สุรางคณา วายุภาพ เดินหน้า 5 โปรเจกต์ยักษ์ ดันประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล





 
     ครบรอบ 7 ปีเต็ม สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้การกำกับดูแลกุมบังเหียนของ สุรางคณา วายุภาพ ซีอีโอหญิงคนแรกและคนปัจจุบันอยู่ในขณะนี้ กับภารกิจพัฒนาการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศทุกระดับให้มีความสะดวก มั่นคงปลอดภัยและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น มาในวันนี้กับภารกิจที่เพิ่มมากขึ้นจากการขยายการเติบโตของโลกออนไลน์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชีวิตของผู้คนยุคนี้มากยิ่งขึ้น จนส่งผลกระทบต่อไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ETDA ในวันนี้จึงได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นจากผู้ที่คอยอยู่เบื้องหลัง ทำหน้าที่ดูแลระบบหลังบ้าน ก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคอยผลักดันนโยบายสำคัญด้านเทคโนโลยี วางกลยุทธ์พัฒนาประเทศให้ก้าวเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ทิศทางต่อจากนี้ไปจะเป็นอย่างไรนั้น ซีอีโอหญิงคนเก่งได้เปิดบ้านร่วมพูดคุยเผย 5 โครงการยักษ์ใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้
 

7 ปีที่ผ่านมาของ ETDA กับภารกิจส่งเสริมพัฒนาด้านไอทีให้กับประเทศเป็นอย่างไรบ้าง
 
     “ETDA ที่ผ่านมาในช่วงปีแรกๆ เราดูแลเรื่องการจัดวางโครงสร้างระบบต่างๆ มากซะจน คนนึกไม่ถึงว่าเราทำอีคอมเมิร์ซด้วย จน 4 ปีให้หลังจากที่ระบบต่างๆ เริ่มเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้นแล้ว เราจึงมามุ่งพัฒนาด้านอีคอมเมิร์ซมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงเอกสารสำคัญๆ ด้านอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งช่วยทำให้อีคอมเมิร์ซสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นด้วย”
 

ในปีที่ผ่านมา ETDA มีการส่งเสริมด้านอีคอมเมิร์ซอย่างไร
 
     “ETDA เราพยายามเดินหน้าและผลักดันให้การทำอีคอมเมิร์ซในประเทศให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อนำประเทศไทยสู่ Thailand 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล เช่น การผลักดันผู้ประกอบการ SMEs Go Online ไปแล้วเกือบ 20,000 ราย ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ผลักดันให้เข้าสู่อีมาร์เก็ตเพลสชั้นนำ และสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 200 ล้านบาท พร้อมจัดงาน Thailand e-Commerce Week 2017 ที่ทำให้เกิด Business Matching กว่า 150 ล้านบาท การผลักดันโครงการ e-Tax Invoice by Email เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการจัดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มขนาดเล็กที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท ซึ่งมีการใช้ไปแล้ว 18,000 ฉบับ รวมทั้งการยกระดับงานด้าน Cybersecurity ซึ่งมีการติดตั้งระบบ Government Monitoring System เพื่อเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยและบริการที่น่าเชื่อถือแก่ระบบไอทีหน่วยงานรัฐ ไปแล้ว 200 หน่วยงาน ฯลฯ”
 

ETDA กำลังเตรียมผลักดันโครงการใหญ่ให้เกิดขึ้นในปีนี้และปี 2562
 
     “ใช่คะ เราได้มีการจัดเตรียมผลักดัน 5 โครงการใหญ่ให้เกิดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแท้จริง ได้แก่ 1.โครงการ Cybersecurity Park in EEC สู่ความเป็นฮับด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของอาเซียน 2.Digital Tourism เพื่อการลดความเหลื่อมล้ำสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น เพื่อต่อยอดสู่ตลาด e-Commerce 3.การจัดตั้ง Durian Platform และเป็นทางเลือกใหม่เพื่อ Creator ไทย 4.จัดตั้งสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ เพื่อดูแลคอนเทนต์ไทยที่มีมูลค่าสูงกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี และ 5.National Digital ID เพื่อใช้ยืนยันตัวตนในการรับบริการต่าง ๆ ของรัฐและเอกชน”
 




แต่ละโครงการมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างไร
 
     “อย่างโครงการ Cyberseucurity Park in EEC โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบนิเวศด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ใน Digital Park Thailand หรือเมืองนวัตกรรมที่เทศบาลแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ศูนย์กลางการลงทุนและการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านดิจิทัล รวมถึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางด้านการสื่อสารความเร็วสูงของไทย เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานีดาวเทียมและสถานีเคเบิลใต้น้ำที่เป็นเส้นทางหลักของการเชื่อมไฟเบอร์ออปติคภายในประเทศกับต่างประเทศ ทั้งนี้ เราได้จัดตั้งศูนย์บริการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Security Operation Center – SOC) ขึ้นเพื่อให้บริการแก่หน่วยงานใน Digital Park Thailand”
 
 
     “การทำงานตรงนี้ ไม่ได้ทำแค่เราคนเดียว แต่ยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยต่างๆ ในการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงต่อยอดไปสู่การสร้างให้เกิดผู้ประกอบการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ใหม่ และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อการพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมด้านนี้เพิ่มมากขึ้นด้วย”
 

สำหรับโครงการ Digital Tourism จะมีการนำดิจิทัลมาพัฒนาการท่องเที่ยวได้อย่างไร
 
     “เรามองว่าการท่องเที่ยวในเมืองไทยนั้น ยังมีแหล่งท่องเที่ยวหรือที่พักเล็กๆ เช่น โฮมสเตย์ในชุมชนต่างๆ อยู่อีกมาก จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาก็มีจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ที่พักเล็กๆ เหล่านั้นไม่สามารถนำเอาขึ้นมาร์เก็ตเพลสได้เอง ทำให้ต้องเสียส่วนแบ่งรายได้ เปอร์เซ็นต์ในการโปรโมทให้กับบริษัทที่เป็นตัวกลางต่างๆ ทั้งที่เราเป็นเจ้าของทรัพยากร ETDA จึงได้มีการหารือถึงความร่วมมือในระดับนโยบายกับทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย ETDA จะทำเครื่องมือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอาจจะเป็นรูปแบบของ Mobile Application หรือ Digital Platform”
 

     “โดยมีแนวทางการดำเนินงาน คือ 1. การทำ Big Data Analytic หรือวิเคราะห์ข้อมูลจากนักท่องเที่ยวตัวอย่างจำนวน 1 ล้านรายใน 3 เดือน เพื่อวัดผลและใช้กำหนดนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ 2. Tourism Report เป็นช่องทางในรับแจ้งเรื่องร้องเรียนต่างๆ ที่เกิดจากการท่องเที่ยว และ 3. Promotion เพื่อเป็นช่องทางส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยว เช่น ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว สินค้า และบริการ ผ่านสื่อดิจิทัล (Digital Content และ Story Telling) ในแต่ละชุมชน รวมถึงการแจ้งข่าวเหตุการณ์สำคัญ และPromotion ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถต่อยอดขยายเป็น e-market place สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการทางออนไลน์ผ่านช่องรับชำระเงินภายในประเทศด้วย
 

     “ที่ผ่านมาเรามองว่าโดยส่วนใหญ่นั้นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามามักจะกระจุกตัวเที่ยวอยู่ในเมืองหลักเท่านั้น ส่งผลให้ขาดการกระจายรายได้ รัฐบาลจึงได้พยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรองทั้ง 55 จังหวัด ซึ่งการที่ ETDA สร้างเครื่องมือดังกล่าวขึ้นมานั้น ก็จะสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้ โดยเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ไปถึงนักท่องเที่ยวได้โดยตรง นำไปสู่การเข้าถึงสินค้าและบริการในชุมชนแต่ละท้องถิ่นด้วย ซึ่งอาจต่อยอดไปถึงการขยายให้สามารถสั่งซื้อและชำระเงินได้ทางออนไลน์ได้”
 




จากสองเรื่องสำคัญที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าอีกหนึ่งเรื่องที่ ETDA ค่อนข้างให้ความสำคัญ คือ ดิจิทัลคอนเทนต์ ถึงกับจะมีการจัดตั้งแพลตฟอร์มและสมาคมขึ้นมาดูแล
 
     “ใช่คะ เชื่อไหมว่าคนไทยยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการซื้อสติกเกอร์ ดาวน์โหลดเพลง ซื้อเพลงมาฟัง คือ อีคอมเมิร์ซอีกประเภทหนึ่ง นั้นแสดงว่าตัวเลขอีคอมเมิร์ซที่เราเก็บมาได้ทุกปีๆ นั้น ยังมีบางส่วนที่ขาดหายไป ซึ่งความจริงแล้วคนไทยมีการทำดิจิทัลคอนเทนต์เยอะมาก ยังมีคนไทยเก่งๆ อีกมากที่ทำเรื่องนี้ แต่ส่วนใหญ่ถูกกระจัดกระจายออกไป ไม่ได้ถูกนำมาเข้าระบบ ซึ่งนี่คือเหตุผลว่าทำไม ETDA ถึงสนใจอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์มายาวนานมากเป็นพิเศษ เราจึงได้จัดทำโครงการ Durian Platform ขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งรวบรวม video content ไว้อย่างหลากหลาย รวมไปถึงเป็นช่องทางการ Live สด สำหรับผู้ที่ต้องการสร้างสรรค์ผลงาน หรือ โปรโมทสินค้าของตัวเอง ผ่านทาง Durian โดยมีการควบคุมและจัดการโดยคนไทย มีการจดทะเบียนบริษัทและเสียภาษีอย่างถูกต้อง ซึ่งได้เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา และจะเปิดใช้ได้ประมาณเดือนพฤษภาคมของปีนี้ โดยจะเป็น Platform ทางเลือกให้ Creator ไทยหันกลับมานำ content ลงใน Content Platform ภายในประเทศ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมออนไลน์ดิจิทัลภายในประเทศ รวมถึงแข่งขันกับแพลตฟอร์มต่างประเทศได้อย่างทัดเทียม”
 

     “นอกจากนี้ในปี 2562 เรายังได้วางแนวทางในจัดตั้งสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมามีมูลค่าสูงกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานใด ทำหน้าที่ดูแล หรือกำหนดความเหมาะสมในเนื้อหาของคอนเทนต์ที่ได้เผยแพร่ออกไป โดยนอกจากจะทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมบ่มเพาะคอนเทนต์ครีเอเตอร์ของไทยให้สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ ยังมีการจัดทำผลสำรวจและวิเคราะห์มูลค่าตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลให้กับนักครีเอเตอร์ เพื่อวิเคราะห์โอกาสในธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ และที่สำคัญคือสามารถกำหนดและดูแลเนื้อหาของคอนเทนต์ในประเทศไทยในรูปแบบ Self-Regulation เป็นต้น”
 

โครงการสุดท้ายคือ ?
 
     “โครงการ National Digital ID เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้การทำธุรกิจและการใช้บริการภาครัฐในยุคดิจิทัลและ Thailand 4.0 รวดเร็วและมั่นคงปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปีนี้ เพื่อทดลองใช้ภายในปี 2562”
 

เห็นว่าในแต่ละโครงการได้มีการแต่งตั้งและมอบหมายหน้าที่ให้กับผู้ช่วยแต่ละด้านเข้ามาดูแล
 
     “องค์กรแบบ ETDA เราเป็นองค์กรที่ไม่ได้ต้องการยึดติดทุกอย่างอยู่กับซีอีโอเพียงอย่างเดียว เราต้องการสร้าง young blood คนรุ่นใหม่ให้เข้ามาช่วยดูแลสานต่อ สังคมไทยเราไม่ชินกับการที่มีคนอีกรุ่นหนึ่งมาทำงาน ETDA เราควรจะต้องเป็นต้นแบบตรงนี้”


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: TECH

แสงตะวัน อ่อนน่วม พัฒนาแพลตฟอร์ม แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนให้ธุรกิจที่พักไซส์เล็ก

ปัญหาหนึ่งของธุรกิจโรงแรมเล็ก คือต้นทุนการดำเนินงานสูง และมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน แสงตะวัน อ่อนน่วม ซึ่งเห็น Pain Point ดังกล่าว จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Shin Platform Hotel Self-Service Solution ขึ้นมา เพื่อช่วยทดแทนแรงงานคน, บริษัท ชิบะรูม

เจ๋งป่ะล่ะ! AI ผู้ช่วยเชฟคนใหม่ เก็บข้อมูลทำเมนูสุดโปรดเสิร์ฟลูกค้า ช่วยสแกนเศษอาหาร ลดต้นทุน ลดขยะ

ปัจจุบันโลกเรามีการนำ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ มาใช้พัฒนา ปรับปรุงสิ่งต่างๆ ขึ้นมากมาย ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ ล่าสุดใครจะคิดว่า แม้แต่ถังขยะในครัวของโรงแรมและร้านอาหาร ก็มีการนำ AI เข้ามาใชั

Mewre น้ำดื่มเพื่อสุนัขและแมวเจ้าแรกของโลก จากไอเดียที่ไม่อยากให้น้องป่วย เมื่อผู้บริโภคไม่ได้มีแค่คนเท่านั้น

Mewre น้ำดื่มเพื่อสุนัขและแมวเจ้าแรกของโลก อีกหนึ่งสินค้านวัตกรรมที่ทำมาเพื่อตอบโจทย์ชาว Pet Parent หรือ การเลี้ยงสัตว์เหมือนลูก เป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว