​หุ่นยนต์มาแน่! เทรนด์ที่ SME ต้องพร้อมใช้





 

     แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ต่างประเทศเท่านั้นที่มีการตื่นตัวเรื่องของการนำหุ่นยนต์มาใช้ทำงานร่วมกับมนุษย์ บ้านเราเองก็เช่นกัน ซึ่งนอกจากการใช้ในไลน์ผลิต หรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่แล้ว ธุรกิจเล็กๆ อย่างผู้ประกอบการ SME เองก็ไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ลองมาพูดคุยถึงความสำคัญของผู้ช่วยยุคใหม่นี้กับ ล้ำบุญ สิมะขจรบุญ Local Business Unit Manager, Robotics บริษัท เอบีบี (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ระดับโลก กัน   
 

Q: ความสำคัญและการเปลี่ยนแปลงของการใช้หุ่นยนต์ที่เห็นนั้นเป็นยังไงบ้าง
 

     ล้ำบุญ: ในส่วนของอุตสาหกรรมแน่นอนจากเดิมที่เราใช้คนค่อนข้างมาก การผลิตยังไม่ค่อยอัตโนมัติ พอเราเริ่มนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ก็ถือว่าช่วยได้มาก จริงๆต้องบอกว่าการผลิตต้องการสิ่งที่เป็นอัตโนมัติมากขึ้น แต่เดิมอัตโนมัติอาจจะเป็นในลักษณะที่ว่าเราผลิตเป็นของใหญ่ๆซึ่งอาจจะไม่ต้องการความยืดหยุ่น แต่ปัจจุบันเราจะสังเกตว่าโปรดักต์หรือผลิตภัณฑ์หลายๆอย่างต้องการความยืดหยุ่นด้วย เช่น การผลิตน้ำขวดที่มีหลายขนาดไม่ว่าจะเป็นขนาดไซส์เล็ก ไซส์มินิ ไซส์จิ๋ว ไซส์กลาง ไซส์ใหญ่ เพราะฉะนั้นการผลิตแบบนี้ต้องหาเครื่องมือหรือตัวช่วยที่มีความยืดหยุ่นมาใช้ซึ่งตัวหุ่นยนต์ก็จะเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้


 

Q: จะเห็นว่ามีการพูดถึงหุ่นยนต์แบบแขนกลทั้งแบบแขนเดียวและสองแขนกันมากขึ้น แล้วหุ่นยนต์แบบนี้มีความแตกต่างและประโยชน์ยังไง
 

     ล้ำบุญ: แต่เดิมการใช้แรงงานคนเป็นเรื่องที่ทุกคนยังคุ้นเคยและค่าแรงต่างๆยังไม่ค่อยสูง เพราะฉะนั้นหุ่นยนต์ในช่วงแรกๆจะผลิตแบบแขนเดียวออกมาทำงาน เช่น ใช้ Transfer บ้าง ทำงานเชื่อมบ้าง ทำงานพ่นสีบ้าง แต่ปัจจุบันเราต้องการหุ่นยนต์เข้ามาทำงานในขั้นตอนหรือกระบวนการร่วมกันกับคน หุ่นยนต์ปกติที่ทำงานในไลน์อุตสาหกรรมก็ทำไป แต่หุ่นยนต์ที่ทำงานร่วมกันกับคนนั้นมีมากขึ้น เพราะฉะนั้นหุ่นยนต์ที่เป็นแบบสองแขนจะสามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดีกว่า เช่น นำมาใช้ในการประกอบที่มีชิ้นงาน 2 ชิ้น ประกอบแล้วอาจจะต้องโยนหรือส่งต่อให้กับ Process ถัดไปซึ่งอาจจะเป็นคนบ้างหรืออาจจะเป็นหุ่นยนต์ด้วยกันเองบ้าง เพราะฉะนั้นลักษณะงานแบบนี้ก็จะเหมาะกับการนำหุ่นยนต์แบบสองแขนเข้ามาใช้
 

Q: ฟังก์ชั่นสำคัญตอนนี้คืออยู่ที่การทำงานร่วมกันกับมนุษย์หรือ Collaborative
 

     ล้ำบุญ: ลักษณะหุ่นยนต์ที่เป็น Collaborative นั้นหมายความว่าหุ่นยนต์เหล่านี้มีความปลอดภัยสูงพอสมควรที่จะสามารถทำงานร่วมกับคนได้ เพราะฉะนั้นในร้านค้าก็ดี ในร้านสะดวกซื้อก็ดี ในอนาคตก็จะมีหุ่นยนต์ในลักษณะแบบนี้เข้ามาทำงานร่วมด้วย เพราะเวลาเขาทำงานเนี่ยปลอดภัยเพียงพอไม่ว่าจะเป็นแบบแขนเดียวหรือสองแขนที่เป็น Collaborative เวลาที่สัมผัสกับคนแล้วมีความปลอดภัยเพียงพอหรือพูดง่ายๆว่าไม่ทำให้คนบาดเจ็บนั่นเอง  
 


 

Q: คือหุ่นยนต์ประเภทนี้มีความแตกต่างจากเครื่องจักรในสมัยก่อน
 

     ล้ำบุญ: เครื่องจักรในสมัยก่อนนั้นก็เป็นหุ่นยนต์ เป็นเครื่องจักรที่ถ้าเราเอามือหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายไปอยู่ในช่วงของการทำงานของเขา เขาจะไม่รู้เลยก็จะชน จะเบียด จะตัดทำให้ร่างกายเราบาดเจ็บได้ แต่หุ่นยนต์ประเภท Collaborative นี้ไม่ใช่ เพราะจะมีตัวเซ็นเซอร์และการออกแบบของตัวแขนให้มีความปลอดภัย ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่แค่เซ็นเซอร์อย่างเดียว เซ็นเซอร์อย่างเดียวยังการันตีไม่ได้ว่าจะไม่ทำให้คนบาดเจ็บ ดังนั้นต้องนับรวมทุกอย่างตั้งแต่การออกแบบเลย เช่น แขนซึ่งแต่เดิมหุ่นยนต์ส่วนใหญ่จะเป็นแขนที่เป็นโลหะ แต่ปัจจุบันจะลดความเป็นโลหะลงและใช้วัสดุอื่นแทน เช่น ไทเทเนียม เพื่อให้มีน้ำหนักเบาขึ้นแล้วคลุมด้วยยางอีกที ดังนั้นต่อให้มากระทบหรือชนกับคนความปลอดภัยก็ยังมีเพียงพอ
 

Q: ในอนาคตอีกสักกี่ปีถึงจะเห็นภาพของการใช้หุ่นยนต์แบบนี้ในบ้านเราอย่างชัดเจน
 

     ล้ำบุญ: คิดว่าอีกไม่นาน เพราะมนุษย์ก็คงไม่อยากทำงานอะไรที่มันซ้ำๆ งานประจำที่เป็นกิจวัตรแบบนี้ อาจจะเบื่อ เพราะฉะนั้นคนส่วนใหญ่ก็ไม่อยากทำแล้ว พอไม่อยากทำก็ต้องมีหุ่นยนต์หรืออุปกรณ์อะไรสักอย่างมาทำงานแทน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการผิดพลาดทางการทำงานซ้ำๆ ของคนแล้ว การนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นในภาคส่วนของอุตสาหกรรม หรือบริษัทจะสามารถช่วยในเรื่องการลดต้นทุน การเพิ่ม Productivity หรือการเพิ่มผลผลิต เรื่องของความปลอดภัย รวมถึงเรื่องของการเหนื่อยล้าจากการทำงานที่จะทำให้ชีวิตการทำงานของพนักงานดีขึ้น    

 


Q: ในแง่ของผู้ประกอบการ SME จะรับเอาเทคโนโลยีอย่างหุ่นยนต์เข้ามาปรับใช้ยังไงได้บ้าง
 
 
     ล้ำบุญ
: ได้เยอะเลย อย่างหุ่นยนต์แขนกล จะสังเกตได้ว่าแขนของหุ่นนั้นก็จะเป็นแขนแบบทั่วๆไป ซึ่งทางผู้ประกอบการ SME สามารถที่จะทำการออกแบบฟังก์ชั่นการทำงานให้กับตัวหุ่นยนต์ได้ อย่างเช่น หุ่นยนต์ YuMi ของเราที่นำมาใช้ในการทำสายไหมได้เพียงวางระบบการทำงานพร้อมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้อย่างตัวตักน้ำตาล ถ้าหากใครไม่มีความรู้ก็จะมีบริษัทที่เรียกว่า System Indicator หรือ บริษัทที่ทำการ Indicate ระบบ ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะซัพพลายอุปกรณ์ ออกแบบดีไซน์อุปกรณ์ที่จะทำงานร่วมกันกับหุ่นยนต์ให้ได้ ซึ่งจะเป็นการ Added Value หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้มีมากขึ้น เพราะฉะนั้นคนที่เป็น SME ไม่จำเป็นที่ต้องผลิตหุ่นยนต์เองแต่อยู่ที่ว่าจะนำหุ่นยนต์ที่มีอยู่นั้นไปใช้งานยังไง เช่น หากจะเอาเข้าไปใช้ใน Process การทำขนมปังก็ต้องมาดูว่าจะทำยังไงได้บ้าง ซึ่งหุ่นยนต์แขนเปล่าๆมันยังทำไม่ได้ก็ต้องมีตัวจับ อุปกรณ์ที่จ่ายขนมปังเข้ามา พอเข้ามาแล้วจะให้หุ่นยนต์ทำอะไรบ้าง เสร็จแล้วจะออกไปยังไง เป็นต้น
 

Q: ถ้ามองในแง่ราคาผู้ประกอบการรายเล็กอย่าง SME จะสู้ไหวหรือไม่กับการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ในปัจจุบัน
 

     ล้ำบุญ: ได้แน่นอน เพราะเดี๋ยวนี้แม้จะเป็นผู้ประกอบการรายเล็กแต่จริงๆแล้วยอดขายของเขานั้นไม่ได้น้อยและมีกำลังซื้อ ทุกวันนี้ไม่มีคำถามที่ว่ามันจะคุ้มค่าไหมแล้ว เพราะคำถามวันนี้คือจะเอาหุ่นยนต์ที่มีไปใช้ยังไง ปัจจุบันหุ่นยนต์ทุกรูปแบบในบ้านเราจะมีประมาณ 3,000 – 4,000 ตัวต่อปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโดยตัวอุตสาหกรรมความคุ้มค่าในการลงทุนต่างๆมันได้แล้ว ดังนั้นเรื่องราคาไม่ใช่ประเด็นที่ SME จะสู้ไม่ได้ แน่นอนเราจะบอกว่าเรื่องของ Cost หรือต้นทุนไม่ใช่เรื่องสำคัญก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นก็ต้องพยายามออกแบบให้มีต้นทุนต่ำที่สุดแต่ทำงานได้ดีที่สุด 
 

     ดังนั้น เรียกได้ว่าเรื่องของการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในการทำธุรกิจของ SME นั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ผู้ประกอบการต้องรู้จักติดตามเทรนด์และสร้างสรรค์ไอเดียในการนำไปใช้เพื่อให้ผู้ช่วยอย่าง “หุ่นยนต์” เข้ามาเป็นอีกหนึ่งผู้ร่วมงานที่ทรงพลังและสร้างข้อได้เปรียบและความแข็งแกร่งให้กับการทำกิจการ  





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: TECH

จับตา 3 เทคโนโลยี ที่ช่วยติดสปีดธุรกิจให้ชนะคู่แข่ง 2568

ในยุคที่โลกหมุนเร็วนี้ 3 ปัจจัยสำคัญอะไรบ้างที่จะเปลี่ยนบทบาทของธุรกิจจากผู้นำให้กลายเป็นผู้ตามได้ หากไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

รวม 6 สตาร์ทอัพไทยพลิกโลก เปลี่ยนเกษตรดั้งเดิม สู่ Smart Farming

คาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มมากกว่า 9 พันล้านคนในปี 2050 เป็นโอกาสของธุรกิจเกษตรและการผลิตอาหารครั้งใหญ่ของไทย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม วันนี้ชวนมารู้จัก 6 สตาร์ทอัพไทยสายเกษตรที่ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือ เพื่อช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาธุรกิจเกษตรไทยมาฝากกัน

แสงตะวัน อ่อนน่วม พัฒนาแพลตฟอร์ม แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนให้ธุรกิจที่พักไซส์เล็ก

ปัญหาหนึ่งของธุรกิจโรงแรมเล็ก คือต้นทุนการดำเนินงานสูง และมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน แสงตะวัน อ่อนน่วม ซึ่งเห็น Pain Point ดังกล่าว จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Shin Platform Hotel Self-Service Solution ขึ้นมา เพื่อช่วยทดแทนแรงงานคน, บริษัท ชิบะรูม