Tech Startup

เจาะลึกแพลตฟอร์มขายสนีกเกอร์สัญชาติฮ่องกง ปีเดียวโต 200% ทำได้ไง!?

 

Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

     สินค้าแบรนด์เนมหรูราคาแพงอาจกลายเป็นของสะสมของใครหลายคน แต่จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่หลงใหลและสะสมรองเท้าสนีกเกอร์ ทำให้ธุรกิจค้าปลีกสนีกเกอร์เติบโตอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ราวีน มัธทานี นักธุรกิจหนุ่มซึ่งอาศัยอยู่ในฮ่องกง และ มิร่า ภรรยาของเขาก็เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เข้ามาจับธุรกิจนี้โดยเปิดร้านจำหน่ายสนีกเกอร์ในฮ่องกง ใช้ชื่อร้านว่า Sneaker Surge

 

 

     แรกเริ่มธุรกิจไปได้ดีมาก ปี 2562 ธุรกิจเติบโตถึง 160 เปอร์เซ็นต์ แต่ในปีเดียวกันนั้น ก็ได้รับผลกระทบจากการประท้วงทางการเมืองที่ลุกลามทั่วเกาะฮ่องกง ตามด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ท้ายที่สุด Sneaker Surge ก็สามารถปรับตัว และเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ จะด้วยกลยุทธ์แบบไหน ไปติดตามกันได้

     ราวีนเล่าถึงที่มาของการเปิดธุรกิจร้านสนีกเกอร์ว่าย้อนไปเมื่อปี 2559 ราวีนเห็นเพื่อนสวมรองเท้า Adidas Yeezy ซึ่งเขาอยากได้มาใส่สักคู่ เพื่อนจึงเสนอขายต่อในราคาคู่ละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าที่ขายทั่วไป ราวีนปฏิเสธไม่ซื้อ แต่เสาะหาทุกวิถีทางที่จะได้มาเชยชมสักคู่ ถึงขั้นลงทุน 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ติดตั้งบอตหรือซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการสั่งจองหรือสั่งซื้อสินค้าทำให้ไม่ต้องเสียเวลากดสั่งเอง ในที่สุดราวีนก็ได้สิ่งที่ต้องการในราคา 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อบวกกับค่าบอต ก็เท่ากับเขาจ่ายให้กับรองเท้าคู่นี้ 1,500 ดอลลาร์ฯ ซึ่งแพงกว่ามากเมื่อเทียบกับราคาที่ทางแบรนด์จำหน่าย เขาจึงเกิดไอเดียในการทำธุรกิจจำหน่ายสนีกเกอร์

 

 

     ไม่นาน Sneaker Surge ก็ถือกำเนิดขึ้นในปี 2560 โดยวางตำแหน่งให้เป็นร้านจำหน่ายสนีกเกอร์ที่เน้นสินค้ารุ่นที่เกิดจากการร่วมมือ (Collaboration) ระหว่างแบรนด์ หรือกับเซเลบฯ ในสังคม หรือรุ่นลิมิเต็ด เอดิชั่น นับเป็นการตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่ม Sneakerhead ที่นิยมสะสมรองเท้า รวมถึงลูกค้าที่ต้องการรองเท้ารุ่นที่แตกต่างจากสินค้าทั่วไป

     ขณะเดียวกัน มิร่าซึ่งจบด้านแฟชั่นดีไซน์ก็จะเขียนบทความเกี่ยวกับสนีกเกอร์อย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับเสาะหาสนีกเกอร์รุ่นใหม่ๆ มาวางขายด้วย จนกระทั่ง Sneaker Surge เริ่มเป็นที่รู้จัก

     อย่างไรก็ตาม ปี 2562 ถือเป็นจุดเปลี่ยนเมื่อการประท้วงรัฐบาลได้ส่อเค้ารุนแรงและลุกลามเป็นวงกว้าง ทำให้ราวีนต้องตัดสินใจว่าจะรับมืออย่างไร เนื่องจากสินค้าในสต็อกยังมีจำนวนมาก ทางเดียวที่จะไปต่อได้คือ การเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ ขณะที่กำลังคลำทางไปสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็เกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้น ทำให้ราวีนและมิร่าทุ่มให้กับธุรกิจออนไลน์เต็มตัว

 

 

    ในการเข้าสู่สังเวียนออนไลน์ Sneaker Surge ต้องเจอคู่แข่งรุ่นใหญ่ที่ครองตลาดมานานอย่าง  StockX, Goat และ Stadium Goods ซึ่งเป็น Startup ด้านรีเซลสินค้าประเภทสนีกเกอร์จากสหรัฐฯ โชคดีที่สั่งสมฐานลูกค้าไว้บ้างแล้ว และเมื่อกระแสช้อปปิงออนไลน์บูม จึงเท่ากับ Sneaker Surge มุ่งสู่เส้นทางที่ถูกต้องแล้ว จากปี 2562 ที่ธุรกิจขยายตัว 160 เปอร์เซ็นต์ หลังเกิดวิกฤต ธุรกิจในปี 2563 กลับโตยิ่งกว่าโดยมีอัตราการเติบโต 252 เปอร์เซ็นต์ 

    ราวีนกล่าวว่าในเอเชีย การบอกกันปากต่อปากส่งผลต่อธุรกิจอย่างมาก การตลาดออนไลน์ที่มีอินฟลูเอนเซอร์ในการโฆษณาสินค้าช่วยได้มาก แต่ที่พีกมากๆ คือ การได้ขายรองเท้าให้กับ Chance the Rapper นักร้องเพลงฮิปฮอปชื่อดังจากสหรัฐฯ

     สืบเนื่องจากราวีนได้บังเอิญเจอกับนักร้องเพลงฮิปฮอปคนดังกล่าวบนเที่ยวบินจากเซี่ยงไฮ้มาฮ่องกง จึงได้พูดคุยกัน ก่อนลาจากราวีนก็เอ่ยปากบอกนักร้องดังว่าหากต้องการสนีกเกอร์แวะชมที่ร้านเขาได้ ไม่กี่ชั่วโมงต่อมาผู้ช่วยของ Chance the Rapper ก็ติดต่อมาที่ราวีนแจ้งรุ่นรองเท้าที่อยากได้ อานิสงส์จากนักร้องรางวัลแกรมมี่จึงทำให้เว็บไซต์เล็กๆ กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น เขาทำยอดขายรองเท้าได้จำนวนมาก แม้ไม่เปิดเผยว่ากี่คู่ เล่าแค่ว่าขายหมดเป็นคันรถ และรองเท้ารุ่นที่ขายดีสุดอันดับ 1 คือ Nike Dunks ขาวดำ

 

 

     หลังจากที่แพลตฟอร์มเริ่มเป็นที่รู้จัก ราวีนก็พัฒนาการให้บริการเพื่อสร้างความแตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่น เช่น จากที่เวลามีคำสั่งซื้อเข้ามาค่อยติดต่อซัพพลายเออร์เพื่อจัดส่งรองเท้าให้ลูกค้าก็เปลี่ยนมาเป็นการสต็อกสินค้าในคลังเพื่อพร้อมส่งให้กับลูกค้าโดยตรง ทั้งนี้ จำนวนสนีกเกอร์ที่ Sneaker Surge สต็อกไว้มีไม่ต่ำกว่า 10,000 คู่เลยทีเดียว  

     นอกจากนั้น ยังเพิ่มบริการ Concierge ในการอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ โดยเฉพาะการตอบคำถามและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสนีกเกอร์แก่ลูกค้า รวมถึงนโยบายรับซื้อคืนรองเท้า โดยลูกค้าที่ซื้อสินค้าจากทางร้าน เมื่อใช้ไปสักพักแล้วต้องการขายคืนก็สามารถทำได้ภายใต้เงื่อนไข รองเท้ายังอยู่ในสภาพดี มีป้ายครบ

     ราวีนกล่าวว่า ปัจจุบันสนีกเกอร์กลายเป็นของสะสมและเป็นสินทรัพย์อย่างหนึ่งไม่ต่างจากสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมหรูหรา ลูกค้าหลายคนซื้อสนีกเกอร์รุ่นเดียวกันทีละ 2 คู่ คู่หนึ่งไว้ใส่ อีกคู่ไว้เก็งราคา ยกตัวอย่าง เมื่อครั้งที่เวอร์จิล แอบโลห์ ดีไซเนอร์ Louis Vuitton ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Off-White เสียชีวิต ลูกค้าที่มีรองเท้า Nike Off-White Blazer ก็นำมาขายต่อเนื่องจากราคารองเท้าพุ่งสูงขึ้น เป็นต้น 

และนี่คือ Sneaker Surge แพลตฟอร์มสนีกเกอร์ที่แม้จะจิ๋วแต่ก็แจ๋วไม่ต่างจากแพลตฟอร์มใหญ่ระดับโลก

      

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup