Tech Startup

ป๊อกป๊อก ไอเดียสตาร์ทอัพที่อยากเสิร์พอาหารร้านดังถึงบ้าน

 

     เชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นหรือคุ้นตากับรถป๊อกป๊อกที่ดูทันสมัยและพาอาหารแสนอร่อยมาเสิร์พถึงหน้าบ้าน บางคนอาจเคยเห็นรถยนต์ที่ติดสติ๊กเกอร์ป๊อกป๊อกวิ่งอยู่บนถนนกรุงเทพฯ และสงสัยว่ารถเหล่านี้คืออะไร ขณะที่บางคนอาจเคยเป็นลูกค้า หรือกลายเป็นลูกค้าประจำไปแล้ว

     ป๊อกป๊อก หรือ PokPok เป็นรถยนต์ที่รวมเมนูเด็ดจากร้านดัง แล้วจัดส่งถึงบ้านหรือคอนโด โดยไม่มีค่าส่ง! และนี่คือไอเดียธุรกิจที่เกิดจากการเห็น Pain Point ของธุรกิจฟู้ด เดลิเวอรี่ของ นัฐพงศ์ จารวิจิต ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ ซึ่งเขาเล่าว่าในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องกักตัวอยู่ในบ้าน ทำให้มีการสั่งอาหารเดลิเวอรี่กันเยอะมาก แต่กลับเจอปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าส่งที่แพง หลายคนจึงเลือกสั่งจากร้านใกล้บ้านเท่านั้น ขณะเดียวกันราคาอาหารก็สูงขึ้น เพราะร้านอาหารต้องเสียค่าส่วนแบ่งการขาย หรือ GP ถึง 30% ส่วนไรเดอร์ก็ต้องรอรับการสนับสนุนช่วยเหลือจากแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ตลอดเวลา ถ้าเมื่อไหร่ที่แพลตฟอร์มเพิ่มเงื่อนไขหรือลดการช่วยเหลือก็ทำให้เกิดปัญหาตามมา ดังนั้น จึงทำให้เห็นว่าธุรกิจฟู้ด เดลิเวอรี่ มีช่องโหว่และเป็นโอกาสที่จะเข้ามาปิดช่องโหว่เหล่านั้น

     “ผมได้ไอเดียว่าถ้าวันหนึ่งมีรถมาส่งอาหารถึงหน้าบ้านที่ตอบโจทย์เราจะโอเคไหม ตอนแรกนึกถึงรถพุ่มพวงที่ขายอาหารสดอาหารแห้ง บวกรวมไอเดียของฟู้ด คอร์ดในศูนย์การค้าที่จะนำเอาอาหาร Street Food เจ้าดังๆ ไปเปิดร้านที่นั่น ดังนั้นถ้าเราเอาอาหารจากร้านดังไปอยู่บนรถพุ่มพวงแล้วมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ก็น่าจะแก้ปัญหาของธุรกิจฟู้ด เดวิเวอรี่ได้ เพราะว่ารถ 1 คัน สามารถขนอาหารได้จำนวนเยอะ ทำให้ไม่ต้องมีค่าส่ง” ซีอีโอป๊อกป๊อก เล่าความเป็นมาให้ฟัง

 

 

ไม่มีค่าส่ง ราคาเป็นมิตร

     โดยรูปแบบโมเดลธุรกิจของรถป๊อกป๊อก หฤษฎ์ หัตถวงษ์ COO ของป๊อกป๊อก บอกว่าไรเดอร์ซึ่งเป็นเจ้าของรถป๊อกป๊อกจะไปรับอาหารจากร้านดัง ตามที่ต่างๆ แล้วจัดส่งตามออร์เดอร์ที่ไว้สั่งล่วงหน้า ซึ่งจะไม่มีค่าส่ง จึงตอบโจทย์ความต้องการของคนที่ชอบความสะดวกสบายและประหยัดเงินในกระเป๋าอีกด้วย   

     “โดยทั่วไปลูกค้าของป๊อกป๊อกจะเป็นคนที่อยู่ในคอนโดฯ หรือหมู่บ้าน โดยไรเดอร์ของป๊อกป๊อกจะเข้าไปอยู่ในกลุ่มไลน์ แล้วโพสต์บอกว่าวันนี้จะมีอาหารอะไร โดยเราจะเลือกมาให้ว่ามีเมนูอะไร จากร้านไหน และจะเปลี่ยนเมนูไปทุกวัน ซึ่งจะมีออร์เดอร์มากประมาณหนึ่ง เพราะเราจะจัดส่งเป็นโซน เช่น สุขุมวิท-บางนา ส่วนราคาจะบวกเพิ่มประมาณ 10-20 บาทจากราคาที่ขายปกติ เมื่อได้ออร์เดอร์เราก็รวบรวมส่งให้ร้านอาหาร และไปรับอาหารเพื่อจัดส่งในวันถัดมา สมมุติข้าวมันไก่ขาย 50 บาท พี่เป็นไรเดอร์ก็ไปขาย 70 บาท ถ้ามีออร์เดอร์เป็น 100 กล่อง ก็ได้แล้ว 2,000 บาท ขณะที่เราจะได้รายได้จากทางร้านอาหาร เพราะเวลาสั่งทีจะสั่งเยอะเป็น 100 กล่อง เขาอาจจะให้เรากล่องละ 10 บาท ซึ่งจะต่างจากแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่อื่นที่เก็บค่า GP 30% นอกจากนี้ลูกค้าจะสั่งล่วงหน้าเป็นล็อตทำให้ร้านมีเวลาทำอาหาร”

 

 

     ถามว่าทำไมไม่สั่งผ่านแอป แต่กลับใช้กลุ่มไลน์แทน ในเรื่องนี้ นัฐพงศ์บอกว่าหลังจากที่เริ่มทำป๊อกป๊อกเขาพบว่า มีลูกค้าหลายคนที่ไม่ถนัดการใช้แอปหรือเทคโนโลยี มองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก การสั่งผ่านในกลุ่มไลน์เป็นช่องทางที่สะดวกสบายมากกว่า ดังนั้นจึงคิดว่าควรเริ่มจากว่าจะขายได้ไหม ตอบโจทย์ลูกค้าหรือเปล่า ส่วนเทคโนโลยีสามารถเอามาใส่เพิ่มได้ในภายหลัง

     “ส่วนตอนนี้คนที่จะใช้แอปคือไรเดอร์ เพราะว่าไรเดอร์หนึ่งคนจะต้องไปอยู่ในไลน์ 4-5 กลุ่ม  มาพอปิดรับออร์เดอร์ปุ๊บ ไรเดอร์จะรวบรวมและส่งออร์เดอร์ให้ร้านอาหารผ่านแอป ในแง่ของการทำงานก็จะสะดวกและรวดเร็วขึ้น เพราะจะแพลนออกมาเลยว่า วันนี้ต้องสั่งอาหารร้านไหนบ้าง คอนโดไหน ใครสั่งอะไร ไรเดอร์ของเราจะเป็นรถยนต์ เพราะเราส่งอาหารแต่ละครั้งเยอะมาก 10 กว่าคอนโด แล้วเราจะหาลูกค้าให้เขา จัดโซนให้ ถ้าใครสนใจจะมาวิ่งก็ติดสติกเกอร์รถตกป๊อกวิ่งโซนนั้นได้เลย”

 

 

     หลังจากทำป๊อกป๊อกมาครบ 2 ปี ปัจจุบันมีไรเดอร์ 11 คน และมี 16 เส้นทาง ได้แก่ สุขุมวิท-บางนา, จตุจักร-สะพานควาย, ดอนเมือง-สงประภา, หทัยราษฎร์, เลียบคลองสอง, รังสิต-คลอง 3, รามคำแหง-ราษฎร์พัฒนา, กัลปพฤกษ์-ท่าพระ, บางกระดี-บางพูล, บางใหญ่-แก้วอินทร์, บางใหญ่-คลองถนน, คู้บอน, ลาดกระบัง-วัดศรีวารีน้อย, หลักสี่-เกษตร, อโศก-พระราม  และ รังสิต-คลอง 2 โดยมีรายได้เฉลี่ยจะอยู่ที่ 7,000-10,000 บาทต่อวันต่อคัน  

     “ปีที่แล้วเรามีรถ 5 คัน ปีนี้ผ่านมา 4 เดือน เรามีรถเพิ่มเป็น 11 คัน ส่วนเส้นทางเราตั้งเป้าว่าอย่างน้อยจะเพิ่มให้ได้เดือนละ 1-2 เส้นทาง และน่าจะต้องมีรถประมาณ 15 คันในปีนี้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ก็เราก็จะทำรายได้แตะ 50 ล้านบาทในปีนี้ และต่อไปเราอาจจะขยายไปขายอย่างอื่นนอกจากอาหาร เช่น ผลไม้ โดยที่เราไม่ต้องสต๊อกสินค้า แค่ไปหาซัพพลายเออร์ และจัดส่งให้ลูกค้าต่อไป” นัฐพงศ์ กล่าวในตอนท้าย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup