​ETDA กับบทบาทใหม่ Regulator ยกระดับธุรกิจบริการดิจิทัลไทยแบบครบวงจร


 
     CEO ETDA แถลงนโยบายปี 62 นับถอยหลังยุคเปลี่ยนผ่าน เตรียมสรรหาผู้อำนวยการใหม่ เผยทิศทางการขับเคลื่อน ETDA ภายหลังพ.ร.บ.ธุรกรรมฯ ประกาศ เดินหน้าเป็น Regulator ธุรกิจบริการด้านดิจิทัล สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ e-Commerce ผุด Local Platform “Young Talent” ไม่หวั่นกับการก้าวเข้ามาของบริษัทข้ามชาติ พร้อมโชว์ผลงานเจ๋ง เรียนรู้ไปกับ Young blood ภายใต้หลักสูตรที่ไม่เหมือนใคร FEGO ที่ทำให้ผู้ใหญ่ระดับ High-Level ไม่กลัวเทคโนโลยี


     สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยภายในงาน ETDA Open House Open Heart ถึงการเตรียมความพร้อมรับความท้าทาย ยกระดับการทำงานตาม พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ ฉบับใหม่ สร้างสมดุลการกำกับและส่งเสริมธุรกิจ กับการเป็น regulator ธุรกิจบริการดิจิทัลในปี 2562 มีการเตรียมความพร้อมองค์กร เพื่อรองรับผู้บริหารใหม่ และภารกิจที่สำคัญ บทบาทที่ท้าทาย มีหน้าที่ในการกำกับดูแล เป็น regulator การทำธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับ electronic transaction พร้อมยกระดับการทำงานตาม พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ ฉบับใหม่ ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐาน รวมถึงกำกับดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมฯ ตามกฎหมาย วิเคราะห์และรับรองมาตรฐาน ที่เกี่ยวข้อง


ความท้าทายในอำนาจที่ทับซ้อนของหน่วยงานหลายหน่วยงาน
           

     ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Digital Economy หากพิจารณาบทบาทของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะพบว่า สิ่งที่รัฐควรต้องเร่งดำเนินการ คือการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการทำงานในการผลักดันให้รัฐเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและปรับรูปแบบการทำงานของรัฐเองให้เป็น Digital government ซึ่งบทบาทอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหลายหน่วยงานบางส่วนยังคงมีความทับซ้อน ซึ่งในส่วนร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่...)    พ.ศ. ....  ที่ ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๒ นั้น สพธอ. ทำหน้าที่ด้านการกำหนดมาตรฐานด้านต่างๆ เพื่อรองรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Digital ID โดยการ Regulate ที่จะเป็นการออกมาตรฐานนั้น อาจจะมีความคาบเกี่ยวกับภารกิจของหน่วยงานที่ดูแลเรื่องของ Open Government และการทำ Data Sharing รวมถึงเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะด้วย จึงต้องมีการวางบทบาทที่ชัดเจนโดยดึงจุดเด่นของแต่ละหน่วยงานเพื่อทำงานร่วมกัน โดยในส่วน สพธอ. เน้นการทำ Recommendation ด้านมาตรฐาน และในการเป็น Regulator ที่แม้ว่าจะต้องทำในบทบาทเชิง Regulate แต่ต้องการทำให้การ regulate ทำในเชิง Promote ซึ่งภารกิจทั้งหมดจะถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้ Secure Environment ที่ครอบคลุมเรื่อง Data Protection และ Cybersecurity ที่มีร่างกฎหมายเฉพาะเข้ามาดูแล
 

บทบาทใหม่ในการขับเคลื่อนการเป็น Regulator ธุรกิจบริการ
           

     ด้วยบทบาทที่เพิ่มเติมของ ETDA ซึ่งมีภารกิจในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น ปัจจุบันมีอย่างน้อย 2 ธุรกิจบริการที่ควรผลักดันให้มีการกำกับดูแลโดยเร็ว คือ 1. การกำกับดูแลผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนอกจากการยกระดับของผู้ประกอบการแล้ว ยังทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างระบบในทางเทคนิคของผู้ให้บริการแต่ละราย โดยธุรกิจบริการดังกล่าวถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่ส่งผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือให้กับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น และ 2. การให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันถือเป็นระบบที่มีความสำคัญต่อขั้นตอนการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นต้องดูและเพื่อให้การประกอบธุรกิจดังกล่าวมีระบบที่มีความน่าเชื่อถือและปลอดภัย





การสร้าง
Regulatory sandboxes ภายใต้ภารกิจของ ETDA


     บทบาทของ ETDA ในมุมของ Digital Transformation จะเป็นหน่วยงานส่งเสริมการใช้นวัตกรรม (Innovation) สำหรับการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในการบริหารและการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดย ETDA เป็นผู้ศึกษาเทคโนโลยีใหม่ทางด้านดิจิทัล รวมถึงพัฒนาข้อเสนอแนะที่สำคัญ แนวทางการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ และพัฒนาระบบต้นแบบพร้อมสนามทดสอบสำหรับทดลองการใช้งาน (Prototype and Sandbox) เพื่อให้การบริหารและการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมีประสิทธิภาพ คุณภาพ ความมั่นคงปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ อีกทั้งตอบโจทย์และอำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้งานในระบบนิเวศ (Ecosystem) ด้วย
 

การทำให้ผู้ใหญ่ระดับ High-Level (Policy Maker) ไม่กลัวเทคโนโลยี
เรียนรู้ไปกับ Young blood ภายใต้หลักสูตรที่ไม่เหมือนใคร FEGO


     ETDA มีความมุ่งมั่นในการยกระดับความรู้ความสามารถของด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับผู้บริหารในระดับนโยบายของประเทศทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ให้มีความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี Disruptive technology จากเป้าหมายนี้จึงเป็นที่มาของการจัดทำ “หลักสูตร Future Economy & Internet Governance Executive Program หรือ FEGO ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกภายใต้การดำเนินงานของ สถาบันเศรษฐกิจอนาคตและธรรมาภิบาลอินเทอร์เน็ต โดยมุ่งมั่นปลุก Spirit ให้กับผู้เข้าร่วมหลักสูตรซึ่งเป็นผู้บริหารที่มาจากทุกสาขา “Fighting Spirit เป็นการต่อสู้เพื่อให้ Survival (อยู่รอด)” ซึ่งหมายถึง การต้องสู้และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และนอกจากสปิริตของการต่อสู้แล้ว จำเป็นต้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่กำลัง Disruptive ทุกคนอยู่ หลักสูตร FEGO จึงพัฒนาขึ้น โดยสร้างจุดเด่นและความแตกต่างที่ไม่เหมือนหลักสูตรอื่นๆ โดยผู้เข้าอบรมสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเข้าใจเทคโนโลยีได้อย่างง่ายร่วมกับกลุ่ม Young Blood ในรูปแบบผลัดกันเรียน ผลัดกันสอน รวมไปถึงสามารถมองภาพกว้างและลงลึกกับเทคโนโลยีเฉพาะทาง เพื่อให้เกิดแนวคิดในการนำไปประยุกต์ใช้ในการวางแผนระดับนโยบายที่สามารถปฏิบัติได้จริง และเพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงซึ่งเป็นบุคคลที่สำคัญในการกำหนดนโยบายของประเทศ ได้รู้เท่าทันและไม่กลัวการใช้เทคโนโลยีอีกต่อไป


     เป้าหมายสำคัญของหลักสูตร นำไปสู่การถอดบทเรียนลงเป็นตัวหนังสือ และคลิปวีดีโอ เพื่อเผยแพร่ส่งต่อสปิริตนั้นให้กับผู้ชมที่มากขึ้น และความตั้งใจในการสะท้อนข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่ได้รับจากห้องเรียน FEGO ต่อรัฐบาลหรือผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายในการพัฒนาประเทศไทย จาก Transformation ยุค 4.0 ไป 5.0 ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดไม่ได้เลยถ้าไม่มีการตรวจสอบที่ดี หรือมีระบบพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความน่าเชื่อถือ และตรงนี้คือภารกิจหลักของการรักษาและเสริมจุดแข็งของ ETDA 


บทบาทที่ท้าทายในการพัฒนา e-Commerce กับการก้าวเข้ามาของบริษัทข้ามชาติ


     ความท้าทาย นอกเหนือจากการเข้ามาของบริษัทข้ามชาติแล้ว การสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนไทย เป็นบทบาทที่ ETDA ต้องการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นจากการใช้มือถือ เพื่อทำ e-Commerce โดยจากผลการสำรวจ Internet User Profile ในปีที่ผ่านมา การใช้มือถือและอินเทอร์เน็ต ในการทำ e-Commerce ขยับเป็น 1 ใน 5 ดังนั้น ความท้าทายคือ  ETDA จะทำอย่างไรให้คนหันมาใช้มือถือและอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือทำมาหากิน จึงมุ่งไปที่เศรษฐกิจดิจิทัลเรื่อง e-Commerce ซึ่ง ETDA มีการเก็บตัวเลขมูลค่า e-Commerce ต่อเนื่องมาหลายปีเพื่อให้หน่วยงาน หรือองค์กรอื่นนำไปใช้ต่อยอด โดยปีที่ผ่านมาโตถึง 14.04%  ดังนั้น จะเห็นได้ว่า โอกาสของคนไทยอยู่ใกล้แค่ฝ่ามือ โดยการใช้มือถือสร้างรายได้ผ่าน e-Commerce แต่ในภาพใหญ่ จะเห็นได้ว่ามี e-Commerce Platform หรือที่เรียกว่า Global Platform เช่น Alibaba, Lazada, Shopee ซึ่งเป็นการเข้ามาของบริษัทต่างชาติ ประเทศไทยจึงควรมี Local Platform ของตัวเอง จึงเป็นที่มาของ Young Talent Platform ซึ่งเป็นที่ที่รวบรวมข้อมูลสินค้าและบริการ ไปจนถึงการเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ e-Commerce และตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางที่ทั้ง Workforce และผู้ประกอบการ SME สามารถนำไปใช้ต่อยอดและพัฒนาธุรกิจได้


     ขณะเดียวกัน ก็ต้องมี SMEs Workforce เพื่อมาตอบโจทย์ผู้ประกอบการ โดยตัว Workforce นี้จะทำหน้าที่สนับสนุน และเป็นตัวช่วยด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการถ่ายภาพ ด้าน Online Marketing ด้านการทำ Storytelling เป็นต้น ด้วยตัวเลข 1.2 ล้านราย เป็นตัวเลขเป้าหมายที่ ETDA ได้กำหนดไว้ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งบทบาทของ e-Commerce ที่ท้าทายคือ การริเริ่มให้เกิด Silicon Valley ด้าน e-Commerce ด้วยจุดที่ตั้งของ ETDA รายล้อมไปด้วย สถาบันการศึกษา  สถาบันการเงิน ตลาดหลักทรัพย์ บริษัทด้านเทคโนโลยี ซึ่งอำนวยต่อการสร้าง e-Commerce Park อย่างครบวงจรด้วย


     อย่างไรก็ตาม ในยุค Disruptive Technology ที่มีการเติบโตมูลค่า e-Commerce อย่างต่อเนื่อง อีกด้านหนึ่งก็เกิดปัญหาจากการซื้อขายสินค้าและบริการทางออนไลน์ โดยมีการแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212OCC ของ ETDA เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย จากในปี 2560 มีจำนวน 9,987 ครั้ง เป็น 17,558 ครั้ง ในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า โดยพบว่า เกิดจากการซื้อสินค้าแต่ได้รับของไม่ตรงสเปก ผิดสี ผิดขนาด หรือไม่ได้รับสินค้า ยังมีผลกระทบในเรื่องการซื้อขายสินค้าที่ผิดกฎหมายหรือไม่มีมาตรฐาน ทำให้ผู้ซื้อสินค้าได้รับอันตรายไปกระทั่งเสียชีวิต รวมถึงความยุ่งยากในการได้รับการชดเชยเยียวยาเมื่อเกิดปัญหา หรือแม้แต่การโฆษณาที่กำกับดูแลได้ลำบาก
 




Online consumer protection ปกป้องผู้บริโภคออนไลน์


     ความท้าทายที่สำคัญ คือ การสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคออนไลน์ รวมถึงการฟื้นฟูกลุ่มที่ถูกทำลายความเชื่อมั่นใน e-Commerce ที่ผ่านมา การรับเรื่องและการจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพียงแนวทางจัดการที่ปลายน้ำ ดังนั้น สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งเพื่อลดการเกิดปัญหา คือ การพัฒนาแนวทางคุ้มครองผู้บริโภคตั้งแต่ต้นน้ำหรือในระดับเชิงรุกมากยิ่งขึ้น เช่น การเฝ้าระวังและป้องกัน ก่อนเกิดปัญหา โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาการ


คุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ หรือ Online Consumer Protection อย่างครบวงจร


     เริ่มต้นจากการสร้างผู้ประกอบการที่ดี โดยกำกับดูแลผู้ประกอบการออนไลน์จำหน่ายสินค้าออนไลน์อย่างปลอดภัย ถูกกฎหมาย ลดความเสียหายที่เกิดขึ้น สร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจ และสามารถสร้างเครือข่าย เสริมกำลังที่ช่วยกำกับดูแลกันเองได้ นอกจากนี้ ยังพัฒนาด้วยเครื่องมือกลไกทางดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลที่ให้บริการประชาชนได้ทุกมิติ และสามารถวิเคราะห์แนวโน้มของปัญหาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลในลักษณะ Big Data  รวมถึงการส่งเสริมความรู้การคุ้มครองผู้บริโภคทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค


ข้อมูลคนไทยไปอยู่กับต่างชาติมานานแล้ว เรายังจะยอมอยู่หรือ?


    สุรางคณา  กล่าวว่า ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ข้อมูลคนไทยในลักษณะที่เป็น Big Data อยู่กับแพลตฟอร์ม e-Commerce ต่างชาติมาโดยตลอด ซึ่งเราถูกต่างชาติใช้ประโยชน์และหารายได้จากข้อมูลคนไทย โดยที่ไม่ต้องจ่ายภาษี และไม่รู้ว่าถูกต้องตามกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ แล้วประเทศไทยเราจะออกมาตรการเพื่อดูแลเรื่องนี้อย่างไร? และเนื่องจากการมี Big Data จะทำให้เรารู้ว่าพฤติกรรมผู้ประกอบการและผู้บริโภคเป็นอย่างไร โดยสามารถนำการวิเคราะห์พฤติกรรมนี้ไปต่อยอดเพื่อการส่งเสริม พัฒนา ป้องปราม และป้องกัน ในเรื่องการหลอกลวงบนโลกออนไลน์ อีกทั้ง การมีแพลตฟอร์มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภคคนไทยเพื่อให้เรามีข้อมูล Big Data เป็นของคนไทย และให้ผู้ประกอบการไทยได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลตรงนี้  อย่างไรก็ตาม การสร้าง Big data ด้าน e-Commerce จะตอบโจทย์ได้หรือไม่ เป็นข้อท้าทายของ ETDA ในบทบาทใหม่ต่อไป


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: TECH

จับตา 3 เทคโนโลยี ที่ช่วยติดสปีดธุรกิจให้ชนะคู่แข่ง 2568

ในยุคที่โลกหมุนเร็วนี้ 3 ปัจจัยสำคัญอะไรบ้างที่จะเปลี่ยนบทบาทของธุรกิจจากผู้นำให้กลายเป็นผู้ตามได้ หากไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

รวม 6 สตาร์ทอัพไทยพลิกโลก เปลี่ยนเกษตรดั้งเดิม สู่ Smart Farming

คาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มมากกว่า 9 พันล้านคนในปี 2050 เป็นโอกาสของธุรกิจเกษตรและการผลิตอาหารครั้งใหญ่ของไทย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม วันนี้ชวนมารู้จัก 6 สตาร์ทอัพไทยสายเกษตรที่ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือ เพื่อช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาธุรกิจเกษตรไทยมาฝากกัน

แสงตะวัน อ่อนน่วม พัฒนาแพลตฟอร์ม แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนให้ธุรกิจที่พักไซส์เล็ก

ปัญหาหนึ่งของธุรกิจโรงแรมเล็ก คือต้นทุนการดำเนินงานสูง และมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน แสงตะวัน อ่อนน่วม ซึ่งเห็น Pain Point ดังกล่าว จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Shin Platform Hotel Self-Service Solution ขึ้นมา เพื่อช่วยทดแทนแรงงานคน, บริษัท ชิบะรูม