“โดรนเทวดา” ผู้ช่วยเกษตรกรยุค AI เพิ่มผลผลิตได้ไวไม่พึ่งโชคชะตา

 
 

Main Idea
 
  • ธุรกิจเกษตรยังเป็นอนาคตของประเทศและโลกใบนี้ ในวันที่จำนวนประชากรโลกเท่าทวีขึ้น ความต้องการอาหารจากการผลิตภาคการเกษตรก็มากขึ้นเช่นเดียวกัน ในขณะที่ทรัพยากรมีจำกัด การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับภาคเกษตรคือทางออกของเรื่องนี้
 
  • รู้จัก “โดรนเทวดา” ผลงานนวัตกรรมของคนไทย ในการนำโนว์ฮาวเกี่ยวกับโดรนเข้ามาประยุกต์ใช้กับการเกษตร ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต  ยกระดับคุณภาพข้าวไทยให้เป็นที่ยอมรับ ตอบความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
 
   
             
     หมดยุคทำเกษตรแบบเก่า ต้องพึ่งผ้าพึ่งฝน ขอพรจากเทวดา เมื่อวันนี้มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากมายที่สามารถประยุกต์ใช้กับภาคเกษตรของไทยได้ เช่นเดียวกับ “โดรน” อากาศยานไร้คนขับ ผลงานของบริษัท เทวดา คอร์ป จํากัด ที่นำวิทยาศาสตร์และปราชญ์ชาวบ้านมาผสานเข้ากับเทคโนโลยีจนเป็นเครื่องมือใหม่ช่วยชาวนาไทย ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต  ยกระดับคุณภาพข้าวไทยให้เป็นที่ยอมรับ ตอบความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ




     ธีรพงษ์ กาญจนกันติกุล
คืออดีตนักวิจัยและพัฒนาโดรนด้านการทหารมานับสิบปี ทำให้มองเห็นโอกาสที่จะนำโนว์ฮาวเกี่ยวกับโดรนเข้ามาประยุกต์ใช้กับภาคเกษตรดูบ้าง เนื่องจากเกษตรเป็นตลาดใหญ่ และประเทศไทยมีภูมิประเทศเหมาะสมกับการทำเกษตร โดยมีพื้นที่เกษตรรวมประมาณ 138 ล้านไร่ เป็นข้าวถึงกว่า 70 ล้านไร่  ขณะที่รายได้ของภาคเกษตรคิดเป็นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่สิ่งที่ต้องยอมรับคือบ้านเรายังขาดการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเพิ่มประสิทธิภาพภาคการเกษตรเท่าที่ควร จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง บริษัท เทวดา คอร์ป จํากัด ขึ้น เพื่อร่วมยกระดับภาคเกษตรของประเทศไทยด้วยโดรน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติในการพัฒนาระบบดังกล่าว 


     เทคโนโลยีที่เคยคิดว่าไกลตัวอย่างโดรน จะเข้ามาแก้ปัญหาให้เกษตรกรได้อย่างไร ธีรพงษ์บอกเราว่า โดรนเทวดาเป็นโซลูชั่นที่ดูแลระบบดิน ระบบการเพาะปลูกด้วยนวัตกรรม ส่งเสริมให้เกษตรกรก้าวสู่วิถีอินทรีย์โดยใช้เทคโนโลยี โดยสามารถใช้โดรนสำรวจดูสุขภาพข้าวหรือพืชที่ปลูกว่าเป็นโรคหรือไม่ มีการเจริญเติบโตอย่างไร ช่วยตรวจสอบหาศัตรูพืช วัดปริมาณความหนาแน่นของพืช ตรวจสอบคุณภาพดิน เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์สำหรับปรับสูตรการให้ปุ๋ยหรือการดูแลที่เหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ยังใช้โดรนฉีดพ่นปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืชแบบน้ำ หรือใช้ในการหว่านปุ๋ยแบบเม็ด ตลอดจนทำแผนที่เพื่อการเกษตรได้อีกด้วย





     การใช้โดรนช่วยประหยัดต้นทุนการผลิต ลดเวลาการทำงานลงได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ (ใช้แทนแรงงานคน) ลดต้นทุนการผลิตลงได้ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตเพิ่มขึ้น 10-20 เปอร์เซ็นต์ จากการให้ปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพตรงกับพืช สามารถทำงานเวลาใดก็ได้  ที่ใดก็ได้ที่มนุษย์เข้าถึงยาก ช่วยแก้ปัญหาพืชได้ด้วยการบินตรวจสอบคุณภาพพืชและการให้ปุ๋ยที่พอเหมาะ ช่วยตรวจสอบโรค และผลผลิต เพื่อแก้ปัญหาได้ทันเวลา ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน สร้างงานใหม่ และสร้างความยั่งยืนทั้งสุขภาพของเกษตรกรและเศรษฐกิจของชุมชนด้วย


     “วันนี้การนำนวัตกรรมมาใช้ในภาคเกษตรกรรมของไทยเป็นสิ่งจำเป็นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดรน ที่ไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาเรื่องแรงงานขาดแคลน และลดต้นทุนในการใช้ปัจจัยการผลิตต่างๆ อาทิ ใช้หว่านเมล็ดพันธุ์ ฉีดพ่นปุ๋ย สารกำจัดวัชพืช เท่านั้น แต่ยังช่วยในการสำรวจพื้นที่เพาะปลูก ทำให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการแปลงปลูกได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ อีกทั้งปัจจุบัน โดรน มีต้นทุนเฉลี่ยเพียง 80-100 บาทต่อไร่ และยังช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยหรือสารกำจัดวัชพืชลง เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการฉีดพ่น และขจัดปัญหาการเหยียบย่ำทำลายพืชปลูกได้ดีมากกว่าแรงงานมนุษย์” ธีรพงษ์บอก


     เขายกตัวอย่างผลลัพธ์จากการไปทำงานจริง ในแปลงนาข้าวอินทรีย์ จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 7 ไร่ พบว่าสามารถ เพิ่มผลผลิตได้ถึง 3 เท่า โดยไม่ได้ใส่ปุ๋ยเพิ่ม แต่เป็นการนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ เข้าไปปรับสภาพดิน


     โดรนเทวดา เริ่มทำงานในแปลงทดลอง จ.สุพรรณบุรี และฉะเชิงเทรา เวลานี้ก็กำลังขยายไปยังพื้นที่อื่น โดยร่วมกับสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)  ในการเพิ่มพื้นที่เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยี โดยที่ทางดีป้าให้งบสนับสนุนเกษตรกรในการเช่าบริการจากโดรนเทวดา


     “การที่เกษตรกรจะซื้อไปใช้เลยแนะนำว่าต้องมีกลุ่มมา เพราะเหมาะกับเกษตรแปลงใหญ่ ผมแนะนำให้เช่าบริการดีกว่า แต่ถ้าเขามีศักยภาพมากพอ ดูแลระบบได้ก็ให้เขาตั้งศูนย์บริการ  แล้วเอาลูกหลานมาทำงานในนั้น  หรือถ้าเขารวมกลุ่มกันได้ มีวิสาหกิจชุมชนอยู่ตรงนั้น มีคนดูแล เราก็จะถ่ายทอดความรู้ สนับสนุนอุปกรณ์ เทคโนโลยีทุกอย่างเพื่อให้บริหารจัดการชุมชนได้เอง โดยเราจะให้ระบบของเราไปเลย จะเป็นการเช่าหรือร่วมลงทุนก็ได้ ถ้าวิสาหกิจไม่อยากร่วมด้วยเราก็มาหุ้นกัน ถ้ามีเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เท่าไหร่ก็มาแบ่งกัน มีทางเลือกให้เขา” เขาบอก


     ในวันนี้ประเทศไทยยังขาดแคลนข้าวที่มีคุณภาพ เพราะเกษตรกรยังปลูกข้าวไม่ได้มาตรฐาน การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ จะช่วยยกระดับมาตรฐานในภาคเกษตร ช่วยแก้ปัญหาผลผลิตที่ไม่แน่นอน ช่วยให้ผลิตได้อย่างต่อเนื่อง ในปริมาณและคุณภาพที่ควบคุมได้ ทำให้สามารถวางแผนในการทำตลาดกับต่างประเทศได้  


     “ถ้ามีคนนำระบบพวกนี้ไปใช้มากขึ้น มันจะเป็นการบริการให้กับชุมชน จะเกิดเป็นธุรกิจใหม่ของเขา และลูกหลานก็จะได้ทำงานกับพ่อแม่พี่น้อง สุดท้ายก็จะเกิดความยั่งยืนให้กับชุมชนโดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี แรงงานการเกษตรก็จะสร้างรายได้ให้กับภาคเกษตรมันจะดีกว่าไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมกันหมด สุดท้ายมันจะเป็นความยั่งยืนให้กับประเทศไทย ซึ่งผมอยากเห็นภาพเหล่านี้” เขาบอกในตอนท้าย
              
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: TECH

จับตา 3 เทคโนโลยี ที่ช่วยติดสปีดธุรกิจให้ชนะคู่แข่ง 2568

ในยุคที่โลกหมุนเร็วนี้ 3 ปัจจัยสำคัญอะไรบ้างที่จะเปลี่ยนบทบาทของธุรกิจจากผู้นำให้กลายเป็นผู้ตามได้ หากไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

รวม 6 สตาร์ทอัพไทยพลิกโลก เปลี่ยนเกษตรดั้งเดิม สู่ Smart Farming

คาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มมากกว่า 9 พันล้านคนในปี 2050 เป็นโอกาสของธุรกิจเกษตรและการผลิตอาหารครั้งใหญ่ของไทย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม วันนี้ชวนมารู้จัก 6 สตาร์ทอัพไทยสายเกษตรที่ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือ เพื่อช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาธุรกิจเกษตรไทยมาฝากกัน

แสงตะวัน อ่อนน่วม พัฒนาแพลตฟอร์ม แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนให้ธุรกิจที่พักไซส์เล็ก

ปัญหาหนึ่งของธุรกิจโรงแรมเล็ก คือต้นทุนการดำเนินงานสูง และมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน แสงตะวัน อ่อนน่วม ซึ่งเห็น Pain Point ดังกล่าว จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Shin Platform Hotel Self-Service Solution ขึ้นมา เพื่อช่วยทดแทนแรงงานคน, บริษัท ชิบะรูม