Cr : Iron Ox
แม้การใช้เครื่องจักรในการเกษตรจะเป็นภาพที่เราเห็นกันแบบชินตามาหลายยุคหลายสมัย แต่วันนี้ Iron Ox บริษัทจากซานคาร์ลอส แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้ผุดไอเดียแนวใหม่ที่ใช้เฉพาะหุ่นยนต์เท่านั้นเข้ามาทำฟาร์มตั้งแต่เพาะเมล็ด จัดสรรพื้นที่ให้ใหม่เมื่อต้นโตขึ้น ไปยันกำจัดแมลงและปราบศัตรูพืช
โดยความคิดสุดล้ำของบริษัทนี้นั้น นับว่าเป็นรายแรกในสหรัฐอเมริกาที่อาศัยหุ่นยนต์เพียง 2 ตัวในการเข้ามาดูแลจัดการและเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งมีลักษณะเป็นฟาร์มในร่มปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์หรือเป็นการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน หุ่นยนต์ตัวแรกนั้นมีน้ำหนักถึง 1,000 ปอนด์ และมีขนาดเท่ากับรถหนึ่งคันเลยทีเดียว โดยจะทำหน้าที่ในการหยิบถาดของพืชพันธุ์ แล้วทำการเคลื่อนย้ายลำเลียงไปยังส่วนต่างๆของเรือนกระจก ส่วนหุ่นยนต์ตัวที่ 2 จะมีลักษณะเป็นแขนกล คอยทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยในส่วนอื่นๆ เช่น การเพาะเมล็ดและการปลูก เป็นต้น
และเมื่อถาดของต้นนั้นโตเต็มที่ หุ่นยนต์ตัวแรกจะนำมันไปยังพื้นที่สำหรับทำการประมวลผลและตรวจสอบคุณภาพ โดยแขนกลจะทำการย้ายต้นอ่อนที่อยู่ในถาดแบบหนาแน่นไปบรรจุยังภาชนะใหม่เพื่อให้มีพื้นที่ในการเจริญเติบโตมากขึ้น ซึ่งหุ่นยนต์ที่เปรียบเสมือนเกษตรกรยุคใหม่นี้ไม่เพียงแต่จะสามารถทำการเคลื่อนย้ายพืชผักต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ด้วยการใช้ Machine Learning หรือ การเรียนรู้ของเครื่องจักร และ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ยังทำให้สามารถทำการตรวจหาศัตรูพืชและโรค รวมไปถึงสามารถทำการกำจัดต้นที่ติดเชื้อได้ก่อนที่จะสร้างปัญหาหรือระบาดไปยังต้นอื่นๆได้อีกด้วย
ในเบื้องต้น ทางบริษัททำการปลูกเฉพาะผักใบเขียวและสมุนไพร โดยวางแผนที่จะขยายไปสู่การปลูกพืชพันธุ์ชนิดอื่นๆ เช่น มะเขือเทศ อีกทั้งยังมองไปที่การสร้างเรือนกระจกเพื่อนำพลังงานจากแสงอาทิตย์มาใช้ในการเพาะปลูกแทนการใช้แสง LED อย่างในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นปลอดจีเอ็มโอและปราศจากสารกำจัดศัตรูพืชแล้ววางจำหน่ายขายด้วยราคาที่เท่ากับผลผลิตในท้องตลาด
Cr : Iron Ox
ทางด้าน Brandon Alexander ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอบริษัท บอกว่า เราสามารถทำฟาร์มที่ใช้หุ่นยนต์ในการดูแลบนพื้นที่เพียง 1 เอเคอร์เท่านั้น ซึ่งเทียบเท่ากับการทำฟาร์มแบบกลางแจ้งถึง 30 เอเคอร์ โดยการทำฟาร์มแบบนี้ขึ้นมาก็เพื่อที่จะส่งมอบความสดใหม่ที่แท้จริงให้กับผู้บริโภค ทางบริษัทจึงต้องการที่จะสร้างฟาร์มขนาดเล็กที่ใกล้กับศูนย์กลางของเมืองต่างๆมากขึ้น
“ปัจจุบันที่บอกกันว่าเป็นผลผลิตสดใหม่นั้นไม่ได้สดใหม่จริงๆ เพราะอย่างน้อยๆก็ต้องผ่านการเดินทางประมาณ 2,000 ไมล์โดยเฉลี่ยจากฟาร์มถึงร้านขายของชำ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าผู้คนจำนวนมากกำลังรับประทานผักกาดหอมหรือสตรอว์เบอร์รีที่เก่าแล้วเป็นสัปดาห์”
และด้วยการนำเทคโนโลยีมาผสานกับผู้ช่วยยุคใหม่อย่างหุ่นยนต์ จึงช่วยให้การทำฟาร์มเป็นไปอย่างละเอียดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการใช้หุ่นยนต์ในการทำงานนั้นมีข้อดีอยู่ที่ผู้ช่วยแบบนี้จะไม่รู้สึกเหนื่อย ไม่สนว่าทำงานไปแล้วกี่ชั่วโมง ตราบใดที่ยังมีแบตเตอรี่ก็จะสามารถลงมือต่อไปได้
แม้จะเป็นความคิดของบริษัทในต่างประเทศ ที่สำหรับผู้ประกอบการไทยอาจจะยังไม่ถึงขั้นต้องลงทุนมหาศาลและใช้หุ่นยนต์เข้ามาทำเกษตรแทนคนทั้งหมด แต่ก็ถือเป็นอีกไอเดียและไกด์ไลน์ให้กับเกษตรกรยุคใหม่ไม่มองข้ามตัวช่วยและเครื่องมือดีๆที่บ้านเราสามารถนำมาประยุกต์และปรับใช้ได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี