แฮปปี้ฟาร์มเมอร์ส แพลตฟอร์มเชื่อมโลกการค้าลดเหลื่อมล้ำ

 
 
                                                       
              ช่วงไม่กี่ปีมานี้จะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่ สนใจมาทำธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) กันมากขึ้น ขณะเดียวกันมีหลายองค์กรที่ให้สนับสนุนและส่งเสริมด้านนี้เช่นกัน อย่างเมื่อไม่นานมานี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ได้จัดงาน SET Social Impact Day 2017 :  รวมพลังเพื่อความยั่งยืน เปิดเวทีให้บริษัทจดทะเบียนพบผู้ประกอบการ SE กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินธุรกิจระหว่างกัน เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีทางสังคม ซึ่งได้รับความสนใจจาก ธุรกิจ กิจการเพื่อสังคม และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง 
 
 
              แฮปปี้ ฟาร์มเมอร์ส จำกัด (HappyFarmers) เป็นหนึ่งในธุรกิจเพื่อสังคมด้านการพัฒนาชุมชน           โดยมีอชิตศักดิ์ พชรวรณวิชญ์ หนุ่ม กทม. วัย  29 ปี ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้บริหาร ได้พาย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นของเขาว่า หลังจากเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ ก็ทำงานที่ บริษัท เอกชน ระยะหนึ่ง ก่อนลาออกมาทำธุรกิจที่บ้าน และมองหาธุรกิจที่มีความหมายทั้งกับตัวเองและสังคม  ก็พบว่าหลายๆ ปัญหาของสังคมเกิดขึ้น ก็เพราะสังคมมีความเหลื่อมล้ำ จึงตั้งเป้าที่อยากจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาสังคม  โดยใช้กลไกการทำธุรกิจ โดยมุ่งไปที่ต้นเหตุมากกว่าที่ปลายเหตุ และเลือกที่จะช่วยคนที่อยู่ในภาคการเกษตรของไทย เพราะยังคงเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของคนทั้งประเทศ
 
 
              “คนไทยกว่า 1 ใน 3 หรือราว 20 ล้านคน มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทว่าภาคการเกษตรของทั้งประเทศสามารถสร้างผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจได้เพียงแค่ 10% ซึ่งหมายความว่า คนไทยในภาคการเกษตรกำลังจนลงเมื่อเทียบกับคนไทยทั้งประเทศ และนี่คือที่มาของความเหลื่อมล้ำ และแรงผลักดัน ที่ส่งให้ผมมาทำงานที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรไทย เพื่อเข้าใจและสามารถแก้ปัญหาจากต้นเหตุ ในนามแฮปปี้ฟาร์มเมอร์ส  โดยมุ่งเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจให้มากขึ้นระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภคโดยตรงและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย พร้อมวางเป้าหมายที่จะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างชุมชนเกษตรกรรมกับชุมชนเมืองผ่านการดำเนินธุรกิจของเรา”
 
              สำหรับแพลตฟอร์มการดำเนินธุรกิจ ของแฮปปี้ ฟาร์มเมอร์ส เน้นในสามรูปแบบหลักคือ Online Farmers Market ที่มุ่งช่วยให้เกษตรกรอินทรีย์ที่กำลัง เริ่มตั้งต้นธุรกิจให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางและเข้าถึงตลาดได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยแพลตฟอร์มของ แฮปปี้ ฟาร์มเมอร์ส ไม่คิดค่าธรรมเนียมการขายเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงประโยชน์ของแพลตฟอร์มให้ได้มากที่สุด
 
 
              สอง Social Products  โดยหลักการเกิดจากที่ แฮปปี้ ฟาร์มเมอร์ส ต้องการช่วยแก้ปัญหาสังคมในชุมชนเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ เช่น การตัดไม้ทำลายป่าในจังหวัดตาก การลักลอบการปลูกฝิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงชาวนาที่ยังไม่สามารถเริ่มธุรกิจของตนเองได้ในภาคอีสาน ปัญหาและความต้องการเหล่านี้จึงถูกพัฒนาเป็นสินค้าเพื่อสังคมโดยการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่โดยตรงในราคาที่เป็นธรรม รายได้เหล่านี้จะส่งไปยังเกษตรกรที่สร้างผลกระทบทางสังคมในพื้นที่ของตน ทำให้การซื้อสินค้าทุกชิ้นมีผลช่วยให้ปัญหาสังคมในแต่ละพื้นที่ที่ แฮปปี้ ฟาร์มเมอร์ส ทำงานอยู่คลี่คลายไปอย่างเห็นได้ชัด
 
 
  และสาม คือแนวทางการทำ Crowd funding Platform for Thai Farmers โดยปัญหาเงินทุนของเกษตรกรไทยยังเป็นปัญหาสำคัญในการเริ่มต้นฤดูกาลทำเกษตรของทุกปี และส่วนใหญ่ยังพึ่งพาหนี้นอกระบบเป็นสำคัญ ทำให้เกษตรกรไทยยากที่จะลืมตาอ้าปากและหลุดพ้นจากวงจรหนี้สิน ในขณะที่ชาวเมืองต้องดิ้นรนหาวิธีการออมเงินเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าการออมทรัพย์ และฝากประจำที่ให้ผลตอบแทนเพียงน้อยนิด Platform นี้จึงต้องการเชื่อมโยงความต้องการของทั้งสองฝั่งให้เข้ากันเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการเงินและสังคมสูงสุด โดยขณะนี้โครงการกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาและพัฒนาร่วมกับพันธมิตรอื่นๆ
แม้จะเพิ่งก่อตั้ง แต่กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบและความตั้งใจจริงก็ทำให้ กิจการเพื่อสังคม แฮปปี้ฟาร์มเมอร์ส เริ่มได้ชิมความสำเร็จที่นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
 
 
               “ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ช่วยให้พื้นที่นากว่า 27 ไร่ หรือกว่า 20 ครัวเรือนในบุรีรัมย์ เปลี่ยนจากนาเคมีเป็นนาอินทรีย์ได้สำเร็จ โดยสามารถให้ราคาข้าวเปลือกได้สูงถึง 25,000 บาทต่อตัน กับทั้ง 12 สายพันธุ์               ที่ชาวนานำมาเข้าโครงการ  ในด้านผลิตภัณฑ์ เกิดของขวัญเพื่อสังคม  3  โครงการ ได้แก่  “ข้าวอินทรีย์เปลี่ยนชีวิต” (Organic Rice for the Better Lives) สนับสนุนให้ชาวนาภาคอีสานเปลี่ยนจากนาเคมีเป็นนาอินทรีย์ได้สำเร็จตั้งแต่การปลูกจนถึงการทำตลาดและการขาย ประกอบด้วยชุดของขวัญข้าวอินทรีย์ 4 เซ็ท “กาแฟปลูกป่า” (Coffee Grows a Forest) ส่งเสริมการรักษาและขยายพื้นที่ป่าดิบชื้นด้วยวิธีการปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่ ประกอบด้วยชุดของของขวัญกาแฟอินทรีย์ 3 เซ็ท และ“จากฝิ่นสูฝ้าย” (From Fhin to Fhai) แก้ปัญหาการปลูกฝิ่นอย่างผิดกฎหมายด้วยการส่งเสริมอาชีพทอผ้าฝ้ายแทนการปลูกฝิ่น”

 

 
 
              Social Products นั้น ได้รับการตอบรับอย่างดีจากบริษัทต่างๆ มาร่วมซื้อเป็นของขวัญ  ซึ่งที่โดนใจและได้รับการอุดหนุนมาก คือ ข้าวอินทรีย์เปลี่ยนชีวิต – ชุดของขวัญข้าวอินทรีย์ 12 สายพันธุ์ จากบุรีรัมย์ สุรินทร์และเชียงราย ซึ่งมีส่วนช่วยให้ชาวนาไทยเปลี่ยนจากนาเคมีเป็นนาอินทรีย์ได้สำเร็จ โดยการสนับสนุนปัจจัยตั้งแต่ต้นฤดูกาลและรับซื้อผลิตผลในราคาสูงถึง 25,000 บาทต่อตัน เพื่อให้ชาวนามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขั้นทั้งรายได้ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมรอบตัว ขณะที่ชุดของขวัญสำหรับผู้บริหารจากงานผ้าฝ้าย ฝีมือของชาวปกากะญอ บ้านทุ่งต้นงิ้ว ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่  ซึ่งเคยมีรายได้จากการปลูกฝิ่นเป็นหลัก ก็มีออเดอร์สูงเช่นกัน
 
 
              อย่างไรก็ตาม สองปีกว่าของการทำธุรกิจเพื่อสังคม แฮปปี้ฟาร์มเมอร์ส  พบว่า Online Farmers Market ต้องใช้เงินทุนสูงในการทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ขนาดตลาดและความต้องการของสินค้าอินทรีย์ยังจำกัดทำให้ยอดขายไม่สูงนัก อีกทั้งผลตอบแทนที่บริษัทได้รับโดยตรงไม่มี จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการขยายตลาดนี้  ขณะที่ของขวัญเพื่อสังคม  ยังมีความท้าทายในการเปลี่ยนทัศนคติการให้ของขวัญกับลูกค้าและบุคคลทั่วไป รวมถึงการบริหารต้นทุนของสินค้า เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ในระยะยาว
 
 
              สำหรับแผนธุรกิจในอนาคต อชิตศักดิ์ เล่าว่า เขาได้วางกลยุทธ์ที่จะยกระดับ ผลิตภัณฑ์ทางสังคม เป็น Premium Mass ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับสตาร์บัคส์ หรืออีเกีย เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และตอบสนองความช่วยเหลือได้ในวงกว้างมากขึ้น  สำหรับ Crowd funding Platform ในอนาคตจะเป็นอีกช่องทางที่บุคคลทั่วไปและองค์กรสามารถลงทุนและหวังผลตอบแทนได้จริง ในขณะที่เกษตรกรจะเลือกใช้ช่องทางนี้เป็นช่องทางแรกในการหาแหล่งเงินทุนในอนาคต
 
 
             
แฮปปี้ ฟาร์มเมอร์ส จำกัด (HappyFarmers) เป็นหนึ่งในธุรกิจเพื่อสังคมด้านการพัฒนาชุมชน ที่ได้รับเลือกเข้าร่วมงานSET Social Impact Day 2017 :  รวมพลังเพื่อความยั่งยืน เปิดเวทีให้บริษัทจดทะเบียนพบผู้ประกอบการ SE กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินธุรกิจระหว่างกัน เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีทางสังคม ซึ่งได้รับความสนใจจาก ธุรกิจ กิจการเพื่อสังคม และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: TECH

จับตา 3 เทคโนโลยี ที่ช่วยติดสปีดธุรกิจให้ชนะคู่แข่ง 2568

ในยุคที่โลกหมุนเร็วนี้ 3 ปัจจัยสำคัญอะไรบ้างที่จะเปลี่ยนบทบาทของธุรกิจจากผู้นำให้กลายเป็นผู้ตามได้ หากไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

รวม 6 สตาร์ทอัพไทยพลิกโลก เปลี่ยนเกษตรดั้งเดิม สู่ Smart Farming

คาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มมากกว่า 9 พันล้านคนในปี 2050 เป็นโอกาสของธุรกิจเกษตรและการผลิตอาหารครั้งใหญ่ของไทย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม วันนี้ชวนมารู้จัก 6 สตาร์ทอัพไทยสายเกษตรที่ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือ เพื่อช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาธุรกิจเกษตรไทยมาฝากกัน

แสงตะวัน อ่อนน่วม พัฒนาแพลตฟอร์ม แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนให้ธุรกิจที่พักไซส์เล็ก

ปัญหาหนึ่งของธุรกิจโรงแรมเล็ก คือต้นทุนการดำเนินงานสูง และมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน แสงตะวัน อ่อนน่วม ซึ่งเห็น Pain Point ดังกล่าว จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Shin Platform Hotel Self-Service Solution ขึ้นมา เพื่อช่วยทดแทนแรงงานคน, บริษัท ชิบะรูม