แก้ปัญหาลูกค้าผิดนัดด้วยระบบนัดหมาย ‘AAppoint’ สตาร์ทอัพไทยที่อยากทวงเวลาที่เสียไปมาเป็นกำไรให้ร้านค้า!
Text : rujrada.w
ปัญหาที่คลินิกทันตกรรมหรือคลินิกเสริมความงามต้องพบเป็นประจำ คือ คนไข้ไม่มาตามนัดหมายหรือบางครั้งคนไข้มาที่คลินิกโดยที่ไม่ได้นัดล่วงหน้าแต่แพทย์เฉพาะทางไม่อยู่ ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ย่อมหมายถึงการสูญเสียรายได้จากลูกค้าคนนั้นๆ ไป รัฐพล นาควิเชียร CEO และผู้ก่อตั้ง AAppoint ระบบจัดการนัดหมายได้ประเมินมูลค่าความเสียหายของคลินิกเล็กๆ ในอำเภอหรือจังหวัดต่างๆ รวมแล้วสูงถึงเกือบ 6,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่ง AAppoint เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานั้น
- ทวงคืนลูกค้าที่หายหน้าไป
รัฐพลมองเห็นปัญหาในคลินิกทันตกรรมที่ภรรยาของเขาเป็นหุ้นส่วน และมองไปไกลกว่านั้นว่าเรื่องนี้ก็เป็นปัญหาของธุรกิจบริการจำนวนมากในประเทศไทยเช่นกันไม่ใช่เฉพาะคลินิก หากพัฒนาแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์ครอบคลุมธุรกิจที่ลูกค้าต้องไปที่หน้าร้านเพื่อรับบริการย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง
“โดยปกติแล้วพนักงานจะจดและเขียนบัตรนัดให้คนไข้ ก่อนจะมาบันทึกเข้าคอมพิวเตอร์แล้วถ่ายรูปส่งให้หมอ บางทีก็บันทึกหน้าจอเฉพาะส่วนนัดหมายของแต่ละคนส่งให้คนไข้ผ่านไลน์หรือโทรบอก แต่ถ้ามีคนที่ต้องแก้นัดหมายก็ต้องทำกระบวนการที่ว่ามาใหม่ทั้งหมด เราก็เลยออกแบบแพลตฟอร์มให้ทั้ง 3 ฝ่ายสามารถจะเชื่อมต่อกันได้ คือแค่กรอกข้อมูลแค่ไม่กี่ขั้นตอน ข้อมูลจะถูกส่งไปถึงหมอ คนไข้ และเก็บลงใน data base ที่เจ้าของร้านจะเข้ามาดูเมื่อไรก็ได้ และจะมีฟีเจอร์การ reschedule ให้กับทั้งทางร้านและคนไข้สามารถเปลี่ยนแปลงนัดหมายได้และรับรู้กันทุกฝ่ายในทีเดียว”
AAppoint ออกแบบมาโดยยึด 2 แกนหลัก คือ 1. ยืนยันคนไข้ให้มาใช้บริการ และ 2. ทำให้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคนรับบริการ คนให้บริการ หรือคนกลางที่คอยจัดการนัดหมาย สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น ดีขึ้น
“ในช่วงโควิดปีที่แล้ว คลินิกของเราที่ขอนแก่น เชื่อไหมว่าจากเดิมที่มีคนไข้นั่งรออยู่ 40 คน เราทำให้มีคนไข้อยู่ในร้านแค่ 3 คน แต่หมอสามารถรักษาคนไข้ได้ทั้ง 40 คน ซึ่ง 3 คนนั้นคือคนที่มารอเข้า กับอีกคนรอจ่ายเงินเพื่อจะกลับ และอีกคนอยู่ในห้องทำฟัน เราทำทุกอย่างให้มันเป็นระบบ”
หลังจากที่เริ่มเปิดให้ใช้บริการผลลัพธ์ปรากฎชัดเจน คือ ตั้งแต่พฤษภาคมปีที่แล้วจนถึงมีนาคมปีนี้ใน 14 คลินิกที่ใช้งาน AAppoint จำนวนคนที่มาตามนัดหมายอยู่ที่ประมาณ 89% อีก 11% ที่เหลือเป็นนัดหมายที่ถูกเลื่อนทั้งที่ตัวลูกค้าเลื่อนเองหรือแอดมินเลื่อนให้ แต่คนไข้ที่ผิดนัดจริงๆ ไม่ถึง 0.2% เท่านั้น
“ผมกำลังจะบอกว่าคนไทยไม่ใช่คนที่ผิดนัดขนาดนั้น แต่เขาไม่มีเครื่องมือหรือช่องทางให้เขาเลื่อนนัดหมาย ซึ่งแต่ก่อนแล้ว 11% นั้นก็คือคนที่ผิดนัด”
- เชื่อมต่อลูกค้าเก่าให้กลับมาใช้บริการใหม่
ปัจจุบันนี้แทบทุกธุรกิจมักทำการตลาดจ่ายเงินค่าโฆษณาในเฟซบุ๊กหรือกูเกิลเพื่อหาลูกค้าใหม่อยู่ตลอด แต่กลับหลงลืมลูกค้าเก่าที่เคยมาใช้บริการแล้วหายหน้าไป
“ผมไปด้านหลังคลินิกแล้วเห็นชาร์ตกระดาษสีฟ้าที่เป็นข้อมูลของคนไข้ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 5,000-10,000 ใบ ผมก็ถามเจ้าของคลินิกว่าเคยเรียกคนไข้เก่าๆ กลับมารับบริการอีกรอบไหม ทำไมถึงมัวแต่ไปจ่ายเงินให้เฟซบุ๊ก กูเกิล เพื่อหาคนไข้ใหม่ๆ ผมก็เลยคิดว่า AAppoint จะไม่ใช่แค่จัดการนัดหมาย แต่เราเชื่อมต่อผู้คนไว้ให้ร้านค้า และเมื่อไรก็ตามที่คนต้องการจะติดต่อกันอีกรอบคุณมีเครื่องมือแล้วคุณติดต่อเขาได้เลย”
- ไม่ใช่แค่คลินิก แต่ธุรกิจบริการอื่นๆ ก็ใช้ได้
ลูกค้าหลักของ AAppoint เป็นคลินิกทันตกรรม ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลังจากนี้จะขยายกว้างขึ้นไปถึงคลินิกเสริมความงาม ร้านทำผม-ทำเล็บ
“ทุกธุรกิจบริการที่คนต้องเข้าไปเพื่อรับบริการอาจจะจำเป็นที่จะต้องใช้ AAppoint สมัยนี้เวลาเป็นเรื่องสำคัญทั้งผู้ประกอบการและคนรับบริการก็อยากจะจัดการเวลาของตัวเองได้ดี เจ้าของร้านไม่อยากที่จะเปิดร้าน 7-8 ชั่วโมงแล้วมีคนเข้าร้านมาแค่คนเดียวตอน 4 โมง และเราจะทำอย่างไรให้ลูกค้ารู้สึกว่าเขาเป็นคนสำคัญ ไม่โดนแทรกคิว นัดหมายแล้วได้รับบริการตามเวลา”
ตัวอย่างของธุรกิจที่สนใจแพลตฟอร์ม AAppoint ที่รัฐพลเองก็แปลกใจไม่น้อยเพราะไม่ได้อยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้เลย คือ ห้างทอง
“เขาบอกว่าเอาไปใช้กับลูกค้าจำนำทอง เพราะลูกค้าจำนำทองจะต้องมาต่อดอกเบี้ยทุกเดือนไม่อย่างนั้นของที่เขาจะเอาไปจำไว้จะหลุด แต่ปัญหาที่เขาเจอคือลูกค้ามาไม่ตรงเวลา ซึ่งตามหลักแล้วร้านทองจะขึ้นดอกเบี้ยทุก 30 วันเป๊ะๆ แต่มักมีการอะลุ้มอล่วย สมมติจะขึ้นดอกเบี้ยวันที่ 8 แต่วันที่ 9 หรือวันที่ 10 เขามาบอกว่าแค่ 2 วันเอง เจ้าของร้านทองก็ยอม แต่ถ้าใช้บริการ AAppoint ถ้านัดหมายวันที่ 8 วันที่ 7 ก็จะมีแจ้งเตือนและยืนยันการนัดหมาย ซึ่งจะใส่ข้อความเข้าไปเพิ่มได้ว่าถ้าไม่มาจ่ายภายในวันนั้นดอกเบี้ยก็จะขึ้นเป็นการแจ้งบอก ซึ่ง AAppoint นอกจากจะทำให้เขาไม่เสียรายได้แล้วยังเป็นการสร้างรายได้เพิ่ม เพราะถือว่าแจ้งเตือนนี้ได้ยืนยันไปแล้วว่าถ้ามาหลังจากวันนั้นดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นแน่นอน”
ในระยะยาว 3 ปีเราน่าจะได้เห็น AAppoint ในทุกภาคส่วนของธุรกิจบริการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร หรือโรงแรมโดยคิดแบบกลับด้านไม่ให้ซ้อนทับกับระบบการจองโรงแรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือแทนทีจะเปิดจองโรงแรมแล้วขายสปา AAppoint จะเปิดให้คนที่อยากพักผ่อนนัดจองสปา 3 วัน 2 คืน แล้วจองห้องพักที่โรงแรมพร้อมอาหารเช้าเป็นแพ็คเกจแถมพ่วง คือเน้นที่การขายบริการอื่นๆ ก่อนนั่นเอง
มากไปกว่านั้นคือระยะยาวอีก 5-10 ปีข้างหน้า AAppoint อาจจะเป็นตัวช่วยผู้ประกอบการขนาดเล็กเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น
“AAppoint สามารถที่จะเป็นแนวทางใหม่ในการทำให้ผู้ประกอบการสามารถมีทุนในการทำธุรกิจ โดยปกติแล้วการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินมักจะต้องดูธุรกรรม 6 เดือนย้อนหลัง คำถามคือ 6 เดือนนี้จะทำอย่างไรให้คุณมีรายได้ตามคาดหวังได้จริงๆ นั่นเท่ากับ AAppoint กำลังทำประกันรายได้ให้กับธุรกิจ และการประกันรายได้นี้จะเป็นสิ่งที่ธนาคารหรือคนที่ปล่อยกู้ควรจะต้องมองแล้ว”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup