Tech Startup

รู้จักสาวจีนแม่ลูกสอง ที่เปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นสิ่งทอ จับกลุ่มลูกค้า B2B รักษ์โลก

 

Text : Vim Viva

     นับตั้งแต่มีการผลิตพลาสติกเมื่อร้อยกว่าปีก่อน จนถึงปัจจุบัน พลาสติกก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนที่มาในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แต่ปัญหาหนึ่งที่ตามมาคือการย่อยสลายช้า เช่น ถุงพลาสติกที่ใช้เวลานับ 10 ปี หรือขวดพลาสติกบางประเภทที่กว่าจะย่อยสลายได้ก็กินเวลานับร้อยปีได้ก่อให้เกิดมลภาวะ ข้อมูลระบุหลังการกำเนิดของนวัตกรรมพลาสติก มีการผลิตพลาสติกไปแล้วมากกว่า 8,300 ล้านตัน โดยที่ร้อยละ 79 ของขยะจำนวนนี้หรือราว 6,300 ล้านตันยังคงกระจายตามที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในมหาสมุทร สร้างความเสียหายแก่สภาพแวดล้อมโลก

 

 

     จ้าว เหวินจิง หรือเจน จ้าว ผู้ประกอบการจากเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นคุณแม่ลูกสองได้จับตาดูสถานการณ์ด้วยความวิตกในฐานะที่จีนเป็นประเทศที่ก่อขยะพลาสติกมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และไม่มีกฏระเบียบใดที่ควบคุมเกี่ยวกับปัญหาขยะด้วยความที่ไม่อยากให้ลูก ๆ ของเธอเติบโตมาแล้วต้องเผชิญกับมลภาวะแบบนี้ เจนผู้ทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นและคลุกคลีในวงการสิ่งทอจึงเกิดแรงบันดาลใจในการแปรขยะพลาสติกให้กลับมาใช้ได้อีกในรูปสิ่งทอ

     จากข้อมูลที่ว่าประมาณ 52 เปอร์เซนต์ของพลาสติกที่ผลิตออกมาใช้ทั่วโลกเป็นพลาสติกประเภท PET หรือ Polyethylene terephthalate ที่สามารถรีไซเคิลได้ แต่มีเพียง 9 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่ถูกรวบรวมนำไปรีไซเคิล เจนจึงตัดสินใจก่อตั้งบริษัทพี.อี.ที. (P.E.T. Plastic Ecological Transformation) ในปี 2017 เพื่อนำพลาสติกที่รีไซเคิลแล้วหรือที่เรียกว่า rPET (Recycled polyethylene terephthalate) มาทำเส้นใยที่ใช้ทอผ้าประเภทต่าง ๆ    

     เจนกล่าวว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นขึ้นชื่อในการทำลายสิ่งแวดล้อมเนื่องจากแต่ละปีต้องใช้ทรัพยากรเช่นน้ำมันมากกว่า 70 ล้านบาร์เรล และน้ำราว 1.5 ล้านล้านลิตรในการผลิตสิ่งทอ แต่หากใช้ rPET ผลิตเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์จะช่วยบรรเทาการใช้ทรัพยากรลงได้ ปี 2018 หรือเพียงปีเดียวของการดำเนินธุรกิจ บริษัทพี.อี.ที.ก็สามารถขจัดขยะที่เป็นขวดพลาสติกได้มากกว่า 1 แสนขวด

      โดยหลังจากที่นำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลจนได้เป็น rPET ก่อนนำไปแปรรูปเป็นสิ่งทอชนิดต่าง ๆ และสิ่งทอที่ได้จากพลาสติกรีไซเคิลแบบ 100 เปอร์เซนต์นี้จะถูกออกแบบให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตามความต้องการของลูกค้าอีกที เช่น ถุงผ้าแคนวาส กระเป๋าผ้า ผ้าคลุมโต๊ะ ผ้าพันคอ รองเท้าผ้าใบ ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสุดได้แก่ถุงผ้าแคนวาส และผ้าพันคอคล้ายผ้าไหม ทั้งสองอย่างนี้แต่ละชิ้นทำจากขวดพลาสติกรีไซเคิล 3 ใบ โดยทั่วไป ธุรกิจของพี.อี.ที.จะแบ่งเป็น 4 ส่วนได้แก่

1.รับแปรรูปขยะพลาสติกให้กับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ซึ่งสองธุรกิจนี้จะใช้ขวดพลาสติกจำนวนมหาศาล ทางพี.อี.ที.จะรวบรวมขวดเหล่านั้นมารีไซเคิลและผลิตเป็นผ้าปูที่นอน ปอกหมอน ปลอกผ้านวม ผ้าปูโต๊ะ และผ้าเช็ดปากเพื่อส่งกลับคืนให้ใช้งาน  สำหรับโรงแรมและร้านอาหาร การจ้างพี.อี.ที.บริหารรีไซเคิลขยะพลาสติกให้เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกกว่าการลงทุนทำเอง

2.ผลิตของขวัญ ของชำร่วยและสินค้าที่ระลึกจากวัสดุรีไซเคิล ลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งคือ Palace Museum Zero Waste พิพิธภัณฑ์ปลอดขยะที่สร้างขึ้นเพื่อรณรงค์การลดขยะและการขจัดขยะพลาสติกด้วยการเผาทำลาย 

3.เนื่องจากพี.อี.ที.พัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับโดยใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนอยู่แล้วเพื่อให้สามารถตรวจสอบติดตามข้อมูลและเส้นทางการผลิตสินค้าแต่ละชิ้นโดยละเอียด จากที่ใช้เองในองค์กร พี.อี.ทีก็ให้บริการระบบที่ว่าแก่ลูกค้าทั่วไปอีกด้วย

4.การมีส่วนช่วยเหลือสังคม นั่นคือนำผ้าที่ผลิตจากขวดพลาสติกมาตัดเย็บเป็นชุดนักเรียนเพื่อแจกจ่ายให้กับเด็กนักเรียนยากจนตามโรงเรียนต่าง ๆ ทางภาคตะวันตกของประเทศ

 

 

     แม้ช่วงที่เปิดตัวบริษัทการตระหนักรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะยังไม่แพร่หลายนัก แต่เจนสังเกตว่าผู้คนเริ่มให้ความสนใจเกี่บวกับเรื่องนี้มากขึ้น   

     ในส่วนของลูกค้าพี.อี.ที.นั้นแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วยลูกค้าที่เป็นเอกชนทั้งบริษัทต่างชาติและท้องถิ่น เช่นบริษัทโคคา-โคล่า ไชน่า บริษัทสวายร์ พรอพเพอร์ตี้ในฮ่องกง บริษัทเจดีดอทคอม  และบริษัทเออร์บาน รีวีโว่ เป็นต้น กลุ่มที่สองเป็นหน่วยงานรัฐบาล และองค์กรสาธารณะ อาทิ พรรคคอมมิวนิสต์จีน และองค์กรสื่ออย่างพีเพิ้ล เดลี่ ออนไลน์ กลุ่มสุดท้ายคือองค์กรเอกชนไม่แสวงกำไร ได้แก่ สภากาชาด และมูลนิธิต่าง ๆ

     ในฐานะผู้ก่อตั้งพี.อี.ที. เจนไม่ได้คาดหวังว่าธุรกิจเล็ก ๆ ของเธอจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เป้าหมายหลักคือการปลูกจิตสำนึกเรื่องขยะพลาสติก ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าสามารถใช้ให้คุ้มค่าได้อย่างไร โดยหวังว่าจะมีผู้ประกอบการรายอื่น ๆ เห็นความสำคัญและร่วมเดินบนเส้นทางนี้ด้วยกันเพื่องรังสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สินค้าเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยังมีสัดส่วนที่น้อยมากในตลาดจีน อาจเป็นเพราะราคาจำหน่ายที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าประเภทเดียวกัน เจนมองว่าต้องมีวิธีจัดการกับระบบซัพพลายเชนเพื่อทำให้สินค้าที่ผลิตออกมาราคาถูกลง เมื่อบวกกับคุณภาพและดีไซน์ที่สวยงามก็จะสามารถดึงดูดลูกค้าให้ตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น

 

ข้อมูล

https://asia.nikkei.com/Business/36Kr-KrASIA/Bottles-to-beds-Chinese-startup-changes-plastics-into-linen

https://radiichina.com/china-plastic-problem-recycling/

www.changemag-diinsider.com/blog/plastic-ecological-transformation-pet-from-plastic-rubbish-to-reusable

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup