Tech Startup

Hearing Heart สตาร์ทอัพไทยสายเฮลท์สร้างแพลตฟอร์มนักฟังเชิงลึก ติดปีกใจให้มีหูสู่สังคมที่ดีกว่า

 

Text : rujrada.w

     ปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องใหญ่ คนเราเผชิญความเครียดและความวิตกกังวลกันแทบทุกวัน และตั้งแต่โควิด-19 ระบาดก็ยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดความเครียดและความจำเป็นที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคมก็ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น ซึ่งวิธีหนึ่งที่แก้ได้และทำได้ง่ายมาก คือ “การรับฟัง” นี่จึงเป็นที่มาที่ วิน-กวิน เจิดจรรยาพงศ์ และเพื่อน เริ่มพัฒนา Startup ด้าน Mental HealthTech ที่ชื่อว่า Hearing Heart แพลตฟอร์มสร้างนักฟังเชิงลึก (Deep Listener) เพื่อเยียวยาจิตใจเพื่อนมนุษย์

 

 

     เหตุผลที่วินให้ความสนใจเรื่องสุขภาพใจเพราะคุณแม่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เธอพยายามฆ่าตัวตายแล้วก็สำเร็จด้วย เขาจึงคิดว่าเรื่องนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกกับครอบครัวอื่น และพยายามผลักดันประเด็นนี้มาตลอด

     “ก่อนจะมาเป็นแพลตฟอร์ม Hearing Heart เราพยายามทำหลายอย่าง ทั้งร่วมกับรัฐบาลและเอกชนขอทุนทำเว็บไซต์ชื่อ moom-mong.com ขึ้นมา ทำเป็นแพลตฟอร์มให้คนมาระบาย แต่ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดเพราะสุดท้ายแล้วเมื่อระบายออกมาแต่ไม่มีคนฟังก็ไม่มีประโยชน์อยู่ดี เราเลยต้องเทรนคนที่เป็นผู้รับฟังเพิ่มขึ้นมา”

 

 

  • สร้างบุคคลทั่วไปให้กลายเป็นนักฟังเชิงลึก

     เรามักได้ยินคำแนะนำคนที่เครียดหรือกำลังป่วยใจให้ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา แต่ปัญหาในตอนนี้คือประเทศไทยมีจิตแพทย์กับนักจิตวิทยาไม่เพียงพอ จากข้อมูลของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ทรัพยากร กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2563 จะพบว่าเรามีผู้เชี่ยวชาญการบำบัดโรคทางจิตเวช (จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา) เพียง 3.49 คนต่อประชากรไทย 100,000 คน และกรมสุขภาพจิตที่ให้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่รับสายได้ประมาณวันละ 200,000 สายกลับคู่สายเต็มตลอดเพราะบุคลากรไม่เพียงพอ

     “เราต้องสร้างคนที่เป็นนักฟังเชิงลึกทั่วไปที่เอาทักษะนี้ไปใช้ฟังคนในครอบครัวหรือคนในองค์กร ทำให้การฟังแทรกซึมเข้าไปในสังคมมากขึ้น”

     หากมีคนที่มีทักษะการฟังเชิงลึกในครอบครัวจะทำให้คนในครอบครัวเข้าใจกันได้มากขึ้นมีการศึกษามากมายที่แสดงให้เห็นว่าการฟังจากคนรอบข้างช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวลได้ สำหรับคนที่เป็นซึมเศร้าถ้าใช้วิธีนี้ควบคู่ไปกับยาก็จะดีกว่า

     ขณะเดียวกันทักษะนี้ก็สามารถใช้ในที่ทำงานเพราะคนมีปัญหาเครียดกันอยู่แล้ว หากคนทำงานรับฟังกันมากขึ้นก็จะทำให้ปัญหาในองค์กรลดลง การฟังเชิงลึกอยู่ในศาสตร์ positive psychology เป็น Soft Skill ที่ทำให้ลดความขัดแย้งในองค์กรได้นั่นเอง

 

 

  • ฝึกฟังอย่างถูกต้อง

     เราถามว่านักฟังเชิงลึกที่ดีเป็นอย่างไร วินบอกว่าหลักการนั้นไม่ยาก คือ การฟังอย่างเข้าใจและฟังอย่างไม่ตัดสินจากประสบการณ์ของตัวเอง แต่การฟังเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนจึงจะเป็นผู้ฟังที่ดีได้

     กระบวนการของแพลตฟอร์ม Hearing Heart เป็นการเรียนออนไลน์ ผู้สมัครจะเริ่มต้นจากการทำแบบทดสอบและเรียนเรื่องทฤษฎีการฟังเชิงลึกที่พัฒนาร่วมกับกรมสุขภาพจิต เมื่อเรียนเสร็จจะก้าวไปอีกขั้นเป็นการฝึกฟัง ระบบจะสุ่มวิดีโอสถานการณ์ตัวอย่าง เช่น เคสในครอบครัวให้ได้ฝึกฟังอย่างตั้งใจและโต้ตอบ โดยมีผู้เชี่ยวชาญเป็นนักจิตวิทยาจากทีม 1323 มาประเมินและให้คำแนะนำ หากผ่านการประเมินจะได้รับประกาศนียบัตรที่ได้รับการรับรองจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ (CAMRI)

 

 

     Hearing Heart เปิดสอนทั้งบุคคลทั่วไปและเข้าไปฝึกให้กับองค์กรต่างๆ ในลักษณะคล้ายกับคอร์สพัฒนาทักษะบุคลากรในด้านอื่นๆ

     “เราอยากให้สังคมตระหนักทั้งในระดับบุคคลทั่วไปหรือว่าระดับองค์กร ถ้าคุณอยากจะแก้ปัญหาในองค์กรหรือในครอบครัว อาจจะมีพ่อแม่หรือมีเพื่อนป่วยแล้วเป็นห่วงแต่ไม่รู้จะทำอย่างไรดี นี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ง่าย และได้ผลดีใน 2 มิติ คือ 1. เป็นการพัฒนาตัวเองให้มีทักษะใหม่ติดตัว และ 2. เกิดผลดีกับคนใกล้ชิดจากการฟังที่ทำให้เขารู้สึกสบายใจขึ้น และท้ายที่สุดในอุดมคติของเราอยากให้นักฟังเชิงลึกมีรายได้ สร้างเป็นอาชีพใหม่ขึ้นมา”       

     วันนี้ Heart Hearing กำลังค่อยๆ สร้างส่วนเติมเต็มให้ระบบบริการสุขภาพจิตของไทยมีความแข็งแกร่งกว่าที่ผ่านมา

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup