Tech Startup

เรียนออนไลน์ช่วงล็อกดาวน์เป็นเหตุ! ดันสตาร์ทอัพอินเดีย 'Byju' ขึ้นแท่นเดเดคอร์นหมื่นล้าน

Text : Vim Viva 
 
 
   ดูเหมือนว่าการล็อกดาวน์ หรือการ ปิดประเทศหรือปิดเมืองซึ่งเป็นมาตรการในการสกัด​กั้นการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่หลายประเทศทั่วโลกนำมาปฏิบัตินั้นจะเปิดโอกาสให้บางธุรกิจได้แจ้งเกิด อาทิ ธุรกิจที่เกี่ยวกับ edtech หรือเทคโนโลยีทางการศึกษาเนื่องจากนักเรียนนักศึกษาต้องเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์แทน จึงจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาความรู้จากติวเตอร์บนอินเตอร์เน็ต


     อินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่ฉายภาพชัดเจนถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของสตาร์ทอัพในสายนี้ และบริษัทที่มาแรงสุดในขณะนี้ได้แก่ Byju ผู้ให้บริการการศึกษาผ่านออนไลน์จากเมืองบังกาลอร์ที่สามารถไต่เต้าจนขึ้นแท่นสตาร์ทอัพระดับ “เดเคคอร์น” (Decacorn) หรือธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าเกิน  10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นขั้นกว่าของสตาร์ทอัพยูนิคอร์น ทั่วโลกมีสตาร์ทอัพเดเดคอร์นทั้งสิ้นเพียง 29 บริษัทเท่านั้น 




     โดยขณะนี้ Byju เป็นสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของอินเดีย แซงหน้า Paytm สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการเงินที่เคยเป็นแชมป์เก่า หลังจากที่ Byju ระดมเม็ดเงินลงทุนรอบล่าสุดได้ 340 ล้านดอลลาร์สหรัฐก็ทำให้มูลค่าบริษัททะยานไปอยู่ที่ 16,500 ล้านดอลลาร์ในทันที สูงกว่า Paytm ที่มีมูลค่า 16,000 ล้านดอลลาร์ 


     Byju เป็นสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งเมื่อปี 2015 โดยไบจู ราวีนธรัน บุตรชายของครูในหมู่บ้านแห่งหนึ่งเพื่อให้บริการการเรียนการสอนวิชาต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมปลาย และมีหลักสูตรติววิชาต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมในการเข้ามหาวิทยาลัย รวมถึงคอร์สน่าสนใจสำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการหาความรู้เพิ่มเติมอีกด้วย Byju ใช้เวลาในการดำเนินธุรกิจหลายปีกว่าจะเข้าสู่ภาวะทำกำไรในปี 2019 จนกระทั่งเกิดการระบาดของโควิด ทำให้ยอดผู้ใช้บริการและรายได้ของบริษัทพุ่งขึ้นหลายเท่าตัว 





     ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้บริษัทเติบโตในอัตรา 125 เปอร์เซนต์ โดยในปีการเงินที่สิ้นสุดเมื่อเดือนมีค. 2020 บริษัททำรายได้ไปทั้งสิ้น 370 ล้านดอลลาร์ คาดว่าในปีการเงิน 2021 รายได้อาจทะลุ 1,000 ล้านดอลลาร์ ปัจจุบัน Byju มีผู้ใช้บริการมากกว่า 80 ล้านรายในจำนวนนี้ 5.5 ล้านคนเป็นสมาชิกที่จ่ายค่าบริการรายปี 


     ต้องยอมรับว่าการเติบโตแบบก้าวกระโดดของ Byju ส่วนหนึ่งมาจากการระบาดของโควิด ประเทศต้องล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือนมีค.ปีที่แล้ว ทำให้จำนวนผู้ใช้บริการพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากสถานศึกษาปิด ผลักดันให้นักเรียนนับล้าน ๆ คนต้องเข้าสู่ระบบการศึกษาแบบออนไลน์ มรีนาล โมหิต กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของ Byju กล่าวว่าการศึกษาออนไลน์กลายเป็นแพลทฟอร์มที่จำเป็นสำหรับเด็ก ๆ ไปแล้วในการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน โดยนักเรียนจำนวนมากต้องพึ่งการเรียนรู้แบบออนไลน์เพื่อให้การเรียนในชีวิตประจำวันสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งสถานการณ์การระบาดของโรคก็ได้เป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้การเรียนรู้ทางออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่เป็นกระแสหลักในขณะนี้   

     สำหรับ Byju หลังจากระดมทุนได้เงินสนับสนุนมาหลายรอบก็ได้ลงทุนต่อยอดโดยการซื้อธุรกิจเกี่ยวกับการศึกษาของบริษัทอื่น ๆ เพื่อมาต่อยอดบริการ ซึ่งที่ผ่านมาซื้อไปแล้ว 2 บริษัทรวมมูลค่า 420 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และกำลังอยู่ระหว่างเจรจาซื้อบริษัทที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวที่ใหญ่สุดในวงการเอ็ดเทคของอินเดียด้วยมูลค่าการซื้อขายที่สูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สรัฐฯ  




     อินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤติไวรัสโควิดโดยมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 10 ล้านคน และเสียชีวิต 150,000 กว่าราย ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ การนำเสนอคอร์สเรียนผ่านอินเตอร์เน็ตของบริษัทเทคโนโลยีด้านการศึกษาทั้งหลายจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว Byju ซึ่งมีจุดแข็งในการติววิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มองว่าการซื้อกิจการของบริษัทเอ็ดเทคอื่น ๆ จะเป็นการเสริมความแข็งแกร่งในด้านการบริการให้มีความหลากหลายสาขาขึ้น และจะทำให้ดึงผู้ใช้บริการให้เข้าสู่แพลทฟอร์มมากกว่าเดิม 


     อย่างไรก็ตาม เส้นทางธุรกิจของ Byju อาจจะไม่ได้ราบรื่นเสมอไปเพราะความถี่ในการใช้งานของสมาชิกสามารถลดลงได้  ยกตัวอย่างเด็กนักเรียนที่มุมไบ 2 คนซึ่งสมัครเรียนออนไลน์กับ Byju มาตั้งแต่ปลายปี 2018 แต่หลังจากที่เกิดโรคระบาด นักเรียนสองคนนี้ก็ใช้เวลากับ Byju น้อยลงเนื่องจากทางโรงเรียนกำหนดให้นักเรียนต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน เป็นต้น ยังไม่นับการแข่งขันที่สูงขึ้นในกลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกัน โดยเฉพาะจาก Unacademy แพลทฟอร์ทศึกษาออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านคนและถือเป็นคู่แข่งสำคัญ


     โดยภาพรวมธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีทางการศึกษาส่อแววสดใสทำให้อินเดียกลายเป็นตลาดที่ผู้เล่นรายใหญ่ในต่างประเทศให้ความสนใจ มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าอินเดีย 228 รอบเป็นมูลค่า 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้  ล่าสุด ก็บริษัทกูเกิ้ลที่ประกาศความร่วมมือกับ CBSE หน่วยงานของรัฐบาลอินเดียที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาในการกระจายการเรียนรู้แบบผสมผสาน (blended learning) ไปยังโรงเรียน 22,000 แห่ง 


     อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ายังเกิดช่องว่างระหว่างศักยภาพในการเรียนออนไลน์กับความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบโทรคมนาคมความไวสูงและค่าใช้จ่ายที่ต้องมี แม้อินเดียจะมีอินเตอร์เน็ตความเร็ว 4G ในราคาค่าบริการที่ถูกลง และการใช้สมาร์ทโฟนก็แพร่หลายมากขึ้นแต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าถึงการเรียนรู้ทางออนไลน์ ขึ้นอยู่กับกลุ่มประชากรและรายได้  

 
ที่มา
https://asia.nikkei.com/Spotlight/DealStreetAsia/Indian-startup-Byju-s-raises-500m-amid-online-learning-boom




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup