Tech Startup
คุยกับ 3 ขุนพล EduTech “อนาคตการศึกษาไทยยุค Thailand 4.0”
ทรู ดิจิทัล พาร์ค ชวนผู้บริหารสตาร์ทอัพ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ มองการศึกษาไทยและโจทย์ที่ท้าทายสำหรับการก้าวไปสู่ยุค 4.0 ในอนาคตในหัวข้อ “The Future of Education: What did you learn today and how will you use it tomorrow?” ประกอบด้วย 3 ขุนพลแห่งสตาร์ทอัพด้านการศึกษาและพัฒนาวิชาชีพ ได้แก่ จอนน์ ฟาล (Djoann Fal) ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอจาก Getlinks, ธกานต์ อานันโทไทย ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอแห่ง Globish และ เอกฉัตร อัศวรุจิกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง SkillLane
ประเด็นหลักของการเสวนาครั้งนี้คือ การไขคำตอบว่าการศึกษาของไทยในปัจจุบันจะสามารถตอบโจทย์โลกในความเป็นจริงได้หรือไม่ การศึกษาแบบปัจจุบันจะสามารถผลิตทาเลนต์หรือบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญได้ตรงตามความต้องการของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมในยุค Thailand 4.0 หรือไม่ เพราะคนรุ่นใหม่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศที่จะนำไปสู่นวัตกรรม สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ และอนาคตของไทยในด้านต่างๆ โดยทั้ง 3 ท่านได้แสดงความคิดเห็นไว้ดังนี้
จอนน์ ฟาล ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ Getlinks แพล็ตฟอร์มจัดหางาน รวมตำแหน่งงานและแวดวงคนทำงานด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสำนักงานใน 6 ประเทศคือ ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ และอินเดีย ให้บริการแก่องค์กรชั้นนำ เช่น อาลีบาบา กูเกิล เฟซบุ๊ก เปิดเผยว่า ประเด็นเรื่องความไม่สอดคล้องระหว่างดีมานด์และซัพพลายนั้น มีในทุกตลาด ไม่เพียงเฉพาะแต่ในไทยเท่านั้น
“ช่องว่างระหว่างโลกการศึกษาและการทำงานเกิดขึ้นทั่วโลก แต่เราต้องการเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับสิ่งที่เขาสนใจ ไม่ว่าจะเป็นทักษะที่ต้องการ หรือองค์กรที่ผู้คนอยากร่วมงานด้วย ทำให้เขามีอิสระที่จะเลือกและเลือกได้ว่าจะทำงานจากที่ใดก็ได้ Getlinks จะไม่ได้ช่วยให้คนหางานได้เท่านั้น แต่ยังช่วยให้เขาได้ทำในสิ่งที่ชอบ สิ่งที่รัก การเรียนรู้อาจไม่ได้มาในรูปแบบคอร์สสอนหรือชุมชนที่เรียนกันโดยเฉพาะ การพบปะพูดคุยกับคนในแวดวงต่างๆ ก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการค้นหาทักษะที่ต้องการ สอดคล้องกับสิ่งที่ Getlinks ทำคือ การสร้างชุมชนเพื่อให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลและความรู้ระหว่างกัน และมีข้อมูลนำมาประมวลได้ว่า ตลาดต้องการทักษะแบบไหน ด้านใด ซึ่งช่วยให้คนสามารถไปพัฒนาต่อยอดได้”
ด้าน ธกานต์ อานันโทไทย ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ Globish แพล็ตฟอร์มอีเลิร์นนิ่งสำหรับการเรียนภาษาอังกฤษที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เปิดเผยว่า เราเริ่มต้นทำเพราะเห็นว่าการเรียนภาษาอังกฤษของคนไทยนั้น ใช้เวลาในโรงเรียนหลายปี แต่ก็ยังไม่สามารถใช้งานได้ จึงเล็งเห็นช่องทางการเชื่อมโยงผู้เรียนไทย เข้ากับครูผู้สอนจากทั่วโลก นอกจากนี้ Globish ยังทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย นำคอนเทนต์เข้าสู่ช่องทางดิจิทัล และจัดทำระบบให้สายการบินช่วยฝึกอบรมพนักงานในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ โดยหวังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง
“ปัจจุบันทักษะในโรงเรียนและตลาดแรงงานนั้น ไม่สอดคล้องกัน (mismatched) น่าจะมีแนวทางที่สร้างสรรค์ (innovative) กว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้ การที่องค์กรต่างๆ เปิดโอกาสให้ฝึกงานหรือให้ทุนโดยตรงก็เป็นทางเลือกที่ดีในการสนับสนุนให้มีการฝึกทักษะได้ตรงตามต้องการ ส่วน ทรู ดิจิทัล พาร์ค สามารถเข้ามามีบทบาทได้โดยการเป็น ดิจิทัล อะคาเดมี่ รองรับการเรียนรู้”
ความต้องการพัฒนาทักษะให้ก้าวทันโลกในปัจจุบัน สอดคล้องกับการขยายตัวของ Skillane แพล็ตฟอร์มคอร์สอบรมออนไลน์สำหรับคนทำงานที่ใหญ่ที่สุดในไทย ปัจจุบันมีหลักสูตรกว่า 500 หลักสูตรที่มีคนลงทะเบียนเรียนรวม 150,000 คนแล้ว และกำลังจะขยายธุรกิจไปสู่ B2B โดยทำแพล็ตฟอร์มให้องค์กรที่ต้องการเสริมสร้างการเรียนรู้ของพนักงานสามารถเลือกหลักสูตรที่มีอยู่แล้ว หรือพัฒนาหลักสูตรเองก็ได้
เอกฉัตร อัศวรุจิกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง SkillLane กล่าวว่า “Skillane ตอบโจทย์คนทำงานที่ต้องการเรียนรู้ โดยเรียนรู้จากที่ใดหรือเมื่อไรก็ได้ สิ่งที่โรงเรียนสอนกับโลกในความเป็นจริงนั้นต่างกัน และโลกปัจจุบันนั้นเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา โดยเฉพาะโลกของโซเชียลมีเดีย ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องรอให้สถานศึกษาเปิดคอร์ส เราสามารถหาที่เรียนได้เอง จะเรียนเมื่อไรก็ได้ การศึกษาออนไลน์นั้นสามารถช่วยองค์กรพัฒนาพนักงานได้โดยไม่ต้องเสียต้นทุนในการเดินทางไปเข้าชั้นเรียน”
ทรู ดิจิทัล พาร์ค ตั้งเป้าเป็น Digital Innovation Hub ที่มี ecosystem สมบูรณ์แบบสำหรับสตาร์ทอัพ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมและต่อยอดธุรกิจของเหล่าสตาร์ทอัพไทยให้เติบโต ฐนสรณ์ ใจดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค เห็นด้วยในบทบาทการทำหน้าที่เป็น “ดิจิทัล อะคาเดมี่”เพื่อตอบโจทย์และเติมเต็มด้านทักษะ โดยเฉพาะการสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่พัฒนาและเรียนรู้ทักษะที่จำเป็น เพื่อก้าวทันหรือเป็นผู้นำด้านต่างๆ ในขณะเดียวกัน ทรู ดิจิทัล พาร์ค ซึ่งเป็นศูนย์รวมของ Multinational Company, VCs และ สตาร์ทอัพ ยังสามารถเป็นกระจกสะท้อนและบอกกับสังคมว่าการเปลี่ยนแปลงกำลังจะมาถึง รวมถึงแนะแนวทางว่าจะต้องเรียนรู้อะไร เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสร้างแรงบันดาลใจ ช่วยให้คนรู้ว่าจะเรียนอะไร เรียนไปทำไม หรือทำให้ค้นพบตัวเองว่าต้องการพัฒนาอะไรจริงๆ ในอนาคต”
การเสวนาในครั้งนี้จบลงด้วยแรงบันดาลใจ ทั้งเติมเต็มและตอบโจทย์ให้กับตัวบุคคลและธุรกิจ เพื่อสร้างนวัตกรรมและศักยภาพไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี