มาใช้แว่น VR สร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจกันเถอะ

 



เรื่อง กองบรรณาธิการ

    แว่น VR หรือแว่นตารูปแบบใหม่ที่หลายคนคงเริ่มรู้จักกันดี ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นของเล่นที่สร้างความบันเทิง ใช้ดูหนังฟังเพลง หรือเป็นแค่อุปกรณ์ของนักเล่มเกมตัวเก่งเสียมากกว่า โดยเจ้าแว่น VR นี้จริงๆ แล้วก็ คืออุปกรณ์ที่จะเปลี่ยนสมาร์ตโฟนให้สามารถดูหนังและเล่นเกมเสมือนจริง (Virtual Reality) โดยจะจำลองเสมือนคุณอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ ดังนั้นด้วยคุณสมบัติดังกล่าว เอสเอ็มอีสามารถที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับกับธุรกิจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความน่าสนใจให้กับสินค้าและบริการ


    เดิมเราอาจจะคุ้นเคยกันว่าเทคโนโลยี VR นั้นได้รับการออกแบบมาเพื่อการยกระดับการรับชมความบันเทิงโดยเฉพาะ สามารถชมภาพยนตร์ผ่านประสบการณ์เสมือนจริง เพราะด้วยระบบเสมือนจริงนี้สามารถมองเห็นเหมือนเป็นภาพที่เป็น 3 มิติจริงๆ ผู้ใช้จะสามารถรับรู้ได้เสมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง และเมื่อประกอบเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์แล้วจะสามารถตรวจรับความเคลื่อนไหวของผู้ใช้ และอาจเพิ่มความรู้สึกอื่นเช่นแรงตอบสนอง หรือความเคลื่อนไหวของสิ่งแวดล้อม ประกอบให้เหมือนจริงมากขึ้นได้อีกด้วย


    ที่ผ่านมาระบบเสมือนจริงถูกนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ที่อาจจะดูเหมือนไกลตัวผู้ใช้งานทั่วไปไม่ว่าจะเป็นระบบฝึกผ่าตัดสำหรับแพทย์ ให้นักเรียนแพทย์สามารถใช้ระบบนี้เพื่อเรียนรู้การผ่าตัด สามารถจะเห็นภาพห้องผ่าตัดที่มีเตียง เครื่องมือ และคนไข้ได้จากแว่น 3 มิติ ซึ่งถูกส่งภาพมาจากคอมพิวเตอร์ เมื่อนักเรียนแพทย์ขยับมือไปหยิบเครื่องมือที่เห็นในจอภาพ โดยที่ไม่มีเครื่องมือนั้นอยู่จริง สามารถนำเครื่องมือนั้นทำการผ่าตัดคนไข้บนจอภาพ การใช้ระบบเสมือนจริงเช่นนี้ทำให้นักเรียนแพทย์สามารถเรียนรู้วิธีการผ่าตัดและสามารถฝึกหัดจากระบบเสมือนจริงได้บ่อยครั้งมากกว่าเดิมที่ต้องทดลองกับครูใหญ่


    หรือแม้แต่การที่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ๆ ของโลกได้สร้างรถยนต์เสมือนจริงที่ให้ลูกค้าได้ทดลองขับขี่รถยนต์ ซึ่งจะเห็นภาพของสถานที่แวดล้อมที่มีการขับรถยนต์ผ่านไปพร้อมกับความรู้สึกที่ใกล้เคียงกับการได้นั่งขับรถยนต์อยู่จริงๆ เช่นเดียวกับการใช้เทคโนโลยี “เครื่องจำลองการบิน " หรือ Aviation Simulation สำหรับการฝึกให้นักบินมีทักษะและความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่ และพร้อมรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ทุกรูปแบบ


    แล้วเอสเอ็มอีจะนำเทคโนโลยี VR มาใช้ทำอะไร.. อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าในขณะนี้มีผู้ผลิตมือถือรายใหญ่ได้นำแว่นตา VR ออกมาจำหน่ายและพร้อมให้ลูกค้าได้ใช้กันโดยทั่วไปแล้ว ดังนั้นตัวอย่างง่ายๆ ที่พอจะยกเป็นไอเดียคือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว กรุ๊ปทัวร์ รีสอร์ต โรงแรม หรือแม้แต่โฮมสเตย์ จึงควรจะใช้เครื่องมือที่ว่านี้มานำเสนอสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้า โดยอาจจะใช้เครื่องมือดังกล่าวนี้ทำให้ลูกค้ามองเห็นภาพภายในห้องพัก รอบๆ บริเวณโรงแรมหรือรีสอร์ต ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ผ่านทางแว่น VR ในรูปแบบ 3 มิติ


    จากเดิมที่เคยให้ลูกค้าได้เห็นห้องพัก หรือสถานที่ท่องเที่ยวของทางโรงแรมผ่านทางภาพนิ่ง วิดีโอ หรือแม้แต่การดูผ่านคอมพิวเตอร์ที่มีภาพให้คลิ๊กแบบ 360 องศา ก็เปลี่ยนมาเป็นการให้ลูกค้าได้สวมแว่นตาที่จะทำให้สามารถสัมผัสภาพเหล่านั้นได้แบบเสมือนจริง เหมือนอยู่ในห้องที่กำลังจะจองจริงๆ ยืนอยู่ในโรงแรมจริงๆ ซึ่งนอกจากจะสร้างความตื่นตาตื่นใจได้แล้ว ยังมีโอกาสได้รับการจองที่สูงกว่าการเห็นเพียงภาพเคลื่อนไหวแบบเดิมๆ เสียอีก และที่สำคัญสร้างความแตกต่างจนคู่แข่งอาจต้องมองค้อนกันเลยทีเดียว


    นอกจากนี้ด้วยแว่นดังกล่าวนี้ธุรกิจอาจจะใช้ในการนำเสนองาน ที่ในบางครั้งสามารถนำมาใช้ทดแทนการนำเสนอผ่านจอโปรเจ็กต์เตอร์แบบเดิมๆ ที่ต้องขนอุปกรณ์ไปมาให้ยุ่งยาก ก็เปลี่ยนมาเป็นการแปลงข้อมูลเข้าสู่โทรศัพท์มือถือแล้วเชื่อมเข้ากับแว่น VR ทำการนำเสนองานแบบให้ลูกค้าได้เห็นสิ่งที่เราคิดในรูปแบบ 3มิติ ที่เข้าใจง่ายและเห็นภาพชัดเจนมากกว่า ซึ่งเรียกได้ว่ามีของเล่นที่น่าสนใจเพิ่มเติม แถมยังช่วยให้ลูกค้าไม่เบื่อกับการนำเสนองานแบบเดิมๆ อีกด้วย


    ดังนั้นเทคโนโลยีที่กำลังมาอย่าง Virtual Reality หรือ VR นั้นเป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่เอสเอ็มอีควรจะนำมาเรียนรู้และประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจ อย่ามองว่าแว่น VR ที่กำลังได้รับความสนใจในตลาดเป็นเพียงแค่สินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้าไม่จำเป็นเท่านั้น เพราะสิ่งที่เรามองข้ามไป บางทีอาจจะก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับธุรกิจได้มากมายมหาศาล อยู่ที่ว่าเราพร้อมจะใช้เวลาว่างมานั่งหาประโยชน์จากมันหรือยัง

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: TECH

จับตา 3 เทคโนโลยี ที่ช่วยติดสปีดธุรกิจให้ชนะคู่แข่ง 2568

ในยุคที่โลกหมุนเร็วนี้ 3 ปัจจัยสำคัญอะไรบ้างที่จะเปลี่ยนบทบาทของธุรกิจจากผู้นำให้กลายเป็นผู้ตามได้ หากไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

รวม 6 สตาร์ทอัพไทยพลิกโลก เปลี่ยนเกษตรดั้งเดิม สู่ Smart Farming

คาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มมากกว่า 9 พันล้านคนในปี 2050 เป็นโอกาสของธุรกิจเกษตรและการผลิตอาหารครั้งใหญ่ของไทย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม วันนี้ชวนมารู้จัก 6 สตาร์ทอัพไทยสายเกษตรที่ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือ เพื่อช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาธุรกิจเกษตรไทยมาฝากกัน

แสงตะวัน อ่อนน่วม พัฒนาแพลตฟอร์ม แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนให้ธุรกิจที่พักไซส์เล็ก

ปัญหาหนึ่งของธุรกิจโรงแรมเล็ก คือต้นทุนการดำเนินงานสูง และมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน แสงตะวัน อ่อนน่วม ซึ่งเห็น Pain Point ดังกล่าว จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Shin Platform Hotel Self-Service Solution ขึ้นมา เพื่อช่วยทดแทนแรงงานคน, บริษัท ชิบะรูม