Cloud Marketplace แหล่งรวมบริการคลาวด์ในที่เดียว

 


เรื่อง กองบรรณาธิการ

    ปัจจุบันภาคธุรกิจเริ่มหันมาตระหนักและเห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ทั้งนั้น ไอดีซีมีการคาดการณ์ไว้ว่า ภายในปี 2561 การลงทุนด้านคลาวด์จะมีสัดส่วนเป็นอย่างน้อย 1 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายด้านไอทีทั้งหมด เรียกได้ว่าเทคโนโลยีคลาวด์จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจมากขึ้น จากการเข้าถึงที่สะดวก รวดเร็ว 


    ขณะเดียวกันยังสามารถลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย เนื่องจากเทคโนโลยีคลาวด์นั้นใช้การลงทุนต่ำ ผู้ประกอบการสามารถคาดการณ์ค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือนได้ ซึ่งผลประโยชน์เหล่านี้จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจสามารถเติบโตและสร้างความแตกต่างในการแข่งขันได้ โดยเฉพาะในยุคที่การค้าเสรีไร้พรมแดน ย่อมนำมาซึ่งการแข่งขันที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการต้องใช้เทคโนโลยีคลาวด์มาเป็นผู้ช่วยจัดการธุรกิจ เพราะต่อไปในอนาคตจะเป็นการแข่งขันกันด้วยเรื่องของเวลา และการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด


    จากผลสำรวจ Cloud Computing Readiness in Thailand 2015 ที่จัดทำขึ้นโดยสถาบันไอเอ็มซี (IMC Institute) ซึ่งมีการระบุว่า องค์กรต่างๆ ในประเทศไทยจะเริ่มใช้คลาวด์คอมพิวติ้งอย่างเต็มที่ในปี 2559 โดยจะมีบริษัท 55 เปอร์เซ็นต์ ที่ใช้งานคลาวด์รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง (Lass, Pass หรือ Sass) และธุรกิจ SME ในปีที่ผ่านมามีการใช้งานคลาวด์ในสัดส่วนที่มากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งนี่คือแนวโน้มสำคัญของกลุ่มธุรกิจคลาวด์ในประเทศไทยที่ไม่ควรมองข้าม 


    แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีคลาวด์จะเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมาตอบโจทย์ผู้ใช้งานอย่างหลากหลาย ขณะเดียวกันก็มีผู้ให้บริการคลาวด์เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ก็มีผู้ประกอบการ SME อีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการคลาวด์ที่ตนเองต้องการได้ ซึ่งจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม อาจเป็นเพราะยุ่งกับการทำงานจนไม่มีเวลา หรือไม่รู้ว่าตนเองควรต้องใช้แบบไหน อย่างไร ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดบริการใหม่ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ SME สามารถใช้เทคโนโลยีหรือซอฟต์แวร์ผ่านระบบคลาวด์ได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น


    จากการเปิดเผยของ ฐนสรณ์ ใจดี  ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวว่า True IDC ได้มีการเปิดตัว Cloud Marketplace ขึ้นมา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME ได้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่หลากหลายได้ในที่เดียว ขณะเดียวกันถือเป็นการช่วยสนับสนุนให้ผู้ผลิตซอฟต์แวร์บนคลาวด์ ได้มีช่องทางการจำหน่ายและนำเสนอผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้อย่างกว้างขวางอีกด้วย 


    เรียกได้ว่า SME จะสามารถเข้าไปเลือกซื้อสินค้าและบริการเพื่อต่อยอดธุรกิจได้ง่ายขึ้น รวมถึงการนำโซลูชั่นของเอ็นเตอร์ไพรส์มาปรับแต่งให้เหมาะสมกับธุรกิจ SME ซึ่งเน้นความสำคัญ 2 ด้าน ได้แก่ Cloud Infrastructure และ Cloud Application เพื่อช่วยผู้ประกอบการใน 3 เรื่องหลัก คือ การสร้างรายได้ การลดต้นทุน และเสริมศักยภาพการแข่งขันในตลาด


    “ปัจจุบัน SME 2.9 ล้านราย ในประเทศไทย มีการใช้ไอซีทีคิดเป็นมูลค่า 42,000 ล้านบาท สิ่งที่สนใจมากที่สุด คือ SME ในกลุ่มนี้เริ่มมีพฤติกรรมซื้อออนไลน์ 20 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือ โอกาสของเรา ทั้งนี้ ในจำนวน SME ทั้งหมด 79 เปอร์เซ็นต์จะอยู่ใน 3 กลุ่มหลักๆ เท่านั้น คือ ค้าปลีก โรงงานอุตสาหกรรม และโรงแรม ร้านอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มค้าปลีกถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างชัดเจนเลยว่ามีการใช้เทคโนโลยีเยอะ เพราะเขาต้องเอาเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจ ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เขายิ่งต้องการลดต้นทุน ซึ่งคลาวด์เป็นสิ่งที่ช่วยเขาลดต้นทุนได้ชัดเจน เพราะว่าคลาวด์เป็นระบบแบบใช้เท่าไร จ่ายเท่านั้น อยากใช้น้อยก็จ่ายน้อย อยากใช้มากก็จ่ายมาก และด้วยจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ที่เริ่มมีการซื้อออนไลน์ นั่นหมายถึงว่า เขาพร้อมจ่าย แต่อาจไม่รู้จะซื้อจากใครที่มั่นใจได้ การที่เราเปิด Cloud Marketplace ก็จะทำให้เขาสามารถเข้าถึงและเลือกใช้บริการคลาวด์ได้ง่ายๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะเอาอะไรไปขายก็ได้ เราเลือกที่เหมาะสมสำหรับ SME ให้ด้วย เพราะเรารู้ดีว่า SME ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีเวลา เขาเห็นอะไรเขาก็เอามาใช้เลย แต่จริงๆ เขาไม่รู้หรอกว่าผลกระทบคืออะไร ดังนั้น เราจึงต้องเลือกสิ่งที่เหมาะสม พร้อมที่จะใช้งานทางธุรกิจได้ทันที นั่นคือจุดประสงค์หลักของการทำ Cloud Marketplac ในส่วนของเป้าหมายเบื้องต้น เราเชื่อว่าถ้าสามารถจับกลุ่มลูกค้าใน 20 เปอร์เซ็นต์ที่ว่านี้ ได้สัก 10-20 เปอร์เซ็นต์ ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว”


    นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำดีๆ จาก ลีเฮอร์ ออบิซูร์ กรรมการผู้จัดการ เอสเอพี ประจำภูมิภาคอินโดจีน มาฝากกับ SME เพื่อให้การใช้งานคลาวด์นั้นเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยบอกไว้ว่า ธุรกิจ SME ที่ใช้คลาวด์มักประสบปัญหาด้านการจัดการและขาดการสนับสนุน เมื่อธุรกิจจะต้องตัดสินใจพิจารณาช่องทางการใช้บริการคลาวด์ที่ต้องมองในมุมที่กว้างขึ้นและตัดสินใจว่าพวกเขาจะจัดการดูแลด้วยตัวเองตลอด 24 ชั่วโมง หรือจะจ้างบริษัทข้างนอกมาช่วยดูแลเรื่องที่อาจเป็นภาระกับองค์กร เช่น การกู้คืนข้อมูล การควบคุมแบบอัตโนมัติ และการปรับเปลี่ยนสเกลการใช้งาน ฯลฯ 


    ปัจจุบันมีธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากเลือกที่จะใช้บริการจากผู้ให้บริการคลาวด์มากกว่าการจัดการดูแลด้วยตัวเอง อาจเป็นด้วยว่าธุรกิจ SME ยังขาดแคลนความรู้เฉพาะจุด รวมทั้งกำลังคนและทักษะที่จำเป็นในการดูแลจัดการคลาวด์โดยเฉพาะ ทั้งนี้ทั้งนั้น หากจะต้องเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการคลาวด์ ลีเฮอร์แนะนำว่า ควรเลือกผู้จำหน่ายที่มีประสบการณ์ มีความรู้พื้นฐาน และมีความสามารถในการให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสม โดยธุรกิจ SME ควรแน่ใจว่า การบริการที่จะได้รับนั้นมีความยืดหยุ่น เพื่อให้สามารถดำเนินงานธุรกิจหลักไปได้อย่างลื่นไหล โดยไม่ต้องกังวลถึงการทำงานของคลาวด์ในแต่ละวัน นอกจากนั้น ควรพิจารณาข้อตกลงการให้บริการ (SLA) กับผู้ให้บริการคลาวด์อย่างละเอียด เพื่อให้ครอบคลุมกรณีฉุกเฉินหรือปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อสร้างความสบายใจ และความรู้สึกปลอดภัยในการลงทุน


    เรื่องของความปลอดภัยเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ธุรกิจ SME ไม่สามารถมองข้ามไปได้ ธุรกิจ SME ต้องคำนึงว่า เซิร์ฟเวอร์ทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นประเภทที่ติดตั้งภายในองค์กรหรือที่อยู่บนคลาวด์ ล้วนมีความอ่อนไหวและอาจถูกโจมตีได้จากหลายแหล่งที่มา ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กจะต้องปกป้ององค์กรของตนเอง พร้อมมีการวางแผนที่ดีและระมัดระวัง ไม่ว่าพวกเขาจะดูแลรักษาบริการคลาวด์ด้วยตนเองหรือจ้างบริษัทภายนอกเข้ามาช่วยจัดการให้ก็ตาม และนี่คือเคล็ดลับที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบความปลอดภัยของคลาวด์คอมพิวติ้งในองค์กร


    เริ่มจากทำความเข้าใจกับระเบียบข้อบังคับต่างๆ อุตสาหกรรมบางประเภท มีมาตรฐานที่ต้องปฏิบัติตาม หากองค์กรของคุณมีระเบียบข้อบังคับเหล่านั้นอยู่ ควรให้แน่ใจว่าคุณได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านั้นอย่างเคร่งครัด ถัดมาคือ ตรวจสอบเรื่องความปลอดภัย เลือกใช้บริการจากบริษัทที่มีเอกสารหลักฐานรับรองที่แสดงความน่าเชื่อถือต่างๆ และมีความปลอดภัยที่สามารถตรวจสอบได้ จากนั้นคือ ต้องรับรู้และเข้าใจถึงระบบการทำงานของผู้ที่จะให้บริการ 


    โดยอันดับแรก ศึกษาการทำการตลาดของบริษัทผู้ให้บริการคลาวด์ สอบถามให้ชัดเจนและตรงประเด็นถึงรายละเอียดการทำงานและการให้บริการของบริษัทนั้นๆ ทำความเข้าใจถึงลำดับขั้นและประเภทของการเข้ารหัสข้อมูลที่บริษัทนั้นๆ นำเสนอ การควบคุมด้านความปลอดภัยในที่บริษัทนั้นๆ ใช้งาน รวมถึงการเคลื่อนย้ายและสถานที่ที่ใช้ในการเก็บข้อมูล เป็นต้น นอกจากนี้ ควรเจรจาต่อรองเรื่องระดับขั้นของการให้บริการ ผู้ให้บริการคลาวด์บางแห่งจะมีการเจรจาต่อรองระดับขั้นของการให้บริการ ซึ่งมีการระบุสัดส่วนและคำนวณเวลาที่ใช้ในการตอบสนองเมื่อลูกค้าพบเจอปัญหา ข้อตกลงเจรจาเหล่านี้อาจรวมไปถึงค่าปรับหรือส่วนลดต่างๆ หากผู้ให้บริการปฏิบัติงานไม่ตรงตามข้อตกลง โดยข้อตกลงต่างๆ เหล่านี้จะช่วยปกป้ององค์กรของคุณได้หากมีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: TECH

แสงตะวัน อ่อนน่วม พัฒนาแพลตฟอร์ม แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนให้ธุรกิจที่พักไซส์เล็ก

ปัญหาหนึ่งของธุรกิจโรงแรมเล็ก คือต้นทุนการดำเนินงานสูง และมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน แสงตะวัน อ่อนน่วม ซึ่งเห็น Pain Point ดังกล่าว จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Shin Platform Hotel Self-Service Solution ขึ้นมา เพื่อช่วยทดแทนแรงงานคน, บริษัท ชิบะรูม

เจ๋งป่ะล่ะ! AI ผู้ช่วยเชฟคนใหม่ เก็บข้อมูลทำเมนูสุดโปรดเสิร์ฟลูกค้า ช่วยสแกนเศษอาหาร ลดต้นทุน ลดขยะ

ปัจจุบันโลกเรามีการนำ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ มาใช้พัฒนา ปรับปรุงสิ่งต่างๆ ขึ้นมากมาย ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ ล่าสุดใครจะคิดว่า แม้แต่ถังขยะในครัวของโรงแรมและร้านอาหาร ก็มีการนำ AI เข้ามาใชั

Mewre น้ำดื่มเพื่อสุนัขและแมวเจ้าแรกของโลก จากไอเดียที่ไม่อยากให้น้องป่วย เมื่อผู้บริโภคไม่ได้มีแค่คนเท่านั้น

Mewre น้ำดื่มเพื่อสุนัขและแมวเจ้าแรกของโลก อีกหนึ่งสินค้านวัตกรรมที่ทำมาเพื่อตอบโจทย์ชาว Pet Parent หรือ การเลี้ยงสัตว์เหมือนลูก เป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว