Cr :unsplash
หากเอ่ยถึงชื่อ ‘เอสโตเนีย’ หลายคนอาจไม่คุ้นหูเท่าไหร่นัก เพราะเป็นประเทศเกิดใหม่ที่มีอายุได้เพียง 27 ปี โดยเพิ่งได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียตในปี 1991 แต่ประเทศเล็กๆ แห่งนี้ที่มีประชากรเพียง 1.3 ล้านคน กลับถูกพูดถึงขึ้นมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ ในฐานะประเทศที่นำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้พัฒนาประเทศได้อย่างสมบูรณ์ โดยกว่าร้อยละ 98 ของการทำนิติกรรมและธุรกรรมต่างๆ ตั้งแต่การแจ้งเกิด การเลือกตั้ง จดทะเบียนก่อตั้งบริษัท เปิดบัญชีธนาคาร ฯลฯ สามารถทำผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด เหลืออยู่เพียงไม่กี่อย่างเท่านั้นที่ต้องใช้การแสดงตัวตนจริงจึงจะสามารถทำธุรกรรมได้
จากการมุ่งผลักดันประเทศให้ก้าวสู่สังคมดิจิทัล และปลูกฝังทุกอย่างให้สามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้ โดยมีการประกาศให้อินเตอร์เน็ตกลายเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับตั้งแต่ปี 2000 จึงไม่แปลกที่ประชากรของเอสโตเนียจะคุ้นชินกับโลกดิจิทัล จนทำให้มีบริษัทด้านไอทีใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย กลายเป็นคลังความรู้ใหม่ของโลก ทำให้หลายประเทศต้องหันกลับมามองและเข้ามาศึกษาเรียนรู้ เพื่อนำไปพัฒนาประเทศของตนต่อไป
จากการนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้พัฒนาประเทศจนประสบความสำเร็จได้นั้น ดร.วีระชัย เตชะวิจิตร์ กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์แห่งสาธารณรัฐเอสโตเนีย ประจำประเทศไทย ได้กล่าววิเคราะห์ไว้ว่ามาจากระบบการทำงาน 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่
1.Confidentiality E-ID การเก็บข้อมูลและยืนยันตัวตนของประชากรแต่ละบุคคล โดยผ่านบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีระบบแม่นยำ เชื่อถือได้
2.Data Exchange X-Road (UXP) ความปลอดภัยขั้นสูงในการส่งผ่านข้อมูลความเป็นส่วนตัว เพื่อการทำธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่รั่วไหล
3.Data Integrity Blockchain (KSI) ฐานการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ ที่รวบรวมการทำนิติกรรมและธุรกรรมทุกอย่างที่แน่นหนา ปลอดภัย ไม่สามารถเจาะเข้ามาเพื่อแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้
Cr :unsplash
“นี่คือ 3 องค์ประกอบหลักที่เป็นหัวใจสำคัญของการใช้พัฒนาประเทศสู่ระบบดิจิทัลของประเทศเอสโตเนียได้อย่างสมบูรณ์ เพราะหากขาดข้อใดข้อหนึ่งไปจะทำให้ประชาชนไม่กล้าใช้ระบบ e-Governance นี้เลย ซึ่งเริ่มมีการใช้มาตั้งแต่ปี 2002 ทำให้ประชาชนไม่ต้องปรากฏตัวเพื่อทำนิติกรรมและธุรกรรมต่างๆ ซึ่งกว่าร้อยละ 98 ตอนนี้ประชากรของเอสโตเนียทุกคนนิยมทำเอกสารทุกอย่างของทางราชการผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด ยกเว้นอยู่ไม่กี่อย่างที่ต้องแสดงตัวตน ได้แก่การจดทะเบียนสมรส-ทะเบียนหย่า และการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
แต่อัพเดตล่าสุด คือ ระบบโฉดอิเล็กทรอนิกส์เขาก็ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นปลายปีนี้อาจเป็นอีกข้อหนึ่งที่ยกเลิก ไม่ต้องให้มาปรากฏตัวก็สามารถทำธุรกรรมได้ และในที่สุดก็จะกลายเป็นประเทศที่เข้าสู่ระบบสังคมดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์ โดยหากรัฐบาลหรือองค์กรเอกชนใดสามารถทำได้แบบนี้ ก็จะสามารถพัฒนาประเทศหรือองค์ให้เติบโต ก้าวหน้าได้เหมือนเช่นประเทศเอสโตเนียเช่นกัน”
กงสุลใหญ่ฯ แห่งสาธารณรัฐเอสโตเนียกล่าวอีกว่าสิ่งที่ประเทศเอสโตเนียพยายามทำนั้น ไม่เพียงแต่เป็นการผลักดันประเทศให้ก้าวสู่การเป็น Smart Country ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยลดการทุจริตให้เกิดขึ้นด้วย เพราะทุกอย่างถูกจัดเก็บเป็นข้อมูลไว้อย่างชัดเจนผ่านระบบออนไลน์ ทำโอกาสที่จะรั่วไหลสามารถเกิดขึ้นได้น้อย
“สิ่งที่เอสโตเนียพยายามทำ คือ เขาไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ด้วยความเป็นประเทศเล็กและเกิดใหม่ ดั้งนั้นเขาจึงต้องหาจุดเด่นให้กับตัวเองเพื่อทำให้แจ้งเกิดให้ได้ อาจโชคดีว่าผู้นำประเทศเขาของส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ นายกรัฐมนตรีคนแรกของเอสโตเนียอายุเพียง 32 ปี จึงทำให้มีวิสัยทัศน์และเล็งเห็นว่าอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยี คือ สิ่งสำคัญของโลกยุคอนาคต จึงพยายามเตรียมโครงสร้างพื้นฐานทุกอย่างให้พร้อม จนทำให้จากประเทศเล็กๆ กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วขึ้นมาได้ในระยะเวลาเพียงไม่ถึงสามสิบปี ผู้ใหญ่ในราชการเขาก็เก่งมาก เห็นใครหน่วยก้านดีหน่อยเก่งๆ ในวงราชการก็จะแนะนำให้ไปตั้งบริษัทของตัวเอง เพื่อพัฒนาประเทศ ซึ่งบ้านเขาสามารถทำได้อย่างโปร่งใส เพราะทุกอย่างถูกเก็บรักษาและแสดงไว้ในระบบดิจิทัลล็อคทั้งหมด ดังนั้นเราจึงเห็นหลายบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาจากอดีตข้าราชการและนักการเมือง นี่คือ ความสำเร็จที่เกิดขึ้น กระทั่งปัจจุบันนี้มีประเทศแล้วกว่า 66 แห่งทั่วโลกที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานระบบ e-Governance ของเอสโตเมีย เพื่อต้องการเรียนรู้ว่าจะสามารถเปลี่ยนประเทศให้กลายเป็นระบบดิจิทัลได้อย่างไร”
Cr :unsplash
และนี่คือ บทสรุปความสำเร็จที่เกิดขึ้นของประเทศเล็กๆ ที่มีชื่อว่า เอสโตเนีย ซึ่งหากลองมองในมุมของการทำธุรกิจแล้ว เอสโตเนียก็เปรียบเหมือนกับ SME ตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หากลองนำมาเปรียบเทียบในด้านต้นทุนแล้วแทบจะไม่มีอะไรที่สามารถสู้กับประเทศมหาอำนาจหรือคู่แข่งยักษ์ใหญ่ได้เลย แต่สิ่งที่เอสโตเนียมี คือการเป็นเลือดนักสู้ที่แม้จะตัวเล็กกว่า แต่กลับไม่ยอมแพ้ง่ายๆ พยายามมองหาจุดเด่นให้กับตัวเอง แล้วนำเสนอสิ่งนั้นให้ชัดเจน อย่างการใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวสร้างความเป็นประเทศดิจิทัล จนทำให้คนทั่วโลกต้องพูดถึง เรียกได้ว่า จุดแข็งที่เอสโตเนียสร้างขึ้นให้กลับตัวเองนั้น สามารถกลบจุดอ่อนจุดด้อยของความเป็นประเทศเล็กๆ เกิดใหม่ไปได้
สำหรับผู้ประกอบการ SME ไทยก็เช่นกัน ถ้าวันนี้คุณยังหาจุดแข็งของตัวเองไม่เจอ จงพยายามหาให้พบ หรือถ้าคุณสามารถสร้างจุดแข็งให้ธุรกิจขึ้นมาได้แล้ว ก็จงหมั่นเติมความแกร่ง ความเจ๋งให้มากขึ้น ทำให้ชัดขึ้น ทำให้ดีขึ้นยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะถ้าวันใดที่จุดแข็งของธุรกิจคุณ ชัดเจนในสายตาลูกค้า ถึงคุณจะเป็นแบรนด์ใหม่ หรือธุรกิจเล็กๆ ทุกคนก็พร้อมจะหันมามอง แบบเดียวกับประเทศเล็กๆ เกิดใหม่ที่แทบจะไม่มีใครรู้จักอย่าง เอสโตเนีย ที่วันนี้กลายมาเป็นประเทศที่ใครๆ ก็ต้องหันมามองนั่นเอง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี