Tech Startup

ตอบรับเทรนด์ Guilt Free Fashion! เหล่าสตาร์ทอัพคิดนวัตกรรมเปลี่ยนเศษอาหารให้เป็นรองเท้ากระเป๋าหนัง

 

Text : Vim Viva

     แฟชั่นยั่งยืนยังคงอยู่ในกระแสอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกระบวนการผลิตหนังสัตว์นั้นค่อนข้างก่อมลภาวะจึงนำไปสู่เทรนด์แฟชั่นล่าสุดที่เกี่ยวเนื่องกับนวัตกรรมหนังทางเลือกที่สามารถทดแทนหนังจากสัตว์ซึ่งมีเหล่าบริษัทสตาร์ทอัพเข้ามาพัฒนาเรื่องนี้และประสบความสำเร็จก็หลายราย อาทิ บริษัทแทรชแพลเน็ต (Trash Planet) ในอังกฤษที่ตั้งเป้าปฏิวัติวงการแฟชั่น และกำหนดมาตรฐานใหม่สำหรับแฟชั่นยั่งยืนด้วยการเป็นผู้ริเริ่มใช้วัสดุรีไซเคิลมารังสรรค์เป็นสินค้าแฟชั่น

     ล่าสุด แทรชแฟชั่นเปิดตัวคอลเลคชั่นใหม่เป็นสนีกเกอร์และรองเท้าบู้ทหนังที่ทำจากแอปเปิล ข้าวโพด และวัสดุรีไซเคิลจากยางพาราและผ้าใบ ฮอลลี่ บ็อกซ์ออล หัวหน้างานดีไซน์ของแทรชแพลเน็ตเผยวัสดุหนังวีแกนทำจากเปลือกแอปเปิลที่เป็นขยะอาหาร เสริมด้วยวัสดุรีไซเคิลที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

     “คอลเลคชั่นใหม่นี้ได้นำพาแฟชั่นยั่งยืนให้ประสบความสำเร็จมากกว่าเดิม ทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงวิถีแฟชั่น guilt-free หรือการสนุกกับการแต่งกายโดยไม่รู้สึกผิด เราเชื่อว่าอะไรที่เกี่ยวกับแฟชั่นก็สามารถสร้างพลังความดีได้ เหมือนเช่นคอลเลคชั่นล่าสุดของเราที่เกิดจากความมุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อส่งผลลัพธ์ด้านบวกให้กับโลก”

  

     นอกเหนือจากการผลิตสินค้ารักษ์โลก อีกอย่างที่แทรชแพลเน็ตดำเนินเพื่อสนับสนุนแฟชั่นยั่งยืนคือจัดโครงการรับคืนโดยเมื่อลูกค้านำรองเท้าเก่ามาคืนจะได้รับส่วนลดในการซื้อสินค้าครั้งต่อไป เป็นการลดขยะและทำให้บริษัทสามารถนำรองเท้าแบรนด์ของตัวเองกลับมารีไซเคิลอีกครั้ง

     ไม่เฉพาะฝั่งตะวันตก สตาร์ทอัพจากฝั่งตะวันออกโดยเฉพาะที่อินเดียก็สนใจแฟชั่นยั่งยืนเช่นกัน อาทิ บริษัทไบโอเลเธอร์ของอินเดียผลิตวัสดุหนังทางเลือกโดยการสะกัดเส้นใยเซลลูโลสจากมะเขือเทศที่เป็นเศษอาหารเหลือทิ้ง ทำให้ได้วัสดุที่ย่อยสลายตามธรรมชาติแบบร้อยเปอร์เซนต์ วัสดุที่มีส่วนสมของเส้นใยมะเขือเทศจะมีความเฉพาะทั้งเทกเจอร์ สีสัน และคุณสมบัติ

     นอกจากนั้น กระบวนการผลิตยังทำออกมาเป็น 2 ชั้นทำให้แข็งแรงทนทานขึ้นโดยไม่ต้องเสริมด้วยพลาสติกโพลียูรีเทนเหมือนแผ่นหนังจากพืชทั่วๆ ไป ที่สำคัญยังมีน้ำหนักเบา กันน้ำ กันรอยขีดข่วน และทำความสะอาดง่ายอีกด้วย ทั้งนี้ ไบโอเลเธอร์ได้นำวัสดุหนังมาผลิตเป็นรองเท้าและกระเป๋า พร้อมกับรับผลิตสินค้าตามสั่งโดยใช้วัสดุหนังจากมะเขือเทศให้กับบริษัทอื่นๆ 

     ด้านบริษัทอัทมา เลเธอร์ ก็เป็นอีกบริษัทที่ผลิตวัสดุหนังเทียมจากพืชโดยใช้เปลือกกล้วย และทำการจัดส่งวัสดุหนังดังกล่าวให้กับแบรนด์แฟชั่นหลายแบรนด์ในอินเดีย ขณะที่บางบริษัทใช้วัตถุดิบที่แตกต่างออกไป เช่น ดอกไม้ไหว้พระในวัดที่ใช้แล้ว ฝักมะขาม และกากกาแฟ ถือเป็นการชุบชีวิตของเหลือทิ้งให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง

     ส่วนนักวิจัยจากสถาบันวิจัยหนังของอินเดียได้พัฒนาวัสดุหนังชีวภาพให้เป็นทางเลือกแทนการใช้หนังสัตว์แบบดั้งเดิมซึ่งสามารถลดมลภาวะที่มาจากโรงฟอกหนังลงได้ราว 60 เปอร์เซนต์ วัสดุหนังชีวภาพดังกล่าวผลิตจากคอลลาเจนสังเคราะห์ที่พัฒนามาจากแบคทีเรียที่เพาะในห้องแล็บ มีความทนทานเทียบเท่าหนังสัตว์ประมาณ 90 เปอร์เซนต์ และย่อยสลายได้มากกว่าหนังสัตว์  50 เปอร์เซนต์

     เชื่อว่าแฟชั่นที่ผลิตจากวัสดุหนังทางเลือกซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคสายรักษ์โลกที่ต้องการตามเทรนด์การแต่งกายแบบไม่รู้สึกผิด เนื่องจากการผลิตหนังจากสัตว์ใช้ที่ดินเกือบครึ่งของทั้งหมดบนโลกและเป็นต้นตอของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ต่ำกว่า 15 เปอร์เซนต์ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ


ที่มา :

- https://timesofindia.indiatimes.com/blogs/tracking-indian-communities/this-leather-is-fashioned-in-a-lab/
- https://vegconomist.com/products-launches/trash-planet-vegan-recycled-footwear/
- https://vegconomist.com/fashion-design-and-beauty/leather-alternatives/bioleather-biodegradable-tomato-plant-waste/


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup