภาพอากาศทำให้เราสามารถจัดการผลผลิตนอกฤดูได้แม่นยำมากขึ้น”
ระบบออนไลน์นำไปสู่การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย โดยแต่เดิมทุเรียนจะถูกขายส่งในราคาที่พ่อค้าคนกลางกำหนด ทั้งๆ ที่เกษตรกรหลายรายสามารถบริหารจัดการให้ผลผลิตมีประสิทธิภาพระดับพรีเมี่ยม ฉะนั้นการขายผ่านโลกออนไลน์โดยตัวเกษตรกรเองจึงเริ่มขึ้น และเป็นเครื่องมือลดอำนาจพ่อค้าคนกลางในยุคนี้
“เบื้องต้นการขายออนไลน์มาจากความบังเอิญที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน โดยเพื่อนผมสั่งซื้อทุเรียนแล้วให้ส่งไปจังหวัดเชียงราย จากนั้นเขาโพสต์รูปทุเรียนบนเฟซบุ๊กส่วนตัวเขา เกิดการมองเห็น และเริ่มมียอดสั่งซื้อเข้ามา ในขณะที่ตัวผมเปิดเฟซบุ๊กอยู่แล้ว พอเห็นช่องทางตรงนี้ จึงมีการอัพเดทข้อมูลและภาพอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น ประจวบกับระบบขนส่งในปัจจุบันก็เอื้อด้วย จึงช่วยเราทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น” เขาบอก
กลยุทธ์การตลาดเกิดขึ้นบนช่องทางขายออนไลน์ โดยปัจจุบันสวนทุเรียนลุงแกละเปิดให้ผู้ซื้อจองทุเรียนตั้งแต่ผลขนาดเล็ก โดยจะติดชื่อและรูปลูกค้าไว้คู่กับผลทุเรียนที่ระบุเลขประจำผลทุเรียนนั้นๆ เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ จากนั้นอัพเดทข้อมูลและภาพส่งให้ลูกค้าเห็นต่อเนื่อง
จวบจนผลทุเรียนสามารถเก็บเกี่ยวได้ก็จะทำการแจ้งให้ลูกค้าทราบ ท่านใดสะดวกเดินทางมาตัดผลสดด้วยตนเอง ทางสวนก็ยินดีต้อนรับ แต่หากไม่สะดวกพวกเขาก็จะจัดส่งให้พร้อมแนบคู่มือบ่งบอกข้อมูลทั้งวันเวลาที่จะผ่าทุเรียนออกมาลิ้มรส วิธีการดูผล สี และเสียงเคาะเมื่อผลสุกพร้อมรับประทาน เป็นต้น สำคัญที่สุดคือการรับประกันว่าทุเรียนทุกผลที่ส่งตรงมาจากสวนทุเรียนลุงแกละ ลูกค้าต้องได้รับความอร่อยทุกลูก
วิธีการเช่นนี้ส่งผลให้ทุเรียนพรีเมี่ยมที่ส่งถึงมือลูกค้ามีราคาต่อกิโลกรัมสูงถึง 200 บาท ขณะที่ในปีที่ผ่านมาสวนทุเรียนลุงแกละยังได้เข้าร่วมขายผ่านแอปพลิเคชั่น ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง ซึ่งนอกจากสินค้าจะขายได้ ยังเป็นช่องทางที่ทำให้ลูกค้ารู้จักพวกเขามากขึ้นด้วย
วันนี้การขายผ่านช่องทางออนไลน์มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นราว 500,000 บาท และยังเป็นช่องทางที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ถามถึงก้าวต่อไป ทายาทหนุ่มบอกเราว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า เขาวางแผนจะเปิดคาเฟ่ทุเรียนในสวนทุเรียนของตัวเอง โดยชูจุดขายเมนูหวานคาวจากทุเรียน เพื่อให้ผู้มาเยือนได้เรียนรู้วิถีชีวิตและบริการที่พัก ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้จำเป็นต้องพึ่งพาโซเชียลมีเดีย และการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต พระเอกคนสำคัญของพวกเขาเช่นเดียวกัน
Did you know
รู้จักสวนทุเรียนลุงแกละ
- สวนทุเรียนลุงแกละเกิดขึ้นในปี 2509 ตั้งแต่รุ่นคุณปู่ ส่งต่อสู่รุ่นลูก และหลาน จากพื้นที่ 20 กว่าไร่ ขยับเป็น 60 กว่าไร่
- สายพันธุ์ทุเรียนที่ปลูก อาทิ หมอนทอง ก้านยาว ชะนี พวงมณี กบสุวรรณ กบชายน้ำ
- การทำสวนรูปแบบเดิมใช้แรงงานคน แต่เมื่อถึงรุ่นหลาน ได้นำเครื่องจักร รถฉีดพ่นยา รถกระเช้าตัดแต่งกิ่งและเก็บเกี่ยวผลผลิต รถตัดหญ้าเข้ามาแทนที่ ลดค่าใช้จ่ายในส่วนของแรงงาน (แรงงานเริ่มหายากขึ้น) เวลา ทำให้ผลผลิตเกิดประสิทธิภาพ
- ความฝันของคุณนิธิภัทร์ คือได้ทำงานในห้องแอร์ แต่งตัวดูดี และไม่สนใจอาชีพทำสวนเพราะต้องเหนื่อย ตากแดด ลำบาก แต่พอได้ทำงานทั้งสองอย่าง จึงรู้ว่าอาชีพทำสวนคืออาชีพที่เหนื่อยแต่มีความสุข
- หลังจากบวช 1 พรรษา ก็เข้ามาสานต่อกิจการทำสวนทุเรียนเต็มตัว
- ปีที่ผ่านมาสวนทุเรียนลุงแกละเคยเข้าร่วมขายผ่านแอปพลิเคชั่นทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง นอกจากสินค้าจะขายได้ดีแล้วยังเป็นช่องทางที่ทำให้ลูกค้ารู้จักมากขึ้น
- ต่อยอดนำสารสกัดจากทุเรียนไปผลิตเป็นเครื่องสำอาง (ร่วมกับนักศึกษาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต) ปัจจุบันวางจำหน่ายแล้ว
- สวนทุเรียนลุงแกละ ตั้งอยู่เลขที่ 117 หมู่ 6 ตำบลวังจันทร์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เบอร์โทร 063 251 6563 เพจ fb:สวนทุเรียนลุงแกละ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี