Tech Startup

พาสตาร์ทอัพไทยแลนดิ้งต่างประเทศ ภารกิจของ ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผอ.NIA

 

     หากมองการพัฒนานวัตกรรมของไทยที่ถูกจัดอยู่อันดับที่ 43 ในปี 2566 จากประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก 132 ประเทศ ก็สะท้อนให้เห็นว่ามีพัฒนาการความสามารถทางนวัตกรรมที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กระนั้นการขึ้นมาเป็นหัวเรือใหญ่ของ  ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA พร้อมกับประกาศว่าจะผลักดันให้ไทยเป็นชาติแห่งนวัตกรรม และยกอันดับประเทศไทยในดัชนีนวัตกรรมโลก GII ของ WIPO จากอันดับที่ 43 เป็นอันดับที่ 30 ในปี 2573 จึงนับเป็นความท้าทายอย่างมากในการขับเคลื่อนนวัตกรรมของไทย

     “ในอนาคตข้างหน้าเราจะเปลี่ยนบทบาท NIA เป็น Focal Conductor หรือผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม เหมือนกับการควบคุมให้เสียงต่างๆ ในวงออเคสตาให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยจะอำนวยความสะดวกให้ระบบนิเวศนวัตกรรมเอื้อต่อศักยภาพการทำงาน มีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และเราจะมุ่งเน้นใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมนี้ คือ FoodTech & AgTech, TravelTech, MedTech, Climate Tech และ Soft Power”

     ดร.กริชผกา ฉายภาพให้เห็นถึงเป้าหมายที่จะพาประเทศไทยเข้าสู่ชาติแห่งนวัตกรรมของ  ทำให้คนไทยมีนวัตกรรมอยู่ในหัวใจ โดยจะเน้นให้เกิดอิมแพคมากขึ้น  

พาสตาร์ทอัพไทยแลนดิ้งต่างประเทศ

     “ปีหน้าอยากจะพาสตาร์ทอัพไทยไปแลนดิ้ง แล้วเจาะตลาดต่างประเทศจริงๆ นี่คือสิ่งที่เราอยากทำ”

     ดร.กริชผกา กล่าวถึงนโยบายในการผลักดันสตาร์ทอัพไทยไปต่างประเทศโดย โดยมองว่าปีหน้าจะเป็นปีที่สดใสของสตาร์ทอัพ หลังจากผ่านช่วงสถานการณ์โควิดมาได้และตลาดเปิดแล้ว ซึ่งมีเป้าหมายในหลายประเทศ เช่น เวียดนาม จีน  ประเทศในแอฟริกาใต้ เป็นต้น

     “เราก็พยายามผลักดันสตาร์ทอัพไทยไปต่างประเทศ มีโอกาสไปร่วมมือกับหลายประเทศซึ่งเขาก็ยินดี เช่น เรามีความร่วมมือกับฝรั่งเศส มีโอกาสคุยกับทางประเทศออสเตรีย ที่น่าสนใจคือประเทศแถบแอฟริกาใต้ แทนที่จะมองตลาดประเทศพัฒนาแล้ว เราลองหันมามองตลาดนี้ ซึ่งมีเกษตรกรรมใกล้เคียงไทย หลายประเทศในแอฟริกาใต้มีเทคโนโลยีสูงมาก ถ้าทำได้ก็มีโอกาสเติบโตสูงเพราะโซลูชั่นที่เรามีสามารถนำไปใช้ได้เลย ส่วนตลาดจีนโอกาสในการเจาะนั้นยากแต่ถ้าเจาะได้ก็โตเลย”

     สำหรับอิสราเอลที่กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อสตาร์ทอัพที่ปักหลักอยู่ที่นั่น เพราะเม็ดเงินไม่เข้า นักลงทุนเปลี่ยนประเทศ ขณะเดียวกันสตาร์ทอัพก็น่าจะออกมานอกประเทศด้วยเช่นเดียวกัน  

     “เรามีความร่วมมือกับอิสราเอลอยู่แล้วก็ถือโอกาสดึงสตาร์ทอัพมาไทย เวลาสตาร์ทอัพต่างประเทศมาไทยเขาก็จะต้องหาพาร์ทเนอร์ เหมือนเวลาสตาร์ทอัพไทยไปต่างประเทศก็อยากหาพาร์ทเนอร์ที่นั่น แล้วทำโซลูชั่นให้ใช้ด้วยกัน จับมือกันโต คุณดูตลาดตรงนั้น เราดูตลาดตรงนี้ เป็นโมเดลที่ทำให้สตาร์ทอัพเติบโตได้”

     อย่างไรก็ตาม สตาร์ทอัพที่จะไปต่างประเทศได้นั้น ดร.กริชผกา บอกว่าต้องมี Global Mindset ต้องทำโซลูชั่นที่ตอบโจทย์คนทั้งโลก ถ้ามี Mindset แบบนี้แสดงว่าต้องการเติบโตในตลาดต่างประเทศ แต่ถ้าเขาไม่มี Mindset แบบนี้ก็ยากที่จะชวนออกไปด้วยกัน   

     “สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องคิด Global Mindset ตั้งแต่แรก อย่าคิดว่าเราเก่งอย่างเดียว เวลานักลงทุนจะมาลงทุน เขาดูเราทุกมิติ ตรงไหนอ่อนพยายามหาทีมสนับสนุนแล้วเปิดรับฟัง อย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว เพราะว่าคุณเก่งเทคโนโลยีไม่ได้หมายความว่าคุณเก่งธุรกิจ และสุดท้ายคือกล้าที่จะออกจาก Comfort Zone แล้วเราจะช่วยทำให้ทุกก้าวที่ก้าวออกไปมีความมั่นคงและปลอดภัยมากขึ้น”

เดินหน้าสนับสนุน Deep Technology

     Deep Technology เป็นเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน ต้องใช้พื้นฐานการวิจัยเชิงลึก แต่จะเป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความท้าทายของสังคมและสิ่งแวดล้อม มากไปกว่านั้นยังสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมที่มีอยู่ได้ ซึ่งเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ปกป้องการลอกเลียนแบบ ต้องใช้เวลาในการพัฒนานาน ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก จึงสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

     ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ NIA ให้ความสำคัญกับ Deep Technology โดยดร.กริชผกา บอกว่าจะสนับสนุนสตาร์ทอัพที่ทำ  Deep Technology ทั้งการบ่มเพาะให้เกิดการเติบโตธุรกิจ การสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีเชิงลึกมาสร้างให้เกิดเป็นธุรกิจ รวมถึงการเร่งสร้างธุรกิจให้เกิดการเติบโตแบบก้าวกระโดด

     “Deep Technology ถ้าโตจะโตสูงมาก แล้วอิมแพคสูงเพราะมีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของตัวเอง มีพื้นฐานการวิจัย และเป็นเทคโนโลยีที่ต้องการทั่วโลก อีกอย่างหนึ่งคือกอปปี้ยาก นั่นคือสิ่งที่ทำให้เราอยากจะส่งเสริม โดยเรามองกลุ่มอุตสาหกรรมที่สนับสนุน เช่น Ai, Robotics, FoodTech, AgTech, MedTech และ Energy เพราะสิ่งเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งประเทศไทยเราเก่งมีความเชี่ยวชาญด้านนี้ เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดเป็นธุรกิจ นอกจากนี้ Deep Technology โดยส่วนใหญ่จะมาจากองค์กรขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย เราต้องทำอย่างไรให้สามารถนำงานวิจัยนั้นออกสู่เชิงพาณิชย์ได้” ผู้อำนวยการ NIA กล่าวในตอนท้ายถึง Deep Technology ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่ NIA จะสนับสนุน

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup