Tech Startup

Smile Migraine แอปพลิเคชันแรกของโลกที่ช่วยผู้ป่วยไมเกรนด้วยเทคโนโลยี

 

     คนที่เป็นโรคไมเกรนรู้ดีว่าอาการปวดศีรษะนั้นทรมานเพียงใด แถมบางคนยังมีอาการร่วมอื่นอีกมากมาย เช่น ปวดบ่า เครียด นอนไม่หลับ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน ซึ่งหากดูจากสถิติแล้วพบว่ามีคนไทยเป็นโรคไมเกรนกว่า 10 ล้านคนทีเดียว

     ปัญหานี้กลายเป็น Pain Point ที่ทำให้ ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปวดศีรษะไมเกรน จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาแอปฯ Smile Migraine ขึ้นมา

 

 

     “จากการสำรวจโดยองค์การอนามัยโลก โรคไมเกรนมีผลกระทบมาเป็นอันดับหนึ่งในคนวัยทำงาน เราตรวจคนไข้ทุกวัน รู้ดีว่ามีผู้ป่วยถูกส่งตัวเข้ามาเป็นไมเกรนเรื้อรังซึ่งมีผลกระทบอย่างรุนแรง และประเทศไทยมีผู้เป็นไมเกรนเรื้อรัง 4 แสนคน พอเราอยู่ตรงนี้มองเห็นปัญหา ก็เริ่มมองหาว่าจะมีวิธีอะไรบางที่จะแก้ที่รากของปัญหาได้จริงๆ”

     ผศ.นพ.สุรัตน์กล่าวต่อไปว่า แม้จะมีหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเกิดไมเกรน แต่ก็สามารถป้องกันไม่ให้เรื้อรังได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น ความเครียด อากาศร้อน การตากแดด กลิ่นฉุนหรือเหม็น เป็นต้น และการปรับพฤติกรรม  เช่น นอนเพียงพอและตรงเวลา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ดื่มกาแฟบ่อย โดยทั้งหมดนี้คือการดูแลโรคไมเกรนด้วยตัวเอง แต่ถ้าเป็นไมเกรนรุนแรงจะต้องกินยาต้องเจอแพทย์เพื่อไม่ให้มีอาการมากขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงหลายคนยังไม่รู้ และไม่มีคนให้ความรู้กับพวกเขา   

     “ในประเทศไทยมีหมอโรคระบบประสาทประมาณ 400-500 คนเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพออยู่แล้ว เลยคิดว่าจะ Disrupt ระบบ ซึ่งมีทางเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือ การใช้เทคโนโลยี จึงพัฒนาแอปฯ Smile Migraine ซึ่งแอปฯ นี้จะทำงานในลักษณะของการบูรณาการ เป็น Migraine Management System รักษาไมเกรนด้วยแอปฯ อย่างแท้จริง”

 

 

                สำหรับแอปฯ Smile Migraine นั้น ผศ.นพ.สุรัตน์อธิบายในรายละเอียดว่ามี 3 ฟีเจอร์สำคัญ คือ  

  1. Migraine Diary เพื่อติดตามอาการปวดศีรษะไมเกรนด้วยการบันทึก เช่น จดวันที่ปวด สิ่งกระตุ้น ความเกี่ยวข้องโรคร่วม ยาแก้ปวดที่รับประทาน เพื่อใช้ร่วมในการวินิจฉัยของแพทย์ โดยข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะถูกเก็บบันทึก และประมวลผลออกมาในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เรียกง่ายๆ ว่าเป็นไมเกรนสเตตัสของผู้ป่วย
  2. Smile Migraine Club เป็นคอมมูนิตี้ของการเรียนรู้เพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน เช่น มีการส่งข้อมูลสอบถามซึ่งกันและกัน การให้ความรู้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยตรวจสอบดูแลข้อมูลเหล่านั้น นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่ได้จากการโพสต์ เช่น ออกกำลังกายดีแล้วรู้สึกดี ยาหรือผลข้างเคียง ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่นำไปใช้ในการรักษาอีกทีหนึ่ง
  3. MigraineProgram ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการวางแผนการรักษาให้โดยทีมผู้เชี่ยวชาญ โดยจะวางแผนการรักษาเป็นระยะเวลาตามขั้นตอน เช่น การประเมิน การให้ความรู้ การปรับพฤติกรรม การปรับยา ส่วนที่สองคือTelemedicine เป็นการพบหมอโรคระบบประสาทผ่านออนไลน์ ตลอด 24 ชั่วโมง และส่วนที่สามคือTelepharmacy ซึ่งเป็นคลินิกที่สามารถจ่ายยาออนไลน์ได้ตรงตามมาตรฐานเวชกรรม  

     “ปกติ Telemedicine จะคุยกับหมอครั้งเดียวแล้วจบ แต่สำหรับ Migraine Program พอเข้ามาปุ๊บจะมีการวางแผนการรักษาก่อนเลย พอวางแผนเสร็จแล้วจะเอาข้อมูลที่จดบันทึก อาการไมเกรน ยาที่กิน สิ่งกระตุ้นต่างๆ ตรงนี้ให้กับแพทย์หรือเภสัชกรแล้วแต่ความรุนแรงของโรค โดยเราจะมีทีมผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลสนับสนุนตลอดเวลา เรียกว่าเป็นการดูแลต่อเนื่องซึ่งสำคัญมากเพราะว่าโรคไมเกรนไม่ใช่โรคที่เจอแล้วสามารถรักษาให้หายได้เลย”

 

 

     หลังจากเปิดตัวแอปฯ และฟีเจอร์ต่างๆ ในขณะนี้ Smile Migraine มียอดดาวน์โหลดแอปฯ 3.8 หมื่นครั้ง และมียอดแอ็กทิฟคือ มีการเข้าแอปฯ อย่างน้อยเดือนละครั้งอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ โดย ผศ.นพ.สุรัตน์คาดว่ากลางปีนี้ยอดการดาวน์โหลด Smile Migraine จะแตะหลักแสน ซึ่งด้วยการเติบโตและความพร้อมของฟีเจอร์ต่างๆ ที่สามารถทำรายได้ได้ จึงคาดว่าจะสามารถระดมทุนได้เพิ่มในปีนี้ 

     “เราถือเป็นรายแรกของไทยและรายแรกของโลกที่ทำแอปฯ เพื่อการรักษาไมเกรนแบบรอบด้านในลักษณะนี้ ซึ่งแม้ Telemedicine จะมีคนทำแล้วจำนวนมาก แต่ไม่มีใครทำ Telemedicine เฉพาะโรคไมเกรน และการรักษาแบบต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างคอมมูนิตี้แบบ Smile Migraine ทั้งๆ ที่มีคนเป็นโรคไมเกรนจำนวนมากถือว่าเป็นตลาดใหญ่ แต่กลับหาโซลูชั่นที่แก้ไขแบบ Smile Migraine ไม่ได้ ดังนั้น เราวางแผนเอาไว้ด้วยว่าปลายปีนี้จะขยายไปทำตลาดต่างประเทศ โดยเริ่มจากประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อน โดยเราจะต้องเริ่มเข้าไปสร้างเครือข่ายในต่างประเทศ หลังจากนั้นเราก็คงจะไปยุโรปเป็นตลาดต่อไป” ผศ.นพ.สุรัตน์กล่าวถึงเป้าหมายการตลาดของ Smile Migraine ในตอนท้าย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup