Tech Startup

หมัดต่อหมัด คุยกับ  ทู-ปัณณ์ จารุทรรศนกุล Startup ไทย จะ “รอด” หรือ “ร่วง” ช่วงโควิด-19

 

Text : Methawee T.

     ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การระบาดระลอกแล้วระลอกเล่าของโควิด-19 ส่งผลให้ Startup ต้องงัดกลยุทธ์ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ในวันนี้ขณะที่ชาว Startup ต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 มากว่า 2 ปีนับแต่วันแรกที่โรคร้ายระบาดเข้าเมืองไทย เราเลยถือโอกาสนี้พูดคุยกับ ทู-ปัณณ์ จารุทรรศนกุล Senior Investment Manager จาก 500 TukTuks เพื่อแบ่งปันมุมมองทั้งวิกฤตและโอกาสรวมถึงทิศทางของ Startup ที่เปลี่ยนแปลงไป

 

ค้นให้เจอโอกาส Startup ไทยในช่วงโควิด

     การกล่าวว่าโควิด-19 มีแต่วิกฤตนั้นคงไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากมีหลาย Startup ที่สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดในช่วงสถานการณ์นี้ Startup ขนาดใหญ่หลายแห่งในหลายอุตสาหกรรมสามารถคว้าโอกาส ระดมทุนรอบใหญ่ๆ ในช่วงโควิด-19 ได้สำเร็จ ล่าสุดอย่างที่ทราบกันดีคือ การระดมทุนของ Flash Express ยูนิคอร์นรายแรกของไทย          

     “เมื่อก่อนคำพูดที่ติดปากคนในวงการคือ Startup ไทยเติบโตเป็นยูนิคอร์นยากมาก เพราะตลาดประเทศไทยใหญ่ไม่พอ แต่ในวันนี้เราเห็นอุตสาหกรรมมาแรงอย่างคริปโตที่เป็นตลาดไร้พรมแดน หรืออุตสาหกรรมเกมที่เป็นตลาดร้อนแรงในประเทศไทย แต่เรายังมี Startup ด้านเกมไม่เยอะ นอกจากนั้น ยังมี Startup ที่เติบโตเกาะเทรนด์ e-Commerce และ Alternative Credit ซึ่งคนกลุ่มใหญ่ในประเทศยังไม่สามารถเข้าถึงเครดิตได้อีกด้วย”

 

 

อยู่ให้รอดฝ่าวิกฤตการระบาดครั้งใหญ่

     Startup หลายแห่งโดยเฉพาะ Startup ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากรายได้หลักสิบล้านบาท ลดลงเหลือศูนย์ก็มีให้เห็น ดังนั้น เวลานี้คือนาทีวัดความสามารถของผู้ก่อตั้งในการพาองค์กรฝ่าวิกฤตครั้งใหญ่ เมื่อรายได้ไม่มีเข้ามาแต่รายจ่ายยังคงมีอยู่ แถมสถานการณ์การระบาดก็ยังไม่มีวี่แววที่จะสิ้นสุด ด้วยเหตุนี้ปัณณ์จึงแนะนำ 3 กลยุทธ์สำคัญสำหรับ Startup เพื่อรับมือกับวิกฤตในครั้งนี้ คือ

     1.ต่อรันเวย์ให้ยาวขึ้น

        เมื่อรายได้ไม่มีเข้ามา ดังนั้น การบริหารเรื่อง Crash Flow จึงเป็นงานสำคัญ เริ่มตั้งแต่การหาแหล่งเงินทุน โดยอาจระดมทุนจากนักลงทุนเดิม หรืออย่าง 500 TukTuks เองก็ช่วยสนับสนุนในการเชื่อมต่อกับนักลงทุนนอกให้ อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการระดมทุนแล้ว Startup อาจมองหาแหล่งเงินกู้จากภาครัฐและเอกชนเพื่อเป็นทางเลือกได้อีกด้วย

     2.ลดค่าใช้จ่าย

        สิ่งที่ควรทำควบคู่กับการหาเงินมาหล่อเลี้ยงบริษัทคือ การลดค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจเริ่มจากลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ลดเงินเดือน หรือ Startup หลายแห่งตัดสินใจลดพนักงาน มากกว่านั้น Startup บางแห่งที่วิเคราะห์แล้วเห็นว่าสถานการณ์ไม่ดีขึ้นในเร็วๆ นี้ เช่น Startup ด้านการท่องเที่ยวต่างประเทศ ก็อาจตัดสินใจหยุดกิจการชั่วคราว จำศีลในช่วงนี้ก่อนเพื่ออย่างน้อยก็ไม่ติดลบไปมากกว่านี้ แล้วรอเวลาที่สถานการณ์ดีขึ้นค่อยกลับมาลุยธุรกิจใหม่อีกครั้ง

     3.หาช่องทางสร้างรายได้ใหม่

        เมื่อโมเดลธุรกิจแบบเดิมถูกผลกระทบจากโควิด-19 หลายๆ Startup ปรับตัวโดยการหาโมเดลธุรกิจใหม่ที่ใช้ทรัพยากรเดิมที่มีอยู่ เพราะแม้รายได้อาจจะไม่ดีเท่าเดิม แต่อย่างน้อยก็ยังสามารถมีรายรับบางส่วนเข้ามาช่วยประคับประคองธุรกิจไม่ให้ไม่เจ็บตัวได้

 

 

สร้างหลังบ้านให้แกร่งพร้อมรับโอกาสหลังโควิด-19

     Startup หลายแห่งถือโอกาสจากการที่มีลูกค้าน้อยลงในช่วงนี้ เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงพัฒนาระบบหลังบ้าน หาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อรอวันที่ความต้องการของตลาดกลับมาซึ่งเชื่อว่าจะมีแนวโน้มความต้องการมากกว่าก่อนโควิด-19 ด้วยซ้ำ

 

เติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง

     “Startup ไทยเริ่มต้นในยุคปี 2555 ซึ่งถ้าเราได้ติดตาม Startup ในต่างประเทศจะเห็นว่าเขาใช้เวลาประมาณ 9-12 ปี ในการสร้าง Ecosystem ให้เข้มแข็ง จนกระทั่งมี Startup ที่เบ่งบานประสบความสำเร็จ สำหรับประเทศไทยเราเพิ่งถึงจุดนั้นในช่วงเวลานี้ เราเพิ่งเห็นยูนิคอร์นตัวแรก และกำลังจะมีหลาย Startup ที่ IPO รวมถึงเราเห็นการทำ M&A (Merger and Acquisition) Startup จากบริษัทใหญ่ ทั้งหมดเหล่านี้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติและสร้าง Ecosystem ของ Startup ให้เติบโตไปได้” ปัณณ์กล่าวทิ้งทายด้วยน้ำเสียงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง

     ภายใต้วิกฤตครั้งใหญ่ยังมีโอกาสสำหรับ Startup เพราะสุดท้ายแล้วไม่ได้มีอุตสาหกรรมไหนที่ไม่ดี ทุกอุตสาหกรรมมีโอกาสและความสำเร็จ รอ Startup ที่ชนะอยู่ เพียงแต่การที่จะเป็นผู้ชนะได้นั้น ต้องเริ่มต้นจากทีมที่ดี เพราะทีมที่ดีจะพา Startup ผ่านร้อนผ่านหนาว และวิ่งเข้าเส้นชัยได้ในท้ายที่สุด

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup