CISCO รับมือโลกเปลี่ยน โดยไม่ยึดติดกับเทคโนโลยี







     เป็นเวลาถึง 35 ปีแล้วที่ ซิสโก้ (CISCO) ก่อตั้งขึ้นที่สหรัฐอเมริกา เบื้องหลังเกิดจากศาสตราจารย์ 2 คน จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่อยู่กันคนละคณะ แต่เกิดอยากจะคุยกัน จึงได้สร้างระบบขึ้นมาเพื่อใช้ในการสื่อสาร และนั่นเป็นจุดกำเนิดของเน็ตเวิร์กที่ทำให้ซิสโก้กลายเป็นผู้นำด้านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตระดับโลกมาจนถึงทุกวันนี้


     กว่า 3 ทศวรรษที่เติบโตมาในกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล แต่ วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน เผยว่า 5 ปีหลังมานี้ กลับเป็นช่วงที่ Digital Transformation ส่งสัญญาณแรงที่สุด จนทำให้ซิสโก้ตัดสินใจทรานส์ฟอร์มองค์กรครั้งใหญ่ เพื่อความอยู่รอดและพร้อมรับมือกับโลกที่เปลี่ยนไป ด้วยดิจิทัลเทรนด์ที่กำลังมาอย่าง SMAC ได้แก่ Social Media, Mobility, Analytics และ Cloud ฯลฯ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อองค์กรทั้งนั้น


     “ช่วงนั้นถึงกับมีคนบอกว่า ซิสโก้อาจจะไม่รอดด้วยซ้ำ พอมี Cloud ก็ไม่ต้องซื้อระบบ ทุกอย่างขึ้น Cloud หมด หรือกรณีอุปกรณ์ซอฟต์แวร์ (Software Device) ซึ่งเราไม่ได้ชำนาญเรื่องนี้ เพราะซิสโก้เป็นบริษัทฮาร์ดแวร์เป็นหลัก เราอาจจะผ่านจุดนั้นไปไม่ได้”
 

เปลี่ยน Mindset เปิดอนาคตธุรกิจ


     สุดท้ายซิสโก้ก็ผ่านจุดนั้นมาได้อย่างสง่างาม หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จของการอัพเกรดองค์กรสู่เวอร์ชันที่ดีที่สุดก็คือ ผู้นำ ช่วงที่ทรานส์ฟอร์มองค์กรนั้น เป็นจังหวะเดียวกับที่ Chuck Robbins ซีอีโอคนใหม่เข้ามารับตำแหน่งพอดี ซึ่งเมื่อผู้นำกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง เข็มทิศขององค์กรก็ยิ่งชัดเจนขึ้น สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นเด่นชัดคือ จากบริษัทฮาร์ดแวร์ ซิสโก้ เริ่มขับเคลื่อนสู่การเป็นบริษัทซอฟต์แวร์มากขึ้น


     3 ปีที่ผ่านมา ซิสโก้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างโมเดลธุรกิจไปแบบสิ้นเชิง วัตสันเล่าว่า ในอดีตนั้นบริษัทจำหน่ายฮาร์ดแวร์คู่กับซอฟต์แวร์ ชิปทุกชิ้นผลิตเองทั้งหมด แต่ปัจจุบันองค์กรเริ่มเปิดมากขึ้น โดยหันมาใช้ชิปบางส่วนของพาร์ตเนอร์ด้วย ทำให้ต้นทุนของฮาร์ดแวร์ลดลง ความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็หันมาพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยมองแยกส่วนจากฮาร์ดแวร์ที่มีอยู่เดิม ซอฟต์แวร์ของซิสโก้จึงสามารถทำงานบนฮาร์ดแวร์ของใครก็ได้ จะเห็นว่าเมื่อมายด์เซ็ตเปลี่ยน กำแพงข้อจำกัดต่างๆ ก็ทลายลง นอกจากนี้ ยังขยายโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ โดยขยายไปยังด้านความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ต (Cyber Security), TelePresence (ระบบการประชุมทางไกลเสมือนจริง), การบริหารจัดการสมรรถภาพของระบบ เพื่อให้ใช้งานแอปพลิเคชันมีการตอบสนองที่ดีไม่มีปัญหาระหว่างการใช้งาน (Application Performance Management)


     “ปัจจุบันเราย้ายไปยัง Software Subscription (เช่าใช้งาน) เพิ่มขึ้น เพราะเราต้องการความมั่นคงของรายได้ เดิมลูกค้าลงทุนซอฟต์แวร์ชุดหนึ่งอย่างน้อยหลักล้าน ซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ๆ ที่ออกมา สเกลจะเล็กลง ราคาปรับเหลือหลักแสน นอกจากต้นทุนลดลง ลูกค้าสมาชิกยังสามารถจ่ายในลักษณะ Pay-Per-Use คือ ใช้เท่าไรก็จ่ายเท่านั้นเป็นรายเดือน แม้รายได้องค์กรดูเหมือนจะลดลงมาก แต่อย่างน้อยเรามีรายได้ที่สม่ำเสมอ ชัดเจน มีความแน่นอนของแหล่งรายได้ ก่อนหน้านี้เรามีรายได้จาก Subscription ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ระบบสมาชิกสร้างรายได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้บริษัท”

 



เทคโนโลยีมาแล้วไป วัฒนธรรมยั่งยืนกว่า
               

     นอกเหนือจากมายด์เซ็ตของผู้นำ วัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง นับว่ามีส่วนสนับสนุนให้ซิสโก้รักษาความเป็นผู้นำไว้ได้อย่างเข้มแข็ง วัตสันเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีเรียนรู้และก้าวทันกันได้ แต่วัฒนธรรมองค์กรกว่าจะสร้างขึ้นมาได้ต้องอาศัยเวลา และเขาก็พยายามปลูกฝังวัฒนธรรมเหล่านี้ให้เป็น DNA ของคนรุ่นใหม่ที่ก้าวเข้าสู่องค์กรทุกคน


     “วัฒนธรรมองค์กรที่เป็นรากฐานความสำเร็จของซิสโก้คือ 1.Customer First เรายึดลูกค้าเป็นแกนหลักในการตัดสินใจทุกอย่าง 2.Innovation เราจะไม่พอใจในสิ่งที่เราเป็นอยู่ มีคำหนึ่งที่เสริมได้ดีคือ เราจะมี Healthy Paranoid คือ จะเป็นคนที่ตื่นตระหนกอยู่ตลอดเวลา เป็นความตื่นตัวที่ทำให้เราสุขภาพแข็งแรง ตลาดที่ซิสโก้เข้าไป เราจะต้องเป็นเบอร์ 1 หรือเบอร์ 2 เท่านั้น และต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา อย่างตลาด Software Device เราอาจจะมาหลังคนอื่นก้าวหนึ่ง แต่วันนี้เราแซงไปหลายๆ เรื่องแล้ว และเริ่มมองล้ำหน้าไปที่ Application Centric และ Cyber Security ซึ่งบางอย่างเราก็ไม่ได้พัฒนาเอง แต่ไปซื้อจากบริษัทอื่นมา หากมันจะสามารถทำให้ภาพรวมของซิสโก้สมบูรณ์มากขึ้น และ 3.เราไม่ยึดติดกับเทคโนโลยีที่มาแล้วเดี๋ยวก็ไป ไม่มีเทคโนโลยีไหนที่อยู่ค้ำฟ้า อย่างเมื่อ 15 ปีก่อนคนเชื่อว่าเทคโนโลยีเครือข่ายแบบ ATM จะมาแทนที่อินเทอร์เน็ต เช่นเดียวกับ WiMAX ที่จะมาแทน Wi-Fi แต่เรามองว่ามันจะไม่เกิดแน่ๆ ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น เพราะตัวกำหนดที่สำคัญคือ ลูกค้า ถ้า End Device ของลูกค้ายังเป็น Wi-Fi อยู่ WiMAX ก็ยากที่จะเกิด อีกอย่างชิปเซ็ตก็มีต้นทุนสูง การที่เราศึกษาทุกเทคโนโลยี และอ่านเกมขาด ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในซิสโก้เสมอมา”
 




สร้างทีมงานเจนใหม่ ใส่ใจความต้องการลูกค้า


     ช่วง 2-3 ปีมานี้ แพลตฟอร์มหลักที่ซิสโก้มุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า คือ 1.Network 2.Multi-Cloud Data Center 3.Data 4.Collaboration และ 5.Cyber Security ซึ่งตลาดในเมืองไทย ถือว่า Data ค่อนข้างไปไว ขณะที่ Cyber Security อาจอยู่หลังประเทศอื่นนิดหน่อย วัตสันบอกว่า เพื่อสนับสนุนให้ SME ใช้เทคโนโลยีในการรันธุรกิจ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น ซิสโก้จึงได้จัดทำสเกลของเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับการใช้งานของ SME โดยเฉพาะ ภายใต้โซลูชันที่เรียกว่า CISCO Start


     “ผู้ประกอบการภาคการผลิตจะเป็นกลุ่มที่มีความพร้อม และตื่นตัวสูงในเรื่องการใช้เทคโนโลยี ถัดมาจะเป็นกลุ่มบริการ เช่น ค้าปลีก และสุขภาพ วันนี้ SME สามารถสื่อสารกับลูกค้าหรือที่ปรึกษา ผ่านโปรแกรม WebEX บนมือถือหรือแท็บเล็ต เก็บข้อมูลลูกค้าผ่านโปรแกรม เพื่อนำไปวิเคราะห์ทำโปรโมชันในธุรกิจค้าปลีก อนาคตโลกจะมูฟไปที่ AR (Augmented Reality) กับ VR (Virtual Reality) มากขึ้น นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องมองหา 5G หรือ Software Device ที่มันเร็วขึ้น เพราะโลกของ VDO กำลังมา อีกหน่อยเราจะเห็นโรงงานหรือผู้ผลิต เริ่มนำ AR กับ VR มาใช้เป็นตัวช่วยในเรื่อง Remote Expert เมื่อผู้เชี่ยวชาญเริ่มหายาก และจะประจำอยู่ที่ศูนย์กลางเท่านั้น ระบบดังกล่าวจะมารองรับการพูดคุยหรือสอนงานให้กับคนที่อยู่หน้างานนั่นเอง”



     

     แม้จะเป็นบริษัทดิจิทัลและเทคโนโลยี แต่วัตสันเชื่อว่าลูกค้าและพนักงานในองค์กร คือ Key Success ที่ทำให้องค์กร อยู่หรือไปในอนาคต ส่วนเทคโนโลยีนั้นถือเป็นเรื่องรอง แต่ในโลกของการแข่งขัน แน่นอนว่าต้องมีการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ออกมาเสริมทัพไม่ขาดสาย เช่น เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งซิสโก้ก็เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งด้วย


     “องค์กรธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ควรจะต้องมีความพร้อมในหลายๆ เรื่อง เก่งเรื่องเดียวอาจไม่พอ ลูกค้าวันนี้ต้องการคนที่จะมาให้คำปรึกษาในภาพรวม ช่วยกันมองหลายๆ มิติ สิ่งที่เราย้ำเสมอคือ การสร้างทีมที่มองเห็นเทรนด์ตลาด และสามารถให้คำแนะนำแก่ลูกค้าได้ รวมทั้งเก็บข้อมูลเพื่อมาพัฒนาต่อยอดเทรนด์ใหม่ๆ ต่อไป ช่วงนี้เรากำลังรีเฟรชออฟฟิศใหม่ เป็น Co-Working Space ที่พร้อมรองรับการทำงานแบบ Fully Mobile รวมทั้งจัดเตรียม Tools สำหรับใช้งานนอกสถานที่ ก็หวังว่าจะดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาเป็นขุมกำลังสำคัญของซิสโก้ในอนาคต”  


     เพื่อรับมือกับโลกยุคใหม่ โดยไม่ยึดติดกับอะไรทั้งสิ้น แม้แต่...เทคโนโลยี



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: TECH

“จุลินทรีย์คึกคัก” นวัตกรรมกำจัดสารเคมีตกค้างบนดิน ตัวช่วยเกษตรกรประหยัดทุน ได้ธุรกิจยั่งยืน

จุลินทรีย์คึกคัก ตัวช่วยแก้ปัญหาสารเคมีตกค้าง สร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร ด้วยฝีมือคนไทยจากบริษัท ไบโอม จำกัด บริษัทที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงตอบโจทย์การทำธุรกิจแบบยั่งยืน

เทคนิคขายของออนไลน์อย่างไร ให้สต็อกไม่จม ออร์เดอร์ไม่หลุด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วง Double day หรือเทศกาลต่างๆ เป็นโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้ตักตวงออร์เดอร์มากกว่าช่วงเวลาปกติ แต่จะทำอย่างไรให้โอกาสเหล่านี้ไม่กลายเป็นวิกฤตสร้างปัญหาทางธุรกิจ เช่น สต็อกจม ส่งของไม่ทัน ทำให้สูญเสียลูกค้าในที่สุด

รู้จักเทรนด์ Hyper Automation ช่วย SME กำจัดงานซ้ำๆ น่าเบื่อให้หมดจากองค์กร

Automation หรือ "ระบบอัตโนมัติ" ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่อนาคตจะพัฒนาไปสู่ Hyper automation เพื่อช่วยกำจัดความยุ่งยากของการทำงานที่ซ้ำซากน่าเบื่อ และก่อนจะสายเกินไป เพื่อให้ธุรกิจตามทันเทคโนโลยี ลองมาทำความรู้จักกับเทรนด์นี้พร้อมกัน