ภายใต้ทิศทางในการก้าวสู่ Thailand 4.0 นั้น ภาครัฐได้หยิบยก Digital Economy เป็นแกนหลักในการผลักดันภาคธุรกิจของประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของประเทศให้ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำของโลก
และเพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานตามแนวนโยบายดังกล่าว ภาครัฐจึงดำเนินการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และ Startup Business ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการสร้างฐานเศรษฐกิจนวัตกรรมในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง
หนึ่งในมาตรการสนับสนุนที่สำคัญของภาครัฐ คือ การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและ Startup Business ได้ใช้เทคโนโลยีช่วยในการดำเนินธุรกิจ โดยการผลักดันให้มีมาตรการลดภาษีสำหรับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ซอฟต์แวร์มีราคาถูกลง เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหันมาใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกลิขสิทธิ์มากขึ้น
การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการใช้ซอฟต์แวร์
ภายใต้การผลักดันดังกล่าวภาครัฐระบุว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ซื้อหรือจ้างทำซอฟต์แวร์จากผู้ประกอบการที่ขายหรือรับจ้างทำซอฟต์แวร์ หรือใช้บริการซอฟต์แวร์จากผู้ประกอบการที่ให้บริการซอฟต์แวร์ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า เพื่อนำมาใช้ในการประกอบกิจการในรอบระยะเวลาบัญชีที่กำหนด มีสิทธิ์นำค่าใช้จ่ายมาหักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวได้เต็มจำนวน หรือ 100% ของมูลค่าที่ซื้อหรือจ้างทำซอฟต์แวร์หรือของมูลค่าบริการที่ใช้แต่ไม่เกินค่าใช้จ่ายสูงสุดที่กระทรวงการคลังร่วมกับซิป้าในสังกัดของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้กำหนด
ทั้งนี้ การซื้อหรือการจ้างทำซอฟต์แวร์ หรือการใช้บริการซอฟต์แวร์ ไม่นับรวมค่าบำรุงรักษารายปีและค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้ซอฟต์แวร์โดยสิทธิประโยชน์ในการหักลดค่าใช้จ่านั้น สามารถเลือกใช้สิทธิได้เพียงครั้งเดียวใน 3 รอบปีบัญชีคาดว่าจะสามารถผลักดันและเริ่มใช้ในปี 2560
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจะต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท หรือตามที่กรมสรรพากรกำหนดทั้งนี้ซอฟต์แวร์หรือแอพพลิเคชันที่ซื้อหรือจ้างทำหรือใช้บริการจะต้องเป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจด้านต่าง ๆ เช่น ระบบบัญชี ลูกค้าสัมพันธ์ ระบบคลังสินค้า การผลิต เงินเดือน การทำเว็บไซต์ e-Commerce ระบบเครือข่าย เป็นต้น
ตัวอย่างการใช้สิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกรณีซื้อหรือจ้างทำซอฟต์แวร์สมมติว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีการซื้อหรือจ้างทำซอฟต์แวร์มูลค่า 100,000 บาท ในวันที่ 1 มกราคม 2559 รอบระยะเวลาบัญชีของกิจการคือ 1 มกราคม 2559-31 ธันวาคม 2559 คิดค่าตัดจำหน่าย (ค่าเสื่อมราคา) 10% ต่อปี เท่ากับ 10,000 บาทต่อปี โดยได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีไม่เกิน 200,000 บาท
กรณีทั่วไป (บาท) |
กรณีใช้สิทธิประโยชน์ (บาท) |
|
รายได้ |
3,000,000 | 3,000,000 |
ต้นทุนขาย |
2,400,000 | 2,400,000 |
กำไรขั้นต้น |
600,000 | 600,000 |
ค่าใช้จ่าย ฯลฯ |
300,000 | 300,000 |
ค่าตัดจำหน่ายซอฟต์แวร์ |
10,000 | 10,000 |
กำไรสุทธิ |
290,000 | 290,000 |
หักค่าใช้จ่ายในการซื้อซอฟต์แวร์ | - | 100,000 |
กำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษี |
290,000 |
190,000 |
มาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น นอกจากจะเป็นการผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก้าวสู่ Digital Economy แล้วยังเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่มีศักยภาพ ให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งอีกด้วย
ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องสูญเสียเงินตราให้กับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์จากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ยุทธศาสตร์ที่สำคัญอันหนึ่งของภาครัฐคือ ทำอย่างไรจึงจะผลักดันให้เกิดการพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นใช้ในประเทศได้ ซึ่งซอฟต์แวร์ดังกล่าวควรจะมีมาตรฐานที่เทียบเท่าระดับสากล
บทบาทดังกล่าวเป็นหน้าที่ของ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า ที่ต้องมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างจริงจังขึ้นในประเทศ มาตรการลดภาษีเป็นเพียงมาตรการหนึ่งที่เกิดขึ้นจากนี้คงต้องจับตาดูอย่างต่อเนื่องว่าซิป้าจะผลักดันมาตรการอะไรออกมาอีก
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี