ฝันเป็นเจ้าของสตาร์ทอัพไม่ยาก 10 ข้อแนะนำหรับการเริ่มต้นธุรกิจในวัยเรียน
Text : Vim Viva
กลายเป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ไปแล้วที่การเป็นมนุษย์เงินเดือนไม่ใช่ความใฝ่ฝันในอาชีพอีกต่อไป แต่สิ่งที่พวกเขามองหาคืออิสรภาพทางอาชีพ หรือพูดง่าย ๆ คือการมีธุรกิจเป็นของตัวเองนั่นเอง มีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่เริ่มต้นธุรกิจตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา แน่นอนว่าการทำธุรกิจมีความเสี่ยงเสมอ แต่หากคุณหาตลาดเจอ รู้ว่าลูกค้าเป็นใคร จับทางได้ และรู้แนวการแข่งขัน การเริ่มต้นจะถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง
ข้อดีของการเริ่มต้นธุรกิจตั้งแต่ยังเรียนหนังสือคือสามารถเก็บข้อมูลจาก focus group ที่เป็นกลุ่มเพื่อน ๆ ในสถานศึกษา มีตลาดที่พร้อมรองรับอยู่แล้ว และมีอาจารย์คอยให้คำแนะนำ ที่เหลือคือการทำวิจัยหรือศึกษาตลาดเอง มีคำแนะนำเกี่ยวกับนักเรียนนักศึกษาที่สนใจเข้าสู่โลกของการดำเนินธุรกิจซึ่งเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยดังนี้
1.หา pain point หรือปัญหาให้เจอ
จากนั้นจึงพิจารณาดูว่าสินค้าหรือบริการใดที่สามารถตอบโจทย์ปัญหานั้นให้ผู้บริโภคได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็เป็นกรณีที่แอนโทนี่ ตัน ผู้ร่วมก่อตั้ง Grab ซูเปอร์แอปพลิเคชั่นที่ให้บริการใน 8 ประเทศ จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นตอนแอนโทเป็นนักศึกษาที่ฮาร์เวิร์ด บิสซิเนส สกูลแล้วเกิดแรงบันดาลใจในการคิดวิธีเรียกแท็กซี่ที่สะดวกและปลอดภัยสำหรับผู้โดยสาร จากแผนธุรกิจถูกต่อยอดมาเป็นธุรกิจจริงโดยได้รับเงินทุนเบื้องต้นจากฮาร์เวิร์ด 25,000 ดอลลาร์ ปัจจุบัน Grab ขึ้นแท่นสตาร์ทอัพระดับ decacorn ที่มีมูลค่าเกิน 10,000 ล้านดอลลาร์ และเป็นสตาร์ทอัพขนาดใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2.มองให้ออกว่ากลุ่มลูกค้าเป็นใคร
หลังจากที่คิดออกว่าจะทำธุรกิจอะไร ลำดับต่อไปคือการมองหากลุ่มเป้าหมายว่าลูกค้ากลุ่มไหนที่ยินดีจะซื้อสินค้าและบริการของเรา สิ่งที่ต้องทำคือการศึกษาตลาดเพื่อดูว่าสินค้าและบริการของเราเป็นที่ต้องการหรือไม่ หากยังพอมีช่องว่างในตลาด ให้สำรวจต่อไปว่าตลาดนั้นกว้างแค่ไหน และมีคู่แข่งมากน้อยเพียงใด แล้วประเมินดูว่าคุ้มหรือไม่หากจะเข้าไปเป็นผู้เล่นอีกราย
3.วิเคราะห์การแข่งขันในตลาด
อันนี้สำคัญมาก ควรเริ่มด้วยการตั้งคำถามมีคู่แข่งรายอื่นที่ขายสินค้าหรือบริการเดียวกันกับเราหรือไม่ ถ้ามี สินค้าและบริการของเราแตกต่างจากเจ้าอื่นอย่างไร โดดเด่นพอที่จะหันเหความสนใจของลูกค้าจากคู่แข่งได้หรือไม่ โดมินิก เซเลนทาโน่ อาจารย์สอนวิชาเกี่ยวกับผู้ประกอบการที่มหาวิทยาลัยแฟร์เลห์ ดิคคินสันแนะว่านักศึกษาต้องมองที่ความเป็นไปได้ ต้องเข้าใจตลาดอย่างถ่องแท้ก่อนจึงก้าวเท้าเข้าไป
4.ขอความช่วยเหลือจากอาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
จงใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบุคคลในสถาบันที่เรียนอยู่โดยการเข้าหาอาจารย์หรือคนที่เกี่ยวข้อง เช่น ลองนำแผนธุรกิจที่อยากทำไปให้อาจารย์ดูเพื่อขอคำแนะนำว่าเป็นไอเดียที่ดีพอหรือไม่ ควรแก้ไขหรือเพิ่มเติมอะไร ยิ่งสถาบันไหนมี Business Incubation Center หรือศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ โอกาสที่จะได้ทุนสนับสนุนจากนักลงทุนก็จะมีมากขึ้นหากแผนธุรกิจน่าสนใจพอ
5.ทำแผนธุรกิจขึ้นมา
หลังจากที่สรุปไอเดียได้ว่าจะทำธุรกิจอะไร ทีนี้ก็เป็นการวางแผนธุรกิจเป็นขั้นเป็นตอน เช่น คำนวณดูว่าต้องใช้เงินทุนเท่าไร ระยะเวลาแค่ไหนในการเตรียมงานก่อนเปิดตัวธุรกิจ ทำเลธุรกิจคือที่ใด เปิดหน้าร้าน หรือขายออนไลน์ ต้องสต็อกสินค้าอย่างไร การกำหนดกลยุทธ์การตลาดและการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ เป็นต้น แล้วค่อยดำเนินตามแผน อย่างน้อยก็ให้เป็นขั้นเป็นตอน
6.ทดลองทำ MVP (Minimum Viable Product)
หรือการผลิตสินค้าเพื่อทดลองตลาดโดยยังไม่ต้องเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานเต็ม เป็นการชิมลางและดูปฏิกิริยาของผู้บริโภคว่ามีแนวโน้มต่อสินค้าอย่างไร หากได้รับการตอบรับดี ค่อยผลิตแบบฟูลออปชั่นออกสู่ตลาด ทั้งนี้ MVP เป็นสินค้าทดลองตลาดที่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบที่สุด แต่ถือว่าเป็นเหมือนไอเดียแรกสุดในการผลิตสินค้า
7.ตรวจสอบข้อบทกฏหมายด้านต่าง ๆ
อาทิ ต้องมีใบอนุญาตจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น องค์การอาหารและยา (อย.) ต้องดำเนินธุรกิจในนามบริษัทหรือไม่ และสินค้าและบริการที่พัฒนาขึ้นต้องไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หากทุนถึง การจ้างที่ปรึกษาด้านกฏหมายอาจเป็นสิ่งจำเป็น แต่โดยมากนักศึกษามักไม่มีเงินจ้างที่ปรึกษา การเข้าหานักกฏหมายอาสา หรือกระทั่งขอคำปรึกษาจากนักศึกษาด้านนิติศาสตร์ก็อาจเป็นทางเลือกที่ดี
8.ให้ตระหนักถึงความเสี่ยงทางการเงิน
การเป็นผู้ประกอบการถือเป็นความใฝ่ฝันของนักศึกษาหลายคน แต่สิ่งที่ควรรู้คือการเริ่มต้นธุรกิจมักมาพร้อมกับความเสี่ยงด้านการเงิน เนื่องจากบางธุรกิจต้องใช้เงินลงทุนก้อนโต และหลายครั้งเมื่อลงมือไปแล้วทุนมักบานปลาย ดังนั้น ความฝันที่จะเป็นนายตัวเองจึงอาจลงเอยด้วยความล้มเหลวและหมดตัว ดังนั้น ลองคิดหาหนทางลดความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่ออุดรอยรั่วแต่เนิ่น ๆ
9.สร้างทีมขึ้นมา
หลังจากที่ธุรกิจเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการสร้างทีมขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตยิ่งขึ้น นักศึกษาหลายคนไม่มีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจ ข้อดีของการมีทีมงานคือสามารถระดมสมองและความคิดหลากหลายจากทีมได้ อย่างน้อยก็มีแรงสนับสนุนจากทีม ซึ่งดีกว่าคิดเองเออเอง เพราะการทำงานแบบวันแมนโชว์ บางครั้งก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ
10.ถึงเวลาเปิดตัวธุรกิจ
ต้องวางแผนนิดนึงว่าจะเปิดตัวอย่างไร และช่องทางไหนที่ดูเข้าท่าสุด สำหรับคนรุ่นใหม่ การประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชี่ยลมีเดียดูเป็นช่องทางที่ง่ายและสะดวกสุด แต่ต้องเลือกสื่อที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเข้าถึง แต่ละเครือข่ายสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟสบุ๊ก อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์ กลุ่มผู้ใช้งานล้วนแตกต่างกัน
ทั้งหมดทั้งปวงเป็นแนวทางสำหรับผู้สนใจเริ่มต้นธุรกิจ ลองศึกษาดูและนำไปปรับใช้เผื่อเป็นประโยชน์
ข้อมูล
https://www.cnbc.com/2022/04/14/how-to-launch-a-start-up-while-youre-still-in-college.html
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup