Tech Startup

เจาะลึกสตาร์ทอัพแบบไหน ที่มีศักยภาพไกล เตะตานักลงทุนกลุ่ม InnoSpace

 

     “อินโนสเปซ ตั้งขึ้นเพื่อปิดช่องว่างการลงทุนให้กับ Startup ไทย ฉะนั้นเราจะไม่ทำอะไรที่ซ้ำซ้อนกับที่ใครหรือองค์กรใดทำ แต่ถ้ามีใครทำแล้วเราจะใช้วิธีไปร่วมทำ หรือถ้ายังไม่มีใครทำ เราก็จะไม่ทำคนเดียว แต่จะชวนคนอื่นมาร่วมทำด้วยกัน เพื่อให้เกิดอิมแพ็คขึ้นมา ซึ่งถ้าดูจากผู้ถือหุ้นของเราก็จะเห็นว่าเรามีพันธมิตรอยู่เยอะมาก” นี่คือกลยุทธ์การดำเนินการหลักของอินโนสเปซ ที่ ต่อตระกูล วัฒนวรกิจกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนสเปซ จำกัด เปิดประเด็นเพื่อให้เห็นภาพการทำงานของอินโนสเปซ  

 

 

     หากย้อนกลับไป ในช่วงเริ่มต้นของการก่อตั้งอินโนสเปซเมื่อปลายปี 2562 นั้น มีองค์กรต่างๆ มากกว่า 50 แห่ง จับมือร่วมกันเพื่อลงทุนยกระดับพัฒนา Startup ไทย โดยปัจจุบันอินโนสเปซมีทุนจดทะเบียน 735 ล้านบาท จากผู้ถือหุ้น 16 บริษัทชั้นนำของไทย ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้นับเป็นเวลาที่การทำงานของอินโนสเปซเดินคู่ไปกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ดังนั้น หากถามถึงการลงทุนใน Startup ที่ผ่านมา ต่อตระกูลจึงสรุปแนวทางการลงทุนในกลุ่ม Startup เอาไว้ 3 กลุ่ม ดังนี้

     กลุ่มแรก Startup ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ ด้วยการตั้งกองทุนอินโนสเปซ บริดจ์ ฟันด์ (Innospace Bridge Fund) ซึ่งในช่วงที่ผ่านอินโนสเปซได้ลงทุนกับ Startup ไปแล้ว 14 ราย เช่น Que Q และ Freshket เป็นต้น โดยต่อตระกูล กล่าวว่ากองทุนนี้ไม่ได้กำหนดรูปแบบว่าจะต้องเป็นธุรกิจอะไร หรืออยู่ในสเตจไหน โดยมีงบประมาณผ่านการบริหารจัดการกองทุนนี้ อยู่ที่ 50 ล้านบาท และมีการลงทุนตั้งแต่ seed round ถึง series A เพียงแต่จะให้ความสำคัญที่ความสามารถในการอยู่รอดของ Startup นั้นๆ มากกว่า

     ถัดมาเป็นการลงทุนในกลุ่ม Deep Tech ซึ่งอินโนสเปซจะเลือกลงทุนใน 3 เทคโนโลยีที่น่าสนใจ โดยอิงจากยุทธศาสตร์ BCG (Bio Circular Green Economy) และสอดคล้องกับความสนใจของผู้ร่วมถือหุ้นของอินโนสเปซ นั่นคือ เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) อาหารเพื่ออนาคต (Food for the future) และอุตสาหกรรม 4.0 ที่มุ่งเน้นทางด้านอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กองทุนนี้ตั้งเงินลงทุนเอาไว้ 300 ล้านบาท แต่ในปีนี้ตั้งเป้าจะลงทุนกับ Startup ประมาณ 5 รายในวงเงินรวมประมาณ 50 ล้านบาท   

 

 

     “เราต้องการหา Deep Tech ที่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ เพราะ Startup เหล่านี้จะสามารถสร้างอิมแพ็คให้กับเศรษฐกิจไทย ที่ผ่านมาเรายังไม่เคยลงทุนกับ Startup ที่เป็น Deep Tech ซึ่งเท่าที่ดู Deep Tech ในไทยค่อนข้างหายาก ดังนั้นอินโนสเปซจึงมีแนวคิดว่านอกจากจะลงทุนใน Deep Tech แล้ว เรายังจะสนับสนุนนักวิจัยด้วย ซึ่งจะเห็นว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมีงานวิจัยดีๆ อยู่เยอะมาก แต่เขาไม่ได้เลือกชีวิตที่จะเป็น Startup ตรงนี้มองว่ามันเป็นความสูญเสียโอกาสของประเทศ ดังนั้นแนวทางที่เราวางไว้คืออาจารย์อาจจะทำงานวิจัยเหมือนเดิม แต่น่าจะมีใครที่เคมีเข้ากับอาจารย์แล้วมาทำในบทบาทของภาคธุรกิจ เพื่อทำให้ Deep Tech เกิดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก Startup Deep Tech ทั้งมีจำนวนน้อยและมีความเสี่ยงสูง ฉะนั้นเราคงไม่ลงทุนในทันทีทันใด แต่คงค่อยๆ ลงทุน แล้วเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเขา เพื่อสนับสนุนให้เติบโตไปเรื่อยๆ”

     สำหรับ Startup กลุ่มสุดท้ายที่อินโนสเปซจะลงทุน คือ  Startup ที่มีศักยภาพสูงพร้อมที่จะพัฒนาไปเป็นยูนิคอร์น  โดยมีทุนตั้งต้นเพื่อใช้ในการสนับสนุน Startup กลุ่มนี้ไว้ที่ 200 ล้านบาท  

     “อินโนสเปซ เรานิยามตัวเองว่าเป็น Sharing CVC ถ้าได้กำไรผลตอบแทนจากการลงทุนทั่วไปก็ดี แต่สิ่งที่เรามองมากกว่านั้นคือ เราหา Synergy Value ระหว่าง Startup กับผู้ถือหุ้นของเรา ดังนั้นในขั้นแรกหวังว่าผู้ลงทุนของเราจะเห็นประโยชน์ของ Startup เหล่านั้นแล้วมาเป็นลูกค้า ในขั้นที่สองคือมี Synergy Value ได้มากขึ้นเกิดการลงทุนร่วมกันกับผู้ถือหุ้นเหล่านั้น และสุดท้ายหวังว่าเขาจะซื้อกิจการ Startup เรามองเช่นนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทั้ง Startup และผู้ถือหุ้นของเรา ซึ่ง Startup ที่เราลงทุนมีโอกาสทำงานร่วมกับคอร์ปอเรทที่เป็นผู้ถือหุ้นหลายราย และนี่คือสิ่งที่ทำให้อินโนสเปซแตกต่างจาก VC และ CVC”       

 

 

     จากกลยุทธ์และการวางแนวทางการลงทุนที่ชัดเจนเช่นนี้ เชื่อว่าอินโนสเปซจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง Eco-system ให้กับ Startup เติบโตต่อไปได้ และถัดจากนี้ Startup ไทยจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

     “Startup ที่ผ่านช่วง 2 ปีนี้มาได้ จะมีโอกาสสูงในปีนี้ สิ่งที่ควรทำตอนนี้คือเตรียมความพร้อมเหล่านั้นว่าเราจะไปในทิศทางไหน ที่สำคัญคือไม่ควรลืมว่า 2 ปีนี้เราอยู่รอดมาได้อย่างไร เราลีนตัวเองมากแค่ไหน รักษาข้อดีตรงนั้นเอาไว้ให้ได้ ถ้าสามารถทำต้นทุนต่างๆ ไว้ให้ดีเหมือนในช่วงที่ผ่านมา มันก็จะเป็นแต้มต่อในการแข่งขันอย่างมาก” ต่อตระกูล กล่าวให้คำแนะนำสำหรับ Startup ในตอนท้าย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup