Tech Startup

ส่องตลาด Plant-based Food ไทยกับโอกาสที่ต้องคว้า

 

     ยากที่จะปฏิเสธว่า Plant-based ได้กลายเป็นคำที่เราคุ้นชินมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภคทั่วโลก เพราะอย่างที่รู้กันว่าด้วยเพราะผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเองมากขึ้น ขณะที่หลายคนเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ตระหนักว่าการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มมีส่วนทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก ยิ่งเดี๋ยวนี้ ผู้บริโภคมีความรู้และพยายามเสาะหาข้อมูลต่างๆ มากขึ้น จึงมีเข้าใจเกี่ยวกับอาหาร Plant-based หรือเนื้อสัตว์จากพืช ว่าเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จําเป็น มีรสชาติที่เหมือนกับผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ ตลอดจนสามารถช่วยลดปัญหาการขาดแคลนอาหารที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้

     แต่อย่างไรก็ตาม แม้ในวันนี้จะมีอาหาร Plant-based ออกสู่ตลาดมากขึ้น มีผู้ประกอบการทั้งเล็กและใหญ่ที่พยายามเสาะหาวัตถุดิบ ใช้นวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แต่กลับถูกตั้งคำถามว่าจะเป็นเพียงแค่กระแสหรือไม่ เราเลยมีคำตอบมาให้ว่าจริงๆ แล้ว Plant-based นี่คือความยั่งยืนและคือโอกาสที่ต้องคว้าต่างหาก

Plant-based คือความยั่งยืน

     “ไม่คิดว่ามันเป็นแฟชั่น แต่เป็นสิ่งที่ยั่งยืน เรียกว่าเติบโตอย่างยั่งยืน แม้ในตอนนี้การเติบโตอาจจะไม่หวือหวาเหมือนกับในช่วงแรกๆ ที่ Plant-based เริ่มเข้ามาไทย คือตอนนั้นคนไทยยังไม่รู้จักหลายคนก็อยากลองกิน ทีนี้พอเริ่มขยายฐานลูกค้าใหญ่ขึ้นแล้ว เลยดูเหมือนการเติบโตจะลดลง แต่จริงๆ ก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือค่อยๆ โตขึ้นไป ซึ่งมองว่าอาหาร Plant-based เป็นสินค้าในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งจะค่อยๆ เติบโต แต่ว่ายั่งยืนกว่าสินค้าที่เป็นแฟชั่นที่เข้ามาปุ๊บแล้วไม่นานก็หายไปเลย” วิภู เลิศสุรพิบูล ผู้ร่วมก่อตั้ง มีท อวตาร ผลิตภัณฑ์เนื้อจำแลงที่ผลิตจากพืช กล่าวถึงการเติบโตของตลาด Plant-based ไทย  

     ก่อนที่จะกล่าวต่อไปว่า ในช่วงหลังการระบาดโควิด-19 คนไทยให้ความสำคัญกับสุขภาพกันมากขึ้น หาความรู้เกี่ยวกับโภชนาการ มีการเลือกที่จะกินอาหาร ทำอาหารที่บ้านมากขึ้น จึงส่งผลให้อาหาร Plant-based ได้รับความนิยมสูง แม้หลังการระบาดของโควิด-19 ผ่านไปแล้ว ความต้องการอาหาร Plant-based ก็ยังคงเป็นเช่นนั้น เพียงแต่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือไม่ได้ทำอาหารที่บ้านเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนไปกินที่ร้านอาหารที่มีเมนู Plant-based มากกว่า ดังนั้น ช่องทางการขายสินค้า Plant-based จึงขยายมาเป็น B2B คือขายให้กับร้านอาหารเพิ่มมากขึ้น

     “จริงๆ ในตอนแรกกลุ่มลูกค้าจะซื้อเป็นวัตถุดิบจากร้านหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตเพื่อไปทำอาหารที่บ้าน แต่ตอนนี้เทรนด์เปลี่ยนไปแล้ว กลายเป็นลูกค้าร้านอาหารค่อนข้างเยอะ เพราะว่าพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป ร้านอาหารก็ให้ผลตอบรับกับ Plant-based ดีมากขึ้นตามลำดับ โดยช่วงแรกๆ ร้านอาหารอาจจะยังไม่รู้ว่า Plant-based คืออะไร แล้วกลุ่มลูกค้าเขาเป็นใคร แต่ตอนนี้หลายร้านเริ่มหันมาให้ความสนใจแล้วก็ตื่นตัวกับ Plant-based มากขึ้น”

      ขณะเดียวกัน ภริศรา นวนิธิกุล Business Development Manager บริษัท ยู ดี เซิร์ท สตอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด  ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ UOAT (ยูโอ๊ต) นมจากพืชที่สกัดจากข้าวโอ๊ตออร์แกนิก 100 เปอร์เซ็นต์ มองว่า Plant-based ไม่ใช่แค่กระแส  เพราะการใส่ใจสุขภาพของคนเป็นเทรนด์ที่จะอยู่ในระยะยาว ไม่ใช่แค่กระแสที่มาแบบฉาบฉวยเท่านั้น ซึ่งเทรนด์ของกลุ่มคนที่กินอาหาร Plant based และวีแกนเติบโตขึ้นอย่างมากนับจากสถานการณ์โควิด เลยส่งผลทำให้กลุ่มผู้ผลิตอาหาร Plant-based และอาหารเพื่อสุขภาพ เติบโตขึ้นอย่างมากเช่นเดียวกัน

     ภริศรา บอกต่อด้วยว่า ในวันนี้กลุ่มคนที่บริโภคสินค้าเหล่านี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นวีแกนร้อยเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งเราจะได้ยินคำว่าบางคนกินมังสวิรัตในวันเกิด วันพระ คือมีความยืดหยุ่นในการกินมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีอาหาร Plant-based ที่มีคุณค่าทางสารอาหาร และมีลูกเล่นใหม่ๆ ออกมาเป็นทางเลือกให้คนที่กิน Plant-based วีแกนหรือมังสวิรัติมากขึ้นไม่เหมือนในอดีตที่ผ่านมา  

โอกาสที่ต้องคว้า

     เมื่อ Plant-based ไม่ใช่แค่กระแสแต่คือความยั่งยืน จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการในการที่จะเข้าสู่ตลาด ซึ่งในวันนี้หากมองไปในตลาด Plant-based ก็จะเห็นผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็มีสินค้า Plant-based ที่หลากหลายมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อ อาหารทะเล ไข่ หรือนมทางเลือก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ดี เพราะนั่นหมายความว่าตลาด Plant-based กำลังเติบโต และยิ่งมีผู้เล่นเข้ามามากขึ้นก็จะยิ่งช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมากินอาหาร Plant-based มากขึ้นตามไปด้วย

     วิภู กล่าวว่าแม้การที่มีผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาด Plant-based จะทำให้มีแข่งขันสูง แต่เชื่อว่าด้วยความที่แต่ละแบรนด์ต่างมี signature ของตนเอง ทั้งในแง่วัตถุดิบ สูตร รสชาติ กลิ่น อื่นๆ จึงขึ้นอยู่กับว่าผู้บริโภคชื่นชอบรสชาติแบบไหนมากกว่า อย่างมีท อวตาร จะเน้นเรื่องคุณค่าทางโภชนาการหมายความว่าจะมีคุณค่าทางโภชนาการที่ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์มากที่สุดและทำให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด โซเดียมต่ำ ไม่มีคลอเรสเตอรอล แต่ก็ยังคงความอร่อย

     “เมืองไทยเรามีความหลากหลายของอาหารสูง ฉะนั้น Plant-based อาจจะเป็นแค่หนึ่งในอาหารที่อยู่ในมหาสมุทรที่มีจำนวนเยอะมากๆ และยังมีคนที่อาจจะยังไม่รู้จัก ยังหาเราไม่เจออีกจำนวนมาก ในขณะที่ต่างประเทศไม่มีทางเลือกของอาหารมาก เลยจะเห็นว่า Plant-based เข้ามาแทนที่อาหารเดิมๆ ที่เขากินอยู่ได้ง่ายกว่า และมีความตื่นตัวมากกว่า ดังนั้นสำหรับตลาดในไทยจึงมองว่าเป็นโอกาสที่ต้องใช้เวลา แต่เป็นตลาดที่ค่อนข้างกว้าง ยังมีโอกาสอีกมาก ซึ่งเราจะต้องค่อยๆ ให้ความรู้ ทำให้คนรู้จัก และเห็นคุณประโยชน์มากขึ้น”

     อย่างไรก็ตาม วิภู ยืนยันว่า Plant-based เป็นความยั่งยืน เป็นตลาดที่ใหญ่มาก เพียงแต่เมื่อเป็นสิ่งที่ใหม่จึงเป็นความยากในการเริ่มต้น โดยวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเติบโตคือผู้ประกอบการจะต้องมาจับมือกัน แล้วร่วมมือกันโปรโมท  ขยายตลาด ก็จะทำให้กระแสเกิดขึ้นมาได้ แล้วจะมีโอกาสเติบโตที่สูงขึ้น

     อนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์  ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร บอกว่า Plant-based เป็นตลาดที่เน้นการแข่งขันในการสร้างดีมานด์ใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งจะเป็นเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าผ่านนวัตกรรมของสินค้าใหม่ๆ ที่อาจจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในตลาด มากกว่าที่จะไปแข่งขันเรื่องราคา ดังนั้น หัวใจสำคัญของการแข่งขันคือการสร้างความแตกต่างด้วย นวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ยังไม่เคยมีใครเข้าถึงมาก่อน

     นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ยังให้คำแนะนำด้วยว่า ผู้ประกอบการควรศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค แต่ละ generation อยู่เสมอ เพื่อทำความเข้าใจไลฟ์สไตล์และนํามาวิเคราะห์เพื่อจะได้ต่อยอดในการทำการตลาดให้สินค้าเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่น่าจะนำมาใช้ร่วมด้วยคือ กลยุทธ์ Green Ocean ที่มุ่งเน้นไปทางกลุ่มเป้าหมายที่อนุรักษ์ธรรมชาติโดยเฉพาะ โดยธุรกิจจะต้องผลิตสินค้าที่รักษาสิ่งแวดล้อม รักษ์โลก เช่น การต่อยอดไปสู่ Green Supply Chain มุ่งเน้นลดการใช้ทรัพยากร และต้องเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งน่าจะตอบโจทย์ลูกค้าเป้าหมายและสามารถสร้างความภักดีต่อแบรนด์ได้ในระยะยาว

     ทั้งนี้การที่จะคว้าโอกาสในธุรกิจนี้ จำเป็นต้องสร้างความแตกต่าง ทำให้สินค้ามีความโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าทางโภชนาการ รสชาติ เนื้อสัมผัส ราคา รูปแบบ แพคเกจจิ้ง มากไปกว่านั้นคือต้องทำให้การเลือกซื้ออาหาร Plant-based เหมือนๆ กับการเลือกซื้ออาหารทั่วไป ด้วยการต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย หาซื้อได้ง่าย รูปแบบสินค้าที่สามารถกินได้ง่าย ไม่ยุ่งยากในการปรุง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคนั่นเอง 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup