​Medtech ธุรกิจดาวเด่นเอเชีย! ส่งหุ่นยนต์ตอบโจทย์ตลาดสูงวัย







     การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของหลายประเทศในเอเชียโดยเฉพาะญี่ปุ่น และจีนกำลังเป็นปัจจัยที่เร่งให้เกิดการเติบโตในหลายธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือ medtech หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมถึงนวัตกรรมที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพโดยมีหุ่นยนต์ทางการแพทย์เป็นนวัตกรรมหลักช่วยส่งเสริม ไปดูสภาพสังคมแต่ละประเทศในเอเชียกันก่อน เริ่มที่ญี่ปุ่น ประเทศที่มากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรมีอายุเกิน 65 ปี ส่วนจีนและเกาหลีใต้กำลังเริ่มเข้าสู่สภาพการณ์เดียวกับญี่ปุ่น
               

     บริษัทวิจัยแมคคินซีย์คาดการณ์ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะแซงหน้ายุโรปและกลายเป็นตลาด medtech ที่ใหญ่สุดเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ โดยคาดว่าปี 2020 ธุรกิจ medtech ในเอเชียแปซิฟิกจะมีมูลค่า 133,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่บริษัทสแททิสต้าประเมินตลาดอุปกรณ์การแพทย์เอเชียแปซิฟิกจะมีมูลค่าราว 68,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนบริษัทวิจัยตลาดเอ็นเนอร์เจียสมองว่าอุตสาหกรรม medtech ในตลาดโลกในส่วนของหุ่นยนต์การแพทย์ที่มีมูลค่า 6,800 ล้านดอลลาร์ในปี 2017 จะเติบโตเพิ่มมูลค่าเป็น 21,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2024
               

     เจนิซ เจีย กรรมการผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งบริษัทเอจจิ้ง เอเชีย ที่ปรึกษาธุรกิจกล่าวว่านวัตกรรมใหม่ ๆ เช่นเครื่องมือที่ใช้มอนิเตอร์ทางการแพทย์ และเทคโนโลยีช่วยงานอย่างหุ่นยนต์จะทำให้บรรดาผู้สูงวัยใช้ชีวิตอย่างอิสระได้ยืนยาวขึ้น ทั้งนี้ รายได้ที่สูงขึ้น ความใส่ใจในสุขภาพที่มากขึ้น และการแพร่หลายของโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ และโรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูกที่มาพร้อมกับประชากรสูงวัยทำให้ผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขในเอเชียต้องหันมาพึ่งพาเครื่องทุ่นแรงเพื่อรองรับความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น  
               

     ญี่ปุ่นเป็นหัวหอกนำทีมการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม การค้า และเศรษฐกิจของญี่ปุ่นประเมินหุ่นยนต์ผู้ช่วยมีแนวโน้มจะมีบทบาทสูงขึ้นในการดูแลผู้สูงวัย และส่งผลให้ตลาดหุ่นยนต์ญี่ปุ่นเติบโตมีมูลค่า 400,000 ล้านเยนหรือราว 120,000 ล้านบาท หุ่นยนต์ผู้ช่วยที่นำมาใช้ในงานมีหลายแบบ ตั้งแต่ช่วยดูแลผู้สูงวัยอยู่เป็นเพื่อนเสมือนคนจริง ๆ ไปจนถึงหุ่นยนต์ใช้งานด้านการแพทย์ ข้อดีของหุ่นยนต์คือขีดความสามารถในการทำงานแบบทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถสั่งงานได้แบบอัตโนมัติ เหล่านี้ช่วยเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยเป็นอย่างดี 
               

     นอกจากนั้น หุ่นยนต์ผู้ช่วยยังเอื้อให้ผู้สูงวัยพึ่งพาผู้อื่นน้อยลง อย่างหุ่นยนต์ “Hug” ที่ผลิตโดยบริษัทฟูจิ แมชีน แมนูแฟคเจอริ่งมีคุณสมบัติสามารถพยุงผู้สูงวัยให้ลุกยืนและประคองจากเตียงไปยังเก้าอี้ล้อเข็นได้ หรือบริษัทอินโนฟิสที่ผลิตชุดที่เมื่อสวมใส่จะช่วยพยุงกระดูกและทำให้ผู้สูงวัยมีเรี่ยวแรงมากขึ้นในการทำกิจกรรม  
               

     ส่วนที่จีน ประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกเกือบ 1,400 ล้านคน สัดส่วนของประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีอยู่ที่ราว 10% ของจำนวนดังกล่าว รัฐบาลจีนได้ประกาศนโยบายและโครงการสนับสนุนนวัตกรรมด้านการแพทย์ มีการลงทุนในด้านนี้มากมาย จากที่โดดเด่นในด้านหุ่นยนต์บริการอยู่แล้ว เชื่อว่าจีนจะเป็นอีกตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจหุ่นยต์ผู้ช่วยทางการแพทย์ โดยจีนอาจเน้นการพัฒนาหุ่นยนต์ช่วยงานผ่าตัด หุ่นยนต์ช่วยฟื้นฟู (กายภาพบำบัด) และหุ่นยนต์จ่ายยา เป็นต้น
               

     รายงานระบุจีนเป็นตลาด medtech ใหญ่อันดับ 3 ของโลกรองจากญี่ปุ่น คาดว่าราวปี 2020 จีนอาจแซงหน้าญี่ปุ่น แม้ความต้องการเครื่องทุ่นแรงสำหรับผู้สูงวัยทั้งสองตลาดจะเพิ่มขึ้น แต่การขับเคลื่อนของภาคธุรกิจ medtech ของญี่ปุ่นกับจีนไม่เหมือนกัน ญี่ปุ่นได้แรงกระตุ้นจาก ”อาเบะโนมิกส์” หรือระบบการบริหารเศรษฐกิจสไตล์นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ที่พัฒนาธุรกิจนี้เพื่อผลักดันเศรษฐกิจประเทศให้เติบโต ขณะที่จีนนั้น โอกาสในการขยายตัวของอุตสาหกรรม medtech มีมากกว่าเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น โดยเป็นผลจากการปฏิรูปนโยบายสาธารณสุขของรัฐ
               

     อย่างไรก็ตาม ยังมีบางปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม medtech ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยรวม อาทิ ผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวกับ medtech ยังโฟกัสที่ผลิตภัณฑ์ระดับบน ทำให้เจาะตลาดทั่วไปไม่ได้ นอกจากนั้น หลายบริษัทในประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการจับธุรกิจนี้ยังขาดแคลนเงินทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์  และบางประเทศระบบโครงสร้างพื้นฐานไม่พร้อม ทำให้ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ หากอุปสรรคต่าง ๆ ได้รับการแก้ไข เชื่อว่าตลาด medtech ในภูมิภาคนี้มีโอกาสเฟื่องฟูแน่นอน
 

 
อ้างอิง
https://kr-asia.com/ageing-asia-spurs-rise-in-assistive-robots-tele-healthcare
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


 

RECCOMMEND: TECH

แสงตะวัน อ่อนน่วม พัฒนาแพลตฟอร์ม แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนให้ธุรกิจที่พักไซส์เล็ก

ปัญหาหนึ่งของธุรกิจโรงแรมเล็ก คือต้นทุนการดำเนินงานสูง และมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน แสงตะวัน อ่อนน่วม ซึ่งเห็น Pain Point ดังกล่าว จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Shin Platform Hotel Self-Service Solution ขึ้นมา เพื่อช่วยทดแทนแรงงานคน, บริษัท ชิบะรูม

เจ๋งป่ะล่ะ! AI ผู้ช่วยเชฟคนใหม่ เก็บข้อมูลทำเมนูสุดโปรดเสิร์ฟลูกค้า ช่วยสแกนเศษอาหาร ลดต้นทุน ลดขยะ

ปัจจุบันโลกเรามีการนำ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ มาใช้พัฒนา ปรับปรุงสิ่งต่างๆ ขึ้นมากมาย ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ ล่าสุดใครจะคิดว่า แม้แต่ถังขยะในครัวของโรงแรมและร้านอาหาร ก็มีการนำ AI เข้ามาใชั

Mewre น้ำดื่มเพื่อสุนัขและแมวเจ้าแรกของโลก จากไอเดียที่ไม่อยากให้น้องป่วย เมื่อผู้บริโภคไม่ได้มีแค่คนเท่านั้น

Mewre น้ำดื่มเพื่อสุนัขและแมวเจ้าแรกของโลก อีกหนึ่งสินค้านวัตกรรมที่ทำมาเพื่อตอบโจทย์ชาว Pet Parent หรือ การเลี้ยงสัตว์เหมือนลูก เป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว