Cr : sir. nim
เมื่อการเติบโตของสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) กลายเป็นอีกตลาดที่น่าจับตาบวกกับการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่งของเทคโนโลยี ทำให้วันนี้การใช้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์มีบทบาทมากขึ้นในการเข้ามาช่วยดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคกลุ่มนี้
การเติบโตของคนสูงวัยในตลาดโลก
จากรายงาน World Population Prospect : The 2017 Revision ขององค์การสหประชาชาติมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2560 จำนวนผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปของโลกนั้นอยู่ที่ 962 ล้านคน คิดเป็น 13 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรโลกทั้งหมดและมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งทวีปยุโรปมีสัดส่วนของกลุ่มผู้สูงอายุมากที่สุดอยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์ และด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วของกลุ่มผู้สูงอายุทั่วโลกนั้น ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า ภายในปี 2593 ทุกทวีปของโลกยกเว้นทวีปแอฟริกาจำนวนประชากรสูงอายุจะคิดเป็น 1 ใน 4 หรือมากกว่าของประชากรทั้งหมด
นอกจากนี้ หากมองกันในแง่ของตัวเลข ทางยูเอ็นยังมีการคาดการณ์ว่า จำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปทั่วโลกจะอยู่ที่ 1.4 พันล้านคนในปี 2573 และ 2.1 พันล้านคนในปี 2593 และจะเติบโตเพิ่มถึง 3.1 พันล้านคนในปี 2643 ในขณะเดียวกันจำนวนผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไปจะเติบโตจาก 137 ล้านคนในปี 2560 ไปสู่ 425 ล้านคนในปี 2593 และ 909 ล้านคนในปี 2643
Robot & AI อีกหนึ่งตัวช่วยรับเทรนด์ Aging Society
ด้วยอายุที่มากขึ้นส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานด้านกระบวนการทางความคิดนั้นลดลงซึ่งสามารถกระทบถึงสุขภาพและความสุขในการใช้ชีวิตได้ นอกจากนี้การใช้ยารักษาโรคบางตัวอาจมีผลข้างเคียงต่อตัวผู้สูงอายุ ดังนั้นการนำเอาเทคโนโลยีอย่างหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เข้ามาเป็นตัวช่วยป้องกันโรคหรืออำนวยความสะดวกในด้านต่างๆให้แก่บุคคลกลุ่มนี้ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกและตอบโจทย์ตลาดได้มากขึ้น
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคงหนีไม่พ้นญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นประเทศที่มีความเข้าใจและตื่นตัวในเรื่องของสังคมผู้สูงอายุมาอย่างยาวนานและถือเป็นผู้นำของโลกในการพัฒนาหุ่นยนต์และเทคโนโลยีต่างๆออกมาเพื่อช่วยเหลือและให้การดูแลกับประชากรสูงวัยกลุ่มนี้
ไอเดียตลาดไทย กับ AIM Robot หุ่นยนต์เพื่อนผู้สูงอายุ
ไม่ใช่แค่ต่างประเทศเท่านั้นที่มีการนำเอาเทคโนโลยีอย่างหุ่นยนต์หรือเอไอเข้ามาช่วยดูแลผู้สูงอายุ ประเทศไทยเราเองก็เช่นกันที่มีการคิดค้น AIM Robot หุ่นยนต์เพื่อนผู้สูงอายุ ตัวช่วยป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมเพื่อตอบสนองกับเทรนด์การเติบโตของผู้บริโภคกลุ่มนี้ภายใต้การนำของ รศ. ดร. ปัณรสี ฤทธิประวัติ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Cr: AIM Robot
“สำหรับโปรเจกต์ AIM Robot นั้นเป็นการต่อยอดการใช้งานจากเมื่อก่อนที่ใช้เป็นเครื่องมือช่วยครูสอนเด็กออทิสติกมาสู่การปรับเรื่องของซอฟต์แวร์และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเจาะไปยังตลาดผู้สูงอายุที่มีขนาดใหญ่และมีการเติบโตที่มากกว่า อย่างในเมืองไทยจำนวนเด็กออทิสติกที่มีการลงทะเบียนจะอยู่ที่ 400,000 คน ในขณะที่จำนวนผู้สูงอายุนั้นมีประมาณ 10 ล้านคน เพราะฉะนั้นการขยายตลาดไปจับกลุ่มที่มีขนาดใหญ่กว่าจะทำให้ได้ฐานลูกค้ามากขึ้นและดึงดูดนักลงทุนให้สนใจในตัวโปรเจกต์ได้ดีกว่า”
โดยตัว AIM Robot หุ่นยนต์เพื่อนผู้สูงอายุนั้นมาพร้อมกับ 4 ฟังก์ชั่นการใช้งานได้แก่ เกมฝึกสมองเพื่อช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อม (Dementia) ฟังเพลง ฟังธรรมะและการออกกำลังกาย อีกทั้งยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาฟังก์ชั่นเชิงวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้สูงอายุว่าในวันหนึ่งๆมีกิจวัตรหรือทำกิจกรรมอะไรบ้าง
“ฟังก์ชั่นการใช้งานที่มีโดยเฉพาะตัวเกมฝึกสมองถือเป็นส่วนสำคัญและเป็นสิ่งที่ทางเราเน้นและต้องการให้ผู้สูงอายุได้ใช้ฝึกสมองเพราะว่าปกติผู้สูงอายุเองจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นภาวะสมองเสื่อมสูงอยู่แล้ว ตัวเกมนี้จะเข้ามาช่วยในการป้องกันภาวะดังกล่าว ส่วนฟังก์ชั่นที่เหลือจะเป็นเรื่องของตัวกิจกรรมที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้เพลิดเพลิน ในส่วนของฟังก์ชั่นที่เป็นเชิงวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้สูงอายุนั้นจะมีการนำเอาเอไอเข้ามาใช้เพื่อเก็บข้อมูลว่าผู้สูงอายุทำกิจกรรมอะไรบ้างในแต่ละวัน หรือสามารถดูได้ว่าเมื่อถึงเวลาที่ต้องทานยาตามกำหนดเขาทานยาจริงไหม หรือว่าให้ออกกำลังกายแล้วเขาออกจริงไหม”
สำหรับกลุ่มเป้าหมายของโปรดักต์จะเน้นไปที่ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปเพราะมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีหรือสมาร์ทโฟนซึ่งจะทำให้ใช้หุ่นยนต์นี้ได้ง่ายและสะดวกกว่ากลุ่มที่มีอายุ 70 ขึ้นไปที่ความคุ้นเคยในเรื่องของเทคโนโลยียังไม่สูงพอและอาจจะยังไม่กล้าพอที่จะใช้เทคโนโลยี และด้วยจุดประสงค์ของการป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมการได้เริ่มใช้งานหุ่นยนต์ตัวนี้ตั้งแต่เนิ่นๆจะทำให้เกิดประสิทธิภาพได้มากกว่า
Cr: AIM Robot
.
นอกจากนี้ศูนย์ผู้สูงอายุโดยเฉพาะของภาคเอกชนยังเป็นเป้าหมายหลักของการนำเสนอตัวโปรดักต์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของศูนย์ที่กำลังมองหาเทคโนโลยีที่สามารถเข้าไปเป็นตัวช่วยและเป็นเพื่อนให้กับผู้สูงอายุอีกด้วย หากโปรเจกต์นี้ออกมาอย่างเสร็จสมบูรณ์ทุกกระบวนการแล้วคาดจะให้บริการแบบเช่ารายเดือนมากกว่าขายขาด ซึ่งอาจคิดค่าบริการอยู่ที่ประมาณ 2,000 – 3,000 บาทต่อเดือน
มาถึงตรงนี้ รศ. ดร. ปัณรสี กล่าวเสริมว่า ตลาดผู้สูงอายุเป็นตลาดที่มีการเติบโตไม่ใช่เฉพาะแค่ในประเทศไทยแต่เป็นทั่วโลก เพราะฉะนั้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ถือเป็นสิ่งสำคัญ และหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของเอไอที่นับเป็นคำตอบของเทรนด์ในปัจจุบัน
“ทุกวันนี้การทำธุรกิจต้องมีการปรับตัวไม่อย่างนั้นจะเป็นเรื่องยากที่จะทำการแข่งขันในตลาด เพราะว่าเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างเร็ว คู่แข่งในตลาดตอนนี้ก็แอคทีฟกันทั้งนั้นซึ่งไม่ใช่แค่ในบ้านเราเท่านั้นแต่ยังเป็นในต่างประเทศด้วย ดังนั้นเจ้าของธุรกิจก็ต้องมองหาแล้วว่าจะทำยังไงถึงจะยืนหยัดอยู่ในตลาดได้ จะใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีอะไรเข้ามาช่วยเพื่อให้การทำงานมีความรวดเร็วขึ้นหรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งงานบางงานอาจจะไม่สามารถทำด้วยคนเหมือนเดิมได้แล้ว อาจต้องใช้คอมพิวเตอร์ เอไอหรือหุ่นยนต์เข้ามาช่วย อย่างไรก็ตามการใช้เทคโนโลยีหรือเอไอเข้ามาช่วยนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจที่ต้องหาช่องทางที่เหมาะสมเพราะเอไอสามารถนำไปใช้ได้ในหลายๆส่วน ต้องดูว่าธุรกิจเขาเป็นยังไง มีลักษณะแบบไหน เขามีความพร้อมที่จะให้เอไอเข้าไปช่วยตรงส่วนไหนซึ่งต้องมีการปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจนั้นๆ”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี