ในปัจจุบันอุตสาหกรรมต่างๆ มีการแข่งขันรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ กลยุทธ์หนึ่งที่ช่วยผู้ประกอบการแข่งขันได้ในตลาดโลกคือ อาศัยความสามารถเชิงเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industry) โดยเฉพาะด้านการออกแบบและจัดสร้างระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมาองค์ความรู้ด้านนี้ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศที่มีราคาแพง และมีค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาสูง อีกทั้งผู้ประกอบการยังขาดความรู้ความเข้าใจและยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีเหล่านี้
ด้วยเหตุนี้ กสอ.จึงได้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านกระบวนการผลิตอัตโนมัติขึ้นเพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการ SME หรือประชาชนทั่วไป ให้เข้ามาสัมผัสกับเทคโนโลยีและเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ๆ ในกระบวนการผลิต และที่สำคัญที่สุด กสอ.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรเพื่อเป็น System Integrator ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญในการยกระดับการผลิต โดยเฉพาะนักศึกษาในภาคอุตสาหกรรมที่จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในอนาคต
จากการเปิดเผยของ วัชรุน จุ้ยจำลอง ผู้อำนวยการกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้ด้านกระบวนการผลิตอัตโนมัติ (Learning Factory) แห่งนี้ นอกจากนักศึกษาและผู้ประกอบการจะได้เห็นระบบการทำงานทั้งโรงงานว่ามีการจัดการอย่างไร ตั้งแต่การเก็บข้อมูล การติดตามตรวจสอบข้อมูล รวมถึงการใช้งานเครื่องจักร ซึ่งเป็นการดึงเอาองค์ความรู้จากต่างประเทศมาทำให้เห็น ทางศูนย์ยังได้จัดทำหลักสูตรการอบรมเกี่ยวกับระบบอัตโนมัติต่างๆ ซึ่งเป็นการพัฒนาหลักสูตรตามความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญจากทั้ง 2 สถาบัน คือ บริษัทเด็นโซ่ คอร์เปอเรชั่น และสถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) เปิดเป็นคอร์สสำหรับ นักศึกษา ผู้ประกอบการ SME หรือผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาได้
ด้าน ถาวร ชลัษเฐียร ประธานบริหารสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ บริษัท เดนโซ่ คอร์ปอเรชั่น กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัท เดนโซ่ คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบบ Lean Automation และประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากเดนโซ่ ถือว่าเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อช่วยวางรากฐานระบบอัตโนมัติที่สำคัญให้กับภาคการผลิตของประเทศ
โดยในระยะแรกศูนย์เรียนรู้ด้านกระบวนการผลิตอัตโนมัติมีการเปิดอบรมหลักสูตร Lean Automation โดยบริษัท เดนโซ่ คอร์ปอเรชั่น สำหรับบุคลากร 4 ระดับ ได้แก่ 1.หลักสูตรพัฒนาศักยภาพของวิศวกร โดยมุ่งเป้าไปที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยและวิศวกรหัวหน้างานในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อที่จะได้นำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดให้นักศึกษาและพนักงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตให้ครอบคลุมที่สุด 2.หลักสูตรพัฒนาระบบ System Integrator (SI) เพื่อยกระดับการทำงานไปสู่ระบบอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบในทุกขั้นตอน 3.หลักสูตรสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคนิค หรืออาชีวศึกษา เพื่อให้มาเรียนรู้หาประสบการณ์ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานหลักจบการศึกษา และ 4.บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในอนาคตเราจะยกระดับการทำงานของคนกลุ่มนี้จากการทำงานเครื่องจักรเดี่ยวไปสู่ระบบอัตโนมัติที่กระบวนการผลิตทุกส่วนเชื่อมต่อกัน
สำหรับหลักสูตรนี้จะมีการอบรมตั้งแต่การออกแบบไลน์การผลิตแบบ Lean Automation และหลักการในบำรุงรักษา โดยหลักสูตรใช้เวลาอบรม 132 ชั่วโมง แบ่งเป็นทฤษฎี 30 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติ 70 ชั่วโมง และในปีนี้ซึ่งเป็นปีแรกที่เราทำโครงการร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่นการจัดอบรมยังไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายใดๆ
ทั้งนี้ หลักสูตรของศูนย์เรียนรู้ด้านกระบวนการผลิตอัตโนมัติ (Learning Factory) เป็นหลักสูตรที่เน้นทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติควบคู่กัน โดยจะทำการอบรมไปพร้อมๆ กับสาธิตและฝึกการใช้เครื่องไปในคราวเดียวกัน การอบรมมีจำนวน 4 รุ่น รุ่นละ 10 คน ใช้ระยะเวลาอบรมรุ่นละ 3 วัน สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เรียนรู้ด้านกระบวนการผลิตอัตโนมัติ (Learning Factory) สถานที่ตั้งอยู่ภายในศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center หรือ ITC) ซอยตรีมิตร ถนนพระรามที่ 4 กรุงเทพฯ เว็บไซต์ www.itc.or.th
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี