Finanace Tech Startup

ต่อ Runway สตาร์ทอัพด้วย Grant ภาครัฐ เริ่มต้นจากตรงไหนดี?

 

Text : Methawee T

     เมื่อบรรยากาศการลงทุนปีนี้ไม่ค่อยจะเอื้ออำนวยเท่าไหร่นัก เพราะอย่างที่เห็นกันว่าเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยส่งผลให้การระดมทุนของสตาร์ทอัพมีความท้าทายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตาร์ทอัพใน Early Stage ที่ยังไม่มี Traction และ Revenue มากพอในการดึงดูดความสนใจของนักลงทุนในไทย ดังนั้น การได้ทุนสนับสนุนภาครัฐจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพไทยสามารถเพิ่ม Runway ให้ยาวขึ้นในการก้าวต่อไปข้างหน้า 

     ในวันนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับ เฟิร์ส-ธนวิชญ์ ต้นกันยา ผู้ก่อตั้ง Horganize ดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทยผู้พัฒนาแพลตฟอร์มระบบบริหารหอพักและอพาร์ตเมนต์ และกรรมการและประธานด้านการศึกษาและมหาวิทยาลัย สมาคม Thai Startup - สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย

     ซึ่งได้มาแชร์แนวคิดสำหรับสตาร์ทอัพที่อยากเริ่มมองหาทุนสนับสนุนจากภาครัฐว่าควรจะทำอย่างไรบ้าง

 

ทำไมทุนภาครัฐถึงสำคัญสำหรับสตาร์ทอัพไทย?

     ธนวิชญ์เล่าถึงความสำคัญของเงินภาครัฐที่ช่วยส่งเสริมและเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้สตาร์ทอัพไทยสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจก็คือ เงินทุน และจากข้อมูลการสำรวจของสมาคม Thai Startup กับสมาชิก พบว่าการที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นปัญหาอันดับ 1 ในการทำให้ธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโต เพราะธุรกิจสตาร์ทอัพส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจากการแก้ปัญหาด้วยการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อทำให้ธุรกิจสามารถ Scalable และ Repeatable ได้ในอนาคต ทำให้ในช่วงเริ่มต้นจะยังไม่มีรายได้ ประกอบกับลักษณะธุรกิจแบบสตาร์ทอัพถือว่าเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้ยากต่อการไปกู้เงินจากสถาบันการเงิน จึงมักจะเริ่มจากการระดมทุนจาก Angle Investor และ Venture Capital แต่ในประเทศไทยจำนวน Angle Investor ยังมีไม่มาก อีกทั้งในส่วนของ Venture Capital ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็น Corporate Venture Capital ซึ่งจะลงทุนในบริษัทที่มีความพร้อมทั้งเรื่องสินค้าและบริการ จำนวนลูกค้า รายได้ ที่พอจะสามารถทำให้เกิดความร่วมมือกับ Corporate นั้นๆ ได้ ทำให้เน้นการลงทุนสตาร์ทอัพ Series A ขึ้นไป

     ขณะเดียวกันจากฐานข้อมูลของสมาคมฯ ก็ยังพบอีกว่าสตาร์ทอัพไทยเกินกว่าครึ่งอยู่ใน Seed Stage ซึ่งยังไม่พร้อมสำหรับการระดมทุนจาก CVC ดังนั้น เงินสนับสนุนของภาครัฐจึงเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยเพิ่ม Runway สตาร์ทอัพให้ยาวขึ้น เพื่อมีความพร้อมในการไประดมทุนกับทาง CVC ต่อได้ในอนาคต

 

 

คำแนะนำสำหรับสตาร์ทอัพที่เริ่มมองหาทุนภาครัฐ?

     “ผมแนะนำให้ทุกคนเริ่มจากคำถามง่ายๆ ว่า ทำไมภาครัฐถึงควรให้เงินทุนสนับสนุนเรา”

     ธนวิชญ์กล่าวต่อไปว่า เราไม่ใช่สตาร์ทอัพเจ้าเดียวที่ต้องการเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ดังนั้น จึงควรทำการบ้านในหลายๆ มิติก่อนเริ่มเข้าขอเงินสนับสนุนจากภาครัฐ เนื่องจากทุนภาครัฐมีหลากหลายประเภทและมีหลายองค์กรที่ให้เงินทุนสนับสนุน ดังนั้น สตาร์ทอัพไทยควรเลือกทุนสนับสนุนที่ตรงกับตนเอง โดยมีหลักการเบื้องต้นดังต่อไปนี้

     1. เราต้องทำการศึกษาให้เข้าใจวัตถุประสงค์ของทุนสนับสนุนของแต่ละหน่วยงานภาครัฐ และต้องรู้ก่อนว่าเราต้องการการสนับสนุนรูปแบบไหน เงิน หรือความช่วยเหลือด้านไหน และเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายอะไรของบริษัท ซึ่งเป้าหมายนั้นควรจะต้องตรงกับวัตถุประสงค์ของทุนสนับสนุนซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับทุนสนับสนุนมากขึ้น

     2. เข้าใจ Stage ของสตาร์ทอัพที่ทุนสนับสนุนของแต่ละหน่วยงานภาครัฐเลือกสนับสนุน ตัวอย่างเช่น Open Innovation ทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ที่เน้นสนับสนุนการทำ Problem-Solution Fit ผ่านการทำงานวิจัยหรือสร้างนวัตกรรม หรือโครงการ TED Market Scaling Up ทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) ที่เน้นสนับสนุนสตาร์ทอัพที่มีความพร้อมและกำลังต้องการขยายตลาด

     3. สตาร์ทอัพต้องมี Core Value หรือ Business Model ที่ชัดเจน เพราะเป้าหมายของการสนับสนุนสตาร์ทอัพของภาครัฐคือ การส่งเสริมให้สตาร์ทอัพเติบโตและสามารถขับเคลื่อน GDP ของประเทศไทย ดังนั้น สตาร์ทอัพจึงต้องมีโมเดลที่จะกลับมาทำกำไรได้จริงๆและเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน

 

หากมองหาทุนสนับสนุนภาครัฐเริ่มจากตรงไหน?

     การหาทุนจากภาครัฐควรจะเริ่มจากตรงไหนดี? ต่อคำถามนี้ ธนวิชญ์แนะนำว่าให้เข้ากลุ่มที่มีการแชร์และแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับทุนภาครัฐ หรือติดตามเว็บไซต์ เฟซบุ๊กของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่ให้ทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะเป็น NIA, DEPA, TED Fund, PMUC, NECTEC, PUMB, BOI หรือ TECLEs เป็นต้น นอกจากจะสามารถติดตามผ่านช่องทางออนไลน์แล้ว บางหน่วยงานยังมีการจัดกิจกรรม Open House เพื่ออธิบายวิธีการเขียนขอทุนอีกด้วย หรือล่าสุดสมาคม Thai Startup ก็มีการจัดงาน Startup Grant Day ที่มัดรวมทุนภาครัฐมูลค่ารวมกันกว่า 100 ล้านบาท เพื่อให้เหล่าสตาร์ทอัพที่เป็นสมาชิกสามารถมารับคำปรึกษาจากภาครัฐ และเพิ่มโอกาสในการได้รับทุนสนับสนุนอีกทางหนึ่งด้วย

      แม้สตาร์ทอัพจะมีไอเดียธุรกิจและทีมงานดีแค่ไหน แต่หากขาดเงินทุนแล้วนั้นก็คงยากที่จะเกิดและเติบโตต่อไปได้ สตาร์ทอัพจึงควรหมั่นติดตามและศึกษาแหล่งเงินทุนเพื่อที่จะมีความพร้อมในการขอรับการสนับสนุนและเลือกทุนสนับสนุนที่ตรงกับความต้องการของตนเอง   

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup