อยากโตรุ่งในยุคดิจิทัล ต้องปรับกระบวนทัพ รับมือ ‘4D’




Main Idea
 
  • ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า 4D คือ Digitize, Disrupt, Demonetize และ Democratize
 
  • การพัฒนาเทคโนโลยีส่งผลต่อการทำธุรกิจทั้งในแง่ของการผลิตและการตลาด ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปอาจไม่ทันอีกต่อไป แต่ถึงเวลาที่ผู้ประกอบการจะต้องกระโดดให้เท่าทันเทคโนโลยี จึงจะสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ในยุคดิจิทัล




     ท่ามกลางกระแสของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นับวันมีแต่จะก้าวกระโดดไปไกล ทำให้ธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ฉับพลันไม่ทันตั้งตัว ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เห็นได้จากตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็น โดรน (Drone) ที่ก่อนหน้านี้ยังมีข้อจำกัดไม่สามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากนัก แต่ปัจจุบันสามารถบรรทุกน้ำหนัก 600 กิโลกรัมได้ไกลถึง 10 กิโลเมตร


     นี่คือตัวอย่างที่ย้ำเตือนผู้ประกอบการว่า ต้องเร่งปรับตัวอย่างหนักเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของธุรกิจให้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่เข้ามา  รวมถึงปลูกฝังวัฒนธรรมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนานวัตกรรมที่ไม่หยุดนิ่งให้กับคนในองค์กร เพื่อที่จะอยู่รอดและเติบโตได้ในยุคดิจิทัล





     Salim Ismail นักคิด นักกลยุทธ์ และนักพูดชื่อดังระดับโลกผู้เป็นกูรูด้าน Exponential Transformation ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีก่อให้เกิดสิ่งที่ เรียกว่า 4D นั่นคือ Digitize, Disrupt, Demonetize และ Democratize ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันเป็นอย่างมาก
 

1. Digitize


     ยุคนี้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการทำธุรกิจอย่างมาก โลกกำลังขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น ผ่าน Internet of Things (IOT) ทุกสิ่งอย่างเชื่อมโยงถึงกันด้วยอินเตอร์เน็ต ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันได้ถึง 1 ล้านล้านชิ้นในปี 2030 (พ.ศ.2573) และจะเกิดประโยชน์ทางธุรกิจ อย่างมาก เช่น บริษัทในประเทศอิสราเอลสามารถวิเคราะห์อารมณ์ของผู้พูดได้อย่างแม่นยำถึง 85 เปอร์เซ็นต์ จากการใช้คลิปเสียงที่มีความยาวเพียง 10 วินาที


2. Disrupt


     เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน รูปแบบการทำธุรกิจก็เปลี่ยนไป โดยในอดีตกล้องถ่ายรูปใช้ฟิล์มในการถ่ายภาพ ทำให้ต้องถ่ายภาพด้วยความระมัดระวังเนื่องจากฟิล์มมีความจุจำกัด ดังนั้น หลักสูตรสอนถ่ายภาพจึงมีความจำเป็น ทว่าเมื่อมีกล้องดิจิทัลเข้ามาทดแทน ความจุไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป หลักสูตรสอนถ่ายภาพจึงไม่มีความจำเป็นแล้ว แต่ปัญหากลายเป็นว่าทำอย่างไรให้สามารถค้นหาและจัดการกับรูปถ่ายที่มีจำนวนมากในอุปกรณ์ต่างๆ ได้ หรือจากการที่ต้นทุน ของพลังงานแสงอาทิตย์ถูกลงมาก ปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องการผลิต แต่เป็นการจัดเก็บพลังงานแทน เหล่านี้ เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนจากความขาดแคลน (Scarcity) เป็นความเหลือเฟือ (Abundance) ซึ่งทำให้ ต้นทุนการผลิตต่อหน่วย (Marginal Cost) กลายเป็นศูนย์ เราเรียกจุดพลิกผันเหล่านี้ว่า Gutenberg Moment (ตามชื่อผู้คิดค้นแท่นพิมพ์เครื่องแรกของโลก) ซึ่งจะเกิดมากขึ้นและบ่อยขึ้นในโลกปัจจุบัน





3. Demonetize



     เมื่อต้นทุนถูกลง มีคู่แข่งมา Disrupt มากขึ้น รายได้ก็ลดลง ที่ผ่านมาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไม่สนใจรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติหรือรถยนต์ไร้คนขับ (Self-driving Car) เนื่องจากต้นทุนเทคโนโลยีสูงเป็นแสนเหรียญต่อคัน ทำให้ขายอย่างไรก็ไม่คุ้ม แต่เมื่อต้นทุนเทคโนโลยีลดลงเหลือแค่หลักพันต่อคัน ทำให้บริษัทต้องกลับมาพัฒนาเทคโนโลยีนี้ แต่ยัง ตามหลัง Google หรือ Uber ซึ่งได้ลงทุนวิจัยเรื่องนี้มานานแล้ว


     หรือตัวอย่างของธุรกิจล้างรถใน Buenos Aires เมืองท่าของประเทศอาร์เจนตินา ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจดีและประชาชนมีรถเป็นของตัวเองมากขึ้น แต่รายได้กลับลดลง ต้นเหตุที่แท้จริงกลับเป็นเพราะมีเทคโนโลยีในการพยากรณ์อากาศที่ดีขึ้น ทำให้ผลพยากรณ์อากาศมีความแม่นยำว่าวันใดฝนจะตกหรือไม่ตก คนจึงมาล้างรถน้อยลงนั่นเอง


     กรณีของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์คือตัวอย่างที่แสดงถึงการคิดแบบเส้นตรง (Linear) กับการคิดแบบก้าวกระโดด (Exponential) โดยหากเราไม่คิดแบบ Exponential เราก็อาจพลาดโอกาสในอนาคตได้ ส่วนตัวอย่างหลังแสดงให้เห็นว่า Disruption เกิดขึ้นได้ทุกที่ จึงควรตระหนัก และให้คิดไว้เสมอเลยว่าเราสามารถถูก Disrupt ได้เสมอ


4. Democratize


     เมื่อต้นทุนทุกอย่างลดลง ก็ทำให้โลกเปิดกว้างมากขึ้นหลังเหตุการณ์สึนามิที่ประเทศอินโดนีเซีย ชาวประมงมีรายได้มากขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ จากการใช้ SMS ในการส่งข่าวราคารับซื้อปลาที่ท่าเรือให้กันช่วยให้ชาวประมงตัดสินใจซื้อขายได้ การที่ชาวประมงใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทำให้โอกาสเปิดกว้างขึ้น การเปิดกว้างนี้ทำให้ใครก็ได้ที่มีไอเดียสามารถนำเทคโนโลยีไปใช้กับธุรกิจเดิมๆ แล้วก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ทำนองเดียวกับ Elon Musk ที่ไม่ได้ คิดค้นอะไรใหม่ แต่กลยุทธ์ของเขาคือหาเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด และสร้างบริษัทขึ้นมาเพื่อจะได้ทันใช้ประโยชน์จากการเติบโตใน 10 ปีข้างหน้า





     จากการเกิดขึ้นของ 4D นี้เอง Ismail แนะนำให้ธุรกิจตั้งรับและปรับตัว โดยองค์กรที่พัฒนาแบบก้าวกระโดดหรือที่เรียกว่า Exponential Organization ควรคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้

 
  1. ใช้ MTP (Massive Transformative Purpose) การที่องค์กรกำหนดเป้าหมายที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ให้เป็นเหมือนมนต์สะกดประจำองค์กร เช่น Ideas Worth Spreading ของ TED Talk, Organize the World’s Information ของ Alphabet/Google, Open Happiness ของ Coca-Cola ที่ใช้ในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร
 
  1. ไม่จำเป็นต้องใหญ่โต แต่ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ให้คุ้มค่าด้วยหลักการ SCALE (Staff on Demand, Community & Crowd, Algorithms, Leveraged Assets, Engagement)
 
 
  1. ผู้นำองค์กรต้องรับรู้สภาวะโลกปัจจุบัน เช่น Accelerating Technologies และ Exponential Growth แล้วปรับแนวคิดให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง
 
  1. เริ่มนวัตกรรม Disruptive จากชายขอบ (Edges) ไม่ใช่จากศูนย์กลางองค์กร (Core) หมายถึงองค์กรสามารถเริ่มทำการเปลี่ยนแปลงของเพื่อป้องกัน การ Disrupt จากจุดเล็กๆ ขององค์กรก่อน เพื่อไม่ให้คนในองค์กร เกิดความกลัวและต่อต้าน ซึ่งหากสำเร็จก็ค่อยขยายการดำเนินงานสู่ส่วนต่างๆ ขององค์กรต่อไป


ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: TECH

จับตา 3 เทคโนโลยี ที่ช่วยติดสปีดธุรกิจให้ชนะคู่แข่ง 2568

ในยุคที่โลกหมุนเร็วนี้ 3 ปัจจัยสำคัญอะไรบ้างที่จะเปลี่ยนบทบาทของธุรกิจจากผู้นำให้กลายเป็นผู้ตามได้ หากไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

รวม 6 สตาร์ทอัพไทยพลิกโลก เปลี่ยนเกษตรดั้งเดิม สู่ Smart Farming

คาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มมากกว่า 9 พันล้านคนในปี 2050 เป็นโอกาสของธุรกิจเกษตรและการผลิตอาหารครั้งใหญ่ของไทย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม วันนี้ชวนมารู้จัก 6 สตาร์ทอัพไทยสายเกษตรที่ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือ เพื่อช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาธุรกิจเกษตรไทยมาฝากกัน

แสงตะวัน อ่อนน่วม พัฒนาแพลตฟอร์ม แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนให้ธุรกิจที่พักไซส์เล็ก

ปัญหาหนึ่งของธุรกิจโรงแรมเล็ก คือต้นทุนการดำเนินงานสูง และมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน แสงตะวัน อ่อนน่วม ซึ่งเห็น Pain Point ดังกล่าว จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Shin Platform Hotel Self-Service Solution ขึ้นมา เพื่อช่วยทดแทนแรงงานคน, บริษัท ชิบะรูม