TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
ไทยเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกกุ้งมานาน แม้ช่วงหลังจะเสียแชมป์ให้จีนในเรื่องของปริมาณการผลิต ไทยก็ยังรั้งอันดับ 1 ของการเป็นผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่สุดของโลก แต่ข่าวเล็ก ๆ ที่เนื้อหาไม่ธรรมดาจากหนังสือพิมพ์โคเรียไทม์เกี่ยวกับความสำเร็จในการให้ความช่วยเหลือรัฐบาลแอลจีเรียสร้างฟาร์มเลี้ยงกุ้งน้ำเค็มฟาร์มแรกของโลกที่ตั้งอยู่กลางทะเลทรายซาฮาร่า โดยกุ้งลอตแรกจับขึ้นมามีปริมาณ 5 ตันขนาดตัวละ 20 กรัมโดยเฉลี่ย ชี้ให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะผลิตกุ้งปริมาณมหาศาลในพื้นที่ที่มีแต่ทะเลทรายกับลม
ก่อนหน้านั้น การเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ทะเลทรายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เพราะนอกจากปริมาณน้ำจะน้อย อุณหภูมิน้ำยังร้อนเกินไปอีกด้วย อีกทั้งระดับความเค็มของน้ำก็ไม่เสถียร อย่างไรก็ตาม รัฐบาลแอลจีเรียได้ขอความร่วมมือไปยังเกาหลีใต้ ด้วยเทคโนโลยีของสถาบันวิทยาศาสตร์การประมงแห่งชาติเกาหลีใต้ การทดลองเพาะเลี้ยงกุ้งในทะเลทรายจึงเกิดขึ้น เทคโนโลยีที่นำมาใช้คือ biofloc เป็นเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยการใช้ตะกอนจุลินทรีย์มาช่วยกำจัดของเสียที่เหลือจากการขับถ่ายและการบริโภคของสัตว์น้ำให้กลายเป็นของดีมีประโยชน์ต่อสัตว์น้ำ
เทคโนโลยี biofloc นี้ เกาหลีใต้ใช้มาตั้งแต่ปี 2008 แล้ว ส่วนแอลจีเรียเพิ่งสร้างศูนย์วิจัยการเพาะพันธุ์กุ้งขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ประกอบด้วยนากุ้งขนาด 12 เฮกตาร์ (เท่ากับสนามฟุตบอล 12 สนาม) โดยลงทุนไปทั้งหมดเกือบ 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯรวมถึงงบถ่ายโอนเทคโนโลยีและงบการอบรม ฟาร์มแห่งนี้สามารถผลิตกุ้งได้ลอตแรก 5 ตัน แต่หลังจากนั้นสามารถสร้างผลผลิตได้ปีละมากสุด 100 ตัน รัฐบาลแอลจีเรียมีแผนขยายฟาร์มแบบเดียวกันนี้ไปยังพื้นที่อื่น ๆ โดยเลือกทำเลที่มีแหล่งน้ำใต้ดิน
การพัฒนาเทคโนโลยี biofloc ของเกาหลีเกิดจากความต้องการบริโภคกุ้งในประเทศเพิ่มสูงขึ้น จึงมีการสร้างฟาร์มกุ้งแบบทันสมัยขึ้น ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ความต้องการกุ้งในตลาดเกาหลีอยู่ที่ปีละ 1,000 ตัน และปีที่ผ่านมาทุบสถิติที่ 5,500 ตัน ปัจจุบัน เกาหลีมีฟาร์มกุ้ง biofloc ราว 47 แห่ง ผู้ประกอบการไทยในธุรกิจส่งออกกุ้งอาจต้องเตรียมตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด ขนาดประเทศในทะเลทรายยังเพาะเลี้ยงกุ้งน้ำเค็มได้ หากการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ๆ เชื่อว่าน่าจะกระทบการส่งออกของไทย