Tech Startup

GI-OTOP ไทยต้องได้โต! Herbs starter แพลตฟอร์มปั้นธุรกิจชุมชนให้ขายได้ในตลาดดิจิทัล

 

Text : rujrada.w

     ภาพจำของการซื้อสินค้าชุมชนคือมักต้องไปถึงถิ่นหรือรอเกษตรกรผู้ผลิตมาออกร้าน แต่การเกิดขึ้นของแพลตฟอร์ม Herbs Starter ได้เข้ามายกระดับสินค้าเกษตร GI และ OTOP ให้มีอัตลักษณ์โดดเด่นและเป็นสื่อกลางทำการตลาดบนโลกดิจิทัล สร้างรายได้ที่มากกว่าเดิม

     ศิริพัฒน์ มีทับทิม CEO และ Co-Founder บริษัท บอร์น อาร์ดีไอ เซ็นเตอร์ จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Herbs Starter บอกกับเราว่าสินค้าชุมชนไม่ด้อยคุณค่าแต่ว่าสื่อสารออกมาไม่ได้ ทำให้คุณค่าของสินค้าไม่ถึงในจุดที่ควรจะเป็น ทำให้คนที่ซื้อเขาแยกไม่ได้ว่าสินค้าของแต่ละที่ทำไมจึงต่างกัน

 

 

     ความคิดแบบนั้นจุดประกายให้ผุ้ร่วมก่อตั้งทุกคนที่มีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวข้องกับด้าน SME ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาธุรกิจมาก่อน มารวมตัวกันสร้างแพลตฟอร์มที่จะถ่ายทอดและเล่าเรื่องราวทำให้ผู้บริโภคเข้าใจคุณค่าของผลิตภัณฑ์ชุมชน แต่เมื่อลงมือทำงานจริงกลับได้เห็นรากของปัญหาที่ลงลึกไปมากกว่าแค่ “การตลาด”  ภารกิจของ Herbs Starter จึงเปลี่ยนไปและเริ่มพัฒนาธุรกิจชุมชนทั้ง Ecosystem แทน

     “ถ้าอีก 2 ปีเราไม่ทำสำเร็จการเปลี่ยนแปลงของดิจิทัลจะทำให้สั่นสะเทือนกับชุมชน ถ้าเขาไม่มีการเตรียมตัวที่ดีเขาจะอยู่ไม่ได้”

 

  • สร้างความเข็มแข็งให้ธุรกิจชุมชนด้วย Ecosystem

     โดยวิธีคิดของชุมชน คือ ทำผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบชุมชน หรือมีภูมิปัญญาของตัวเอง แต่ขาดความรู้ความเข้าใจด้านการวางโครงสร้างด้านราคา กลยุทธ์การเข้าตลาด จนถึงกระทั่งวิเคราะห์ว่าของจะไปถึงมือลูกค้าอย่างไรให้ลูกค้าประทับใจ บางชุมชนขายของไปแล้วมารู้ตัวทีหลังว่าขาดทุน

     “ที่ผ่านมาทั้งภาครัฐและเอกชนพยายามสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนแต่ยังไม่ยั่งยืนเพราะไม่ได้คิดทั้งระบบตั้งแต่ต้นไปจนถึงปลาย หมายถึงว่าหน่วยงานที่ไปส่งเสริมให้คิดโปรดักต์ก็ไม่ได้มองว่าโปรดักต์นี้ปลายทางจะไปถึงใคร เมื่อปลายทางถึงใครแล้วก็ไม่ได้ย้อนกลับมาว่าจะทำให้เกิดความประทับใจ เกิดการสั่งซื้อซ้ำ หรือการขยายธุรกิจอย่างไร แล้วเอากลับมาพัฒนาต้นทาง ซึ่งการช่วยเหลือต่างๆ นอกจากจะมาเป็นท่อนๆ แล้วยังมีเรื่องของเวลาด้วย มาคนละเวลากัน ไม่พอดีกัน นี่คือจุดที่เราเห็นว่าเป็นปัญหาหนักมาก ถ้าชุมชนก้าวข้ามตรงนี้ไม่ได้ในอีก 2 ปี ก็จะลำบากแล้ว เพราะ 2 ปีต่อจากนี้คนที่ได้ตลาดก็จะได้ไปเลย คนที่ตามไม่ทันก็จะหมดแรงไป เราจึงสร้างแพลตฟอร์มให้เป็น ecosystem แล้วมองทุกอย่างอย่างเป็นระบบ”

 

 

     Herbs Starter ทำงานร่วมกับชุมชนโดยเริ่มต้นจากวิเคราะห์ศักยภาพในการเข้าสู่ตลาดเป็นอย่างแรกโดยโปรแกรมที่เรียกว่า BDM Program ที่ทำให้ชุมชนรู้ตัวก่อนเลยว่าเขามีความพร้อมระดับไหน พิจารณาว่าสินค้ามีความพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดได้จริงหรือไม่ วิเคราะห์คู่แข่ง ขนาดของสินค้า กำลังการผลิต หรือโครงสร้างต้นทุนเหมาะสมหรือยังที่จะทำตลาดออนไลน์

     “เอาความรู้ที่เรามีไปเร่งโต ให้เขามีต้นแบบของผลิตภัณฑ์ที่จะเข้าสู่ตลาดออนไลน์ โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นผลิตภัณฑ์จากการที่เราเข้าไปค้นคว้าร่วมกับชุมชนว่าควรจะถ่ายทอดออกมาเป็นแบบไหน แล้วเราทำรีเสิร์ชเล็กๆ จากคนที่ตัดสินใจซื้อจริงเพื่อมาหาว่าสุดท้ายแล้วสินค้าชุมชนนี้จะสำเร็จในตลาดออนไลน์หรือไม่ ให้เขาทดสอบตลาด จากนั้นค่อยเอาความต้องการ เอาอินไซต์ความต้องการของคนที่ซื้อจริงมาช่วยพัฒนาเขา หลังจากนั้นให้ทดลองขนส่ง ว่าขนส่งเจ้าไหนดี เวลาขนส่งแล้วเสียหายไหม ทดสอบแบบนี้จนมั่นใจว่าเขาพร้อมที่จะขายจริง”

 

  • ตั้งศูนย์เร่งโตผลักดันธุรกิจชุมชนให้โตแบบ Startup

     Herbs Starter อยากให้ธุรกิจชุมชนทำงานแบบ Startup คือ ล้มให้เร็ว เรียนรู้ให้เร็ว และเติบโตได้เร็ว

     “เราทำโมเดลการตั้งศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของชุมชนขึ้นมา เพราะว่าศูนย์นวัตกรรมฯ ช่วยให้เหมือนมีรุ่นพี่รุ่นน้อง คนที่พร้อมก่อน ออกตลาดก่อน เห็นโอกาส เห็นปัญหา แล้วเอาความรู้มาช่วยคนที่กำลังตามมาในพื้นที่ใกล้ๆ กัน เราได้เริ่มทำแล้วที่จังหวัดน่านและกำลังจะทำต่อที่นครนายกและอยุธยา ซึ่งโมเดลนี้จะทำให้ชุมชนมีความสนิทใจที่จะรวมตัวกันมากขึ้น ในขณะเดียวกันเราเองก็มีผู้ที่ช่วยประคับประคอง ให้กำลังใจ และทำให้เกิดกระบวนการทดสอบแบบ fail fast สิ่งที่สำคัญของเราคือเรื่องเวลา เรามีนิยามของศูนย์นวัตกรรมฯ นี้ว่าเป็นเหมือนศูนย์เร่งโตให้ชุมชน เอาโมเดลของ startup มาจับกับธุรกิจชุมชน

     ตอนแรกเป็นเรื่องยากมากเพราะคนไม่คุ้นกับแรงเสียดทานแบบ startup แต่พอเขาเริ่มเห็นว่าเขามีจุดบกพร่องอย่างไร เขาเริ่มตามลูกหลาน ตามคนที่พอมีความรู้มาประกบ แบบนี้เรามองเห็นว่าถ้าทำได้จะทำให้เกิดการดึงแรงงานจากเมืองออกไปสู่ชุมชนและสร้างการเติบโตในท้องถิ่นของเขา นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็นสังคมแบบนี้ เพราะจะทำให้ภูมิปัญญาได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นใหญ่สู่คนหนุ่มสาว

 

 

  • โฟกัสสินค้า GI / OTOP / Organic

     อย่างที่บอกในตอนต้นว่า Herbs Starter เน้นพัฒนาธุรกิจชุมชน โฟกัสไปที่สินค้า OTOP สินค้าที่ได้รับมาตรฐาน GI (Geographical Indications) คือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้าออแกนิก ซึ่งศิริพัฒน์ให้เหตุผลไว้ว่า “เราไม่ใช่แพลตฟอร์มที่ขายอะไรก็ได้ ให้ใครก็ได้ อย่างนั้นเราก็ไม่ต่างกับรายใหญ่ในตลาด แพลตฟอร์มของเราโฟกัส GI, OTOP, Organic เราใช้จุดนี้เป็นจุดเด่นในการทำตลาด ขณะเดียวกันก็ทำให้แยกเราจากแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ที่มีอยู่ เพราะแพลตฟอร์มใหญ่เขาก็ไปมุ่งตลาดแมส ของเราเป็นตลาดเฉพาะก็ไม่ทำให้เกิดการทับซ้อนกัน”

     ระหว่างทางที่ทำ Herbs Starter จึงได้เข้าไปเห็นว่าชุมชนไม่ได้มีแค่สินค้าเกษตร แต่มีภูมิปัญญาเรื่องงานคราฟท์หรืองานหัตถกรรมต่างๆ เป็นไอเดียให้ต่อยอดเป็นแพลตฟอร์ม Crafts Starter ขณะเดียวกันก็มีบางชุมชนที่ขอทุนของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติได้และสร้างนวัตกรรม แพลตฟอร์ม Inno starter ก็เข้าไปสนับสนุน ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ บริษัท บอร์น อาร์ดีไอ เซ็นเตอร์ จำกัด

     “บางชุมชนเข้มแข็งไปกว่านั้นไม่ใช่แค่ผลิตสินค้าได้ แต่รวมตัวกันแล้วทำตลาดกับเรื่องเฉพาะ เราก็สนับสนุนชุมชนให้ไปขอทุนของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเพื่อสร้างแพลตฟอร์มเพื่อนำเสนอสินค้าในแบบที่ตัวเองถนัด อย่างตอนนี้ที่ได้ทุนมาแล้วก็จะเป็นแพลตฟอร์ม vegan go อันนี้เป็นการรวมตัวของชุมชนที่จะทำสินค้าจากการเกษตรแต่โฟกัสไปในตลาดเจ หรือมังสวิรัติ”

 

 

  • เชื่อมต่อรายใหญ่เพื่อขยายตลาด

     Herbs Starter และแพลตฟอร์มพี่น้องภายใต้ Bond Thailand เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นจนแพลตฟอร์มใหญ่อย่าง Robinhood เข้ามาขอเชื่อมในการที่จะเปิดตลาดชุมชนไปสู่ HoReKa และไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มเดียว ซึ่งจะเป็นประตูเปิดไปสู่ตลาดที่กว้างขึ้น

      “ที่ผ่านมาเรามีแผนโตไปทางด้านออนไลน์มาก่อน แต่ตอนนี้เรากำลังมองถึง Hybrid store ซึ่งอยู่ในจุดที่คนสั่งซื้อเยอะๆ เพราะผู้บริโภคบางรายเขาอยากได้ของจากหลายชุมชนพร้อมกัน เราสามารถกระจายของได้เร็วขึ้นโดยใช้ไรเดอร์ของ Robinhood ซึ่งก่อนหน้านี้ถ้าเป็นของจากหลายชุมชนในจังหวัดเดียวกันเราแก้ปัญหาโดยทำให้เป็นศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจชุมชนสร้างสรรค์ ในนั้นมันมีเรื่องของการทำ fulfillment ด้วย แต่ตอนนี้พอมีความต้องการหลายจังหวัด เราต้องกลับมาทำในส่วนที่กรุงเทพฯ ด้วย เอาสินค้าจากหลายจังหวัดที่มีการสั่งซื้อประจำ มีอายุการเก็บนานระดับหนึ่งมาอยู่ที่กรุงเทพฯ เพื่อตอบสนองผู้บริโภคกลุ่มที่ต้องการของทันที หรือต้องการให้ส่งแบบ Same Dayซึ่งเราวางแผนว่าปีนี้เราจะขึ้นให้ได้สัก 2 เพื่อให้ทันกับของ Robinhood ที่เขาจะเปิดตัวในเดือน 7 เราจึงต้องเร่งโตให้ทันเขาเหมือนกัน และคาดว่าปีหน้าจะทำให้ได้ 4 สาขา”

     จากแนวคิดเริ่มต้นแค่เพียงสร้างแพลตฟอร์มการตลาดที่ดูแลปลายน้ำให้กับธุรกิจชุมชน พวกเขาได้สร้างแพลตฟอร์มที่พัฒนาธุรกิจหนึ่งได้ตลอดทั้งซัพพลายเชน

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup