Main Idea
- รถยนต์ไฟฟ้าจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของไทย ซึ่งจะส่งผลกดดันต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนเกี่ยวกับเครื่องยนต์ ผู้ประกอบการไทยต้องหันมาปรับแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาธุรกิจเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
- ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของค่ายรถญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นต้องปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานของค่ายรถโดยใช้แพลตฟอร์มร่วมเพื่อรับมือ ส่งผลต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในไทยซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทานดังกล่าวในทางอ้อมด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมรถยนต์โลก โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านจากยุคที่รถยนต์ใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายในเพียงอย่างเดียว (Internal Combustion Engine: ICE) ไปสู่ยุคที่รถยนต์ใช้ระบบขับเคลื่อนผสมผสานระหว่างเครื่องยนต์ร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าทั้งในรูปแบบไม่เสียบปลั๊ก (Hybrid Electric Vehicle: HEV) และแบบเสียบปลั๊ก (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) จนถึงการเข้ามาของรถยนต์ใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวโดยรับพลังงานจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) ซึ่งการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมรถยนต์ในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงความต้องการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ ทำให้ต่างต้องหันมาปรับแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาธุรกิจเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดังกล่าวมากขึ้น
ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้าจะได้เห็นทิศทางการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์มากขึ้น โดยเฉพาะของค่ายรถญี่ปุ่นที่จะนำกลยุทธ์การกระจายห่วงโซ่อุปทานในแนวนอน (Horizontal Specialization) มาใช้แทนที่กลยุทธ์การรวมห่วงโซ่อุปทานในแนวดิ่ง (Vertical Integration) หรือที่ในการทำธุรกิจแบบญี่ปุ่นจะเรียกกันว่า Keiretsu ซึ่งเป็นแนวทางที่ค่ายรถญี่ปุ่นส่วนใหญ่ใช้กันในการบริหารจัดการธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของตนมาอย่างยาวนานต่อเนื่องตลอดหลายปี โดยการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานดังกล่าวของค่ายรถยนต์ ผนวกกับทิศทางตลาดรถยนต์ในประเทศของไทยเองก็เดินตามกระแสโลกสู่การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในประเทศด้วย ก็ย่อมส่งผลต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในไทย โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ อย่างไม่อาจเลี่ยง เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่สำคัญของค่ายรถญี่ปุ่น และหลายบริษัทที่อยู่ในกลุ่ม Keiretsu ก็มีการดำเนินธุรกิจในไทยร่วมกับผู้ผลิตชิ้นส่วนใน Tier ต่างๆ ด้วย
- การเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลกส่งผลต่อการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานค่ายรถญี่ปุ่น
จากสัดส่วนรถยนต์ BEV ที่มีแต่จะขยายตัวขึ้นเป็นปัจจัยเร่งให้การลงทุนพัฒนาชิ้นส่วนรถยนต์จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิมเพื่อการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ค่ายรถยนต์ต่างๆ โดยเฉพาะค่ายรถญี่ปุ่น หากจะยังใช้กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่ทำมาอย่างยาวนานด้วยการรวมห่วงโซ่อุปทานในแนวดิ่ง แบบ Keiretsu ต่อไป ก็อาจจะไม่สามารถคงความสามารถในการแข่งขันได้ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ เนื่องจาก Keiretsu มีจุดอ่อนที่สำคัญ คือ ความล่าช้าของการพัฒนาเทคโนโลยีและต้นทุนที่สูง ต่างกับค่ายรถยุโรปที่ใช้กลยุทธ์การกระจายห่วงโซ่อุปทาน ทำให้การพัฒนารถยนต์ BEV รุดหน้าไปได้เร็วกว่าในปัจจุบัน
จากการตระหนักถึงจุดอ่อนดังกล่าว ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก เป็นเหตุให้ค่ายรถญี่ปุ่นต้องปรับยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจอย่างเร่งด่วน นำมาสู่การใช้กลยุทธ์การกระจายห่วงโซ่อุปทานในแนวนอนในกลุ่มพันธมิตรค่ายรถญี่ปุ่นและผู้ผลิตชิ้นส่วน Tier-1 ที่จับมือกันเพื่อพัฒนาและใช้แพลทฟอร์มร่วม ทำให้เกิดการแชร์กันได้ในส่วนของชิ้นส่วนซึ่งมีมาตรฐานร่วมกัน และลดความจำเป็นของแต่ละค่ายในการลงทุนผลิตชิ้นส่วนที่เริ่มเข้าสู่ช่วงขาลง เช่น ชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ เป็นต้น ซึ่งช่วยให้เกิดการประหยัดเชิงขนาดมากขึ้นในการผลิต รวมถึงลดต้นทุนการวิจัยและพัฒนา ขณะเดียวกันก็ได้ประโยชน์จากการอาศัยความชำนาญของแต่ละบริษัทมาช่วยพัฒนาตลาดใหม่ๆ ของแต่ละค่ายรถ เช่น รถยนต์ ICE หรือรถยนต์ไฟฟ้ารูปแบบใหม่ๆ ที่ค่ายรถอาจไม่เคยมีความถนัดมาก่อน
- ชิ้นส่วนไทยได้รับผลกระทบจากการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าไทยและการปรับใช้แพลทฟอร์มร่วม
จากการที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของค่ายรถญี่ปุ่น ซึ่งทิศทางดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์ (ทั้งระบบส่งกำลังและระบบไฟฟ้า) อย่างไม่อาจเลี่ยง ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อค่ายรถญี่ปุ่นต้องปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานของค่ายรถโดยใช้แพลทฟอร์มร่วมเพื่อรับมือ ย่อมจะส่งผลต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในไทยซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทานดังกล่าวในทางอ้อมด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยในช่วง 10 ปีแรกนี้จะยังไม่มาก เนื่องจากเป็นช่วงของการเริ่มเข้าสู่ตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งต้องการระยะเวลาในการปรับตัวของค่ายรถ การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค รวมถึงการสร้างการรับรู้ในหมู่ผู้บริโภค ทำให้รถยนต์ที่มีเครื่องยนต์เป็นส่วนประกอบอย่างรถยนต์ ICE รถยนต์ HEV และรถยนต์ PHEV ยังเป็นประเภทรถยนต์ที่ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นส่วนใหญ่อยู่ถึงกว่า 95 เปอร์เซ็นต์
แต่เมื่อถึงปีที่ 20 นับจากนี้ ซึ่งรถยนต์ BEV จะเริ่มเข้ามามีบทบาทยิ่งขึ้นโดยมีส่วนแบ่งถึงกว่า 1 ใน 5 ของยอดขายรถยนต์รวมในประเทศของไทย และในขณะเดียวกันการเติบโตของตลาดรถยนต์ BEV โลกที่เพิ่มขึ้นมากแล้วนั้นในช่วงเวลาดังกล่าว ก็ทำให้การผลิตรถยนต์ BEV เพื่อการส่งออกของไทยจำต้องเร่งตัวมากขึ้นด้วย ซึ่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยในช่วงปีที่ 10 ถึง 20 นี้จะค่อยๆ เห็นชัดเจนขึ้นตามลำดับ
ทั้งนี้ หากมองถึงผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด คือ ชิ้นส่วนเกี่ยวเนื่องกับเครื่องยนต์ ทั้งกลุ่มระบบส่งกำลังและระบบไฟฟ้าแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นและการปรับตัวต่างๆจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามระยะเวลา ดังนี้
- ในระยะ 10 ปีแรก (ปี 2562 ถึง 2571)
รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนยังครองตลาดเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะเมื่อค่ายรถต่างก็เข้ามาลงทุนในไทยเพื่อให้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ HEV และ PHEV สำหรับรองรับตลาดในประเทศและส่งออกในระยะ 10 ปีแรกนี้ ทำให้ปริมาณคำสั่งซื้อชิ้นส่วนโดยรวมเพิ่มขึ้น เมื่อมาผนวกกับการปรับโครงสร้างสู่การใช้แพลทฟอร์มร่วมที่อาจส่งผลให้ค่ายรถเกิดการรวมคำสั่งซื้อมายังผู้ผลิตชิ้นส่วนบางรายที่มีศักยภาพมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ไทยซึ่งมีการผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับเครื่องยนต์อยู่อย่างเกือบครบสมบูรณ์ มีโอกาสที่จะได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนเกี่ยวกับเครื่องยนต์ยังปรับตัวอยู่ในตลาดได้ โดยจะเน้นการเพิ่มเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการผลิตมากขึ้นเพื่อควบคุมคุณภาพและต้นทุน ซึ่งในระยะนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเนื่องจากตลาดรถยนต์ BEV ในไทยยังมีขนาดเล็ก ทำให้ความต้องการชิ้นส่วนเกี่ยวกับเครื่องยนต์ในไทยมีโอกาสที่จะหดหายไปจากตลาดอันเนื่องจากการเข้ามาแทนที่ของรถยนต์ BEV คิดเป็นมูลค่าเพียง 3,784 ล้านบาท หรือหายไปจากความต้องการเดิมของตลาดในกรณีไม่มีรถยนต์ BEV เพียง 2.4 เปอร์เซ็นต์
- ในระยะ 20 ปี (ปี 2572 ถึง 2581)
รถยนต์ BEV เริ่มเข้ามามีบทบาทมากในตลาดทั้งการผลิตเพื่อขายในประเทศและการส่งออก โดยในระยะนี้ความต้องการชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนระบบส่งกำลังหรือระบบไฟฟ้าจะลดน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับการแข่งขันสูงขึ้น จึงอาจเกิดการควบรวมกิจการกันมากขึ้นเพื่อควบคุมต้นทุน และสนองต่อนโยบายการใช้แพลทฟอร์มร่วมที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งในระยะนี้ความต้องการชิ้นส่วนเกี่ยวกับเครื่องยนต์ในไทยมีโอกาสที่จะหดหายไปจากตลาดอันเนื่องจากการเข้ามาแทนที่ของรถยนต์ BEV เพิ่มสูงขึ้นมากเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 38,252 ล้านบาท หรือหายไปจากความต้องการเดิมของตลาดในกรณีไม่มีรถยนต์ BEV ถึงมากกว่า 22 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามหากผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นจนเข้าไปอยู่ในสายการผลิตชิ้นส่วนมูลค่าสูงของรถยนต์ BEV โดยเฉพาะมอเตอร์และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าได้ ก็อาจให้ผลที่ต่างออกไปกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์โดยรวม แม้ว่ามูลค่าชิ้นส่วนเครื่องยนต์จะหายไปเป็นมูลค่าที่สูงก็ตาม
เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในตลาดรถยนต์โลก แต่การที่ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ค่ายรถญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจังในปริมาณที่สูงนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ยังน่าจะเป็นโอกาสที่ดีต่อไทยในการดึงดูดการลงทุนชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าประเภทอื่นๆเข้ามาเพิ่มเติมได้ในอนาคต ภายใต้การเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนรถยนต์ระดับโลกที่ยืดหยุ่นขึ้นด้วย
ในส่วนของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในห่วงโซ่อุปทานค่ายรถยุโรปนั้นจะต่างออกไป ระยะเวลาในการปรับตัวจะมีเพียงแค่ช่วง 3 ถึง 5 ปีนี้ เนื่องจากค่ายรถยุโรปมีแนวทางในการเร่งพัฒนารถยนต์ PHEV และ BEV ให้เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในห่วงโซ่อุปทานของค่ายรถยุโรป โดยเฉพาะชิ้นส่วนเกี่ยวกับเครื่องยนต์อาจจำเป็นต้องเร่งปรับตัวตั้งแต่ตอนนี้
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี