Tech Startup

ไอเดียดี! หนุ่มสิงคโปร์ผุด Halal with Hew เว็บรวมอาหารฮาลาลสุดปังเอาใจลูกค้ามุสลิม

Text: Vim Viva

 

   สิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้บริการ Food delivery ในสิงคโปร์และในหลายประเทศมักประสบคือความไม่สะดวกสบายเล็ก ๆ น้อย ๆ บางประการ เช่น สามารถสั่งร้านที่อยู่ในรัศมีการจัดส่งเท่านั้น หรือถ้าจะสั่งร้านที่อยู่ไกลออกไปก็ต้องแลกกับการจ่ายค่าส่งที่แพงขึ้น ยิ่งหากผู้ใช้บริการเป็นมุสลิม ทางเลือกก็ยิ่งถูกบีบให้แคบลงเพราะสามารถเลือกสั่งได้เฉพาะร้านอาหารฮาลาลเท่านั้น ที่ผ่านมาจึงมีร้านอาหารเล็ก ๆ ประเภท Home kitchen ผุดขึ้นจำนวนมากโดยที่ผู้ขายไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน แต่อาศัยปรุงอาหารในครัวที่บ้านก็สามารถขายออนไลน์ได้ แบบรับออร์เดอร์เอง ออกไปส่งอาหารเอง


     อย่างไรก็ตาม ช่วงเกิดการระบาดของโควิด-19 และรัฐบาลสิงคโปร์ประกาศล็อคดาวน์ และให้กักตัวในบ้าน ไม่เพียงธุรกิจโฮมคิทเช่นที่ได้รับผลกระทบ แต่ลูกค้ามุสลิมที่ใช้บริการก็ลำบากไปด้วย ผลกระทบที่ว่าเห็นได้ชัดเจนช่วงรอมฎอนหรือช่วงถือศีลอด และช่วงเทศกาลฮารีรายอที่เป็นงานเฉลิมฉลองหลังการถือศีลอดที่ต้องงดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส 




     เพื่อต้องการช่วยเหลือธุรกิจโฮมคิทเช่นของผู้ขายอาหารฮาลาล เชน เอห์ชาน ฮิว เซลล์ขายรถยนต์วัย 30 ปีที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามตามจูนิสา จาเมล ผู้เป็นภรรยาจึงเกิดความคิดจะรวบรวมร้านอาหารฮาลาลแบบโฮมคิทเช่นมาไว้บนแพลทฟอร์ม Delivery เดียวกันเพราะที่ผ่านมา ร้านเหล่านี้มักกระจายขายตามแฟนเพจเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม แต่ในช่วงเวลานั้น สิงคโปร์มีผู้เล่นรายใหญ่ถึง 3 รายครองตลาดอยู่ ได้แก่ แกร็บฟู้ด เดลิเวอรู และฟู้ดแพนด้า ยังไม่นับรวมบริการ Food delivery รายเล็กรายน้อยที่เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาด




     อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มที่เชนและจูนิสาคิดไว้จะแตกต่างจากรายอื่น เดือนพฤษภาคม 2020 ทั้งคู่ก็สร้างเว็บไซต์ “Halal with Hew” หมายเป็นแหล่งรวมร้านอาหารฮาลาลแบบโฮมคิทเช่นที่ให้บริการ Food delivery ซึ่งนับตั้งแต่เปิดตัวมา ปัจจุบันมีร้านค้าเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกว่า 100 ราย และมีหลายร้านติดโผร้านยอดนิยม  Halal with Hew จึงเป็นอีกแพลตฟอร์มที่ได้รับการตอบรับดีเนื่องจากสะดวก รวดเร็ว และคิดค่าส่งอัตราเดียวคือ 6 ดอลลาร์สิงคโปร์ (143 บาท) ทั่วเกาะสิงคโปร์ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล 


     แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เชนและภรรยาของเขาต้องฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่การทำงานประจำแล้วต้องเจียดเวลามาเริ่มธุรกิจใหม่โดยทุ่มเททั้งเงินทุนและลงแรงเอง ไปจนถึงการเชิญชวนร้านค้าให้เข้าร่วมในแพลตฟอร์ม  
โดยช่วงแรกมีร้านค้าเข้าร่วมเพียง 17 ร้าน และเชนเป็นคนรับส่งอาหารเอง จนตอนหลังเริ่มมีร้านค้ามาร่วมมากขึ้น และออร์เดอร์แน่นขึ้นจึงจัดจ้างไรเดอร์หรือพนักงานส่งอาหารจากภายนอกแทน    


     ส่วนการกำหนดนโยบาย ก็มีการปรับเปลี่ยนหลายครั้งกว่าจะลงตัว อาทิ ช่วงแรก ๆ กำหนดค่าส่งในอัตรา 10 ดอลลาร์ แต่เมื่อมีผู้ใช้บริการมากขึ้น และมีร้านค้าเป็นพันธมิตรมากขึ้นจนทำให้มีรายได้เพิ่มก็ลดค่าส่งลงเหลือ 6 ดอลลาร์และใช้มาจนถึงปัจจุบัน โดยในอนาคตจะพยายามลดค่าส่งลงให้ถูกกว่านี้ และมีแผนจะดึงร้านอาหารและร้านตามศูนย์อาหารเข้าร่วมบนแพลตฟอร์มมากขึ้น



 

     แม้เชนจะปฏิเสธที่จะเปิดเผยว่าเขาและภรรยาลงทุนไปมากเท่าใดกับ Halal with Hew โดยไม่ได้ระดมทุนจากนักลงทุนแต่อย่างใด แต่ก็ยอมเปิดตัวเลขรายได้ว่าที่ผ่านมาทำเงินไปแล้ว 32,000 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือราว 770,000 บาท ทั้งนี้ ผู้ก่อตั้ง Halal with Hewย้ำว่า ธุรกิจที่สร้างขึ้นมาไม่ได้เน้นที่ผลกำไรแต่มุ่งให้ความช่วยเหลือร้านอาหารแบบโฮมคิทเช่นให้ดำเนินต่อไปได้ และต้องการให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลองอาหารจากร้านเล็กที่มีฝีไม้ลายมือในการปรุงระดับมืออาชีพแถมยังมีความตั้งใจสูงในการผลิต   
 

     เชนเล่าว่าเขาเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามเมื่อ 5 ปีก่อน และเพิ่งแต่งงานกับภรรยาที่เป็นมุสลิมได้ 2 ปี หลังจากเปลี่ยนศาสนา วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ต้องระวังในการสรรหาของรับประทาน ด้วยความที่ต้องทานอาหารฮาลาลทำให้เขาสังเกตเห็นประเด็นต่าง ๆ เมื่อสั่งซื้ออาหารมุสลิมออนไลน์


     เป็นต้นว่าค่าส่งแพงกว่าค่าอาหาร ยกตัวอย่าง สั่งข้าวมันไก่ร้านที่ชอบ 4 ดอลลาร์เมื่อรวมค่าส่ง 10 ดอลลาร์ก็กลายเป็นข้าวมันไก่เสิร์ฟละ 14 ดอลลาร์ ปัญหาต่อมาคือร้านโปรดบางร้านขายแบบ offline อย่างเดียว ไม่มีบริการสั่งออนไลน์ หรือจัดส่งถึงบ้าน ส่วนร้านที่ขายออนไลน์ก็ผ่านไม่กี่ช่องทาง เช่น เฟสบุ๊ก หรืออินสตาแกรม ซึ่งขายกันแบบตามมีตามเกิด ขาดทักษะในการประชาสัมพันธ์หรือทำการตลาด 





     เมื่อเจาะไปที่ร้านประเภทโฮมคิทเช่นจะพบว่าหลายร้านมีฝีมือ อาหารอร่อยได้คุณภาพแต่ยอดขายไม่วิ่งจึงทำให้หลายร้านต้องปิดตัวเพราะอยู่ต่อไม่ได้ จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เชนต้องการพัฒนาแพลทฟอร์มขึ้นมาเพื่อช่วยร้านเล็ก ๆ เหล่านี้ แผนการช่วงแรก ๆ เชนเคยคิดจะเก็บค่าธรรมเนียมรายเดือน 30-50 ดอลลาร์จากร้านค้าที่ร่วมในแพลทฟอร์ม แต่ล้มเลิกแผนไปและเก็บแค่ค่าธรรมเนียมในการบริการซึ่งถูกกว่าเจ้าอื่น 


     นับตั้งแต่ให้บริการมา 1 ปีเต็ม Halal with Hew ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง กลายเป็นเว็บไซต์ที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตต้องบันทึกไว้ในฐานะเว็บที่ชื่นชอบหรือใช้งานบ่อย เชนวางแผนว่าต่อไปจะพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อรองรับการใช้บริการอีกช่องทาง และหากเป็นไปได้ก็อยากจะปลุกปั้นซูเปอร์แอปแบบครบวงจรอันเป็นแหล่งรวมไลฟ์สไตล์สำหรับชาวมุสลิม ไม่ใช่แค่บริการร้านอาหาร แต่ยังรวมถึงบริการช้อปปิ้งออนไลน์ ทั้งด้านแฟชั่น และสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งความฝันของเขาจะเป็นจริงหรือไม่ คงต้องติดตามต่อไป
 
 
ที่มา
https://mustsharenews.com/singapore-halal-food-delivery/
www.thehalaleater.net/2020/08/14/halal-with-hew/
www.cnbc.com/2021/07/02/grocery-startups-vc.html
https://vulcanpost.com/711656/halal-with-hew-halal-food-delivery-singapore/



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup