Tech Startup

ทำไมเมื่อ Uber เข้ามา ธุรกิจรถเช่าในสิงคโปร์จึงเฟื่องฟู

EXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

    สิงคโปร์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศหนึ่งที่รถยนต์ราคาแพงมหาโหด ถ้าไม่รวยจริงนี่แทบไม่มีปัญญามีรถยนต์ส่วนตัวไว้ขับ รถยนต์ในสิงคโปร์ว่ากันว่าราคาแพงกว่ารถยนต์ในอเมริกาถึง 4 เท่า คนสิงคโปร์ที่มีเงินซื้อรถ จะต้องมีเงินก้อนหนึ่งไว้จ่ายค่า Certificates of Entitlement ซึ่งคือใบอนุญาตในการครอบครองรถ สำหรับรถที่มีขนาดเล็กสุด 1 คันต้องจ่ายค่าใบอนุญาต 50,789 ดอลลาร์ (สิงคโปร์) เป็นกฎที่รัฐบาลตั้งขึ้นเป็นการจำกัดจำนวนรถยนต์บนเกาะเพื่อแก้ปัญหาจราจรและลดมลพิษ

    แต่ระบบขนส่งมวลชนอันเยี่ยมยอดของสิงคโปร์ อีกทั้งการเป็นเกาะเล็ก ๆ ทำให้ระยะทางไม่ได้ไกลมากมายอะไร ประชาชนคนทั่วไปจึงไม่ดิ้นรนที่จะซื้อรถยนต์ หากต้องใช้รถยนต์เป็นครั้งเป็นคราวก็อาศัยบริการรถเช่าซึ่งมีกว่า 50 แห่ง รถเช่าในสิงคโปร์จะแบ่งบริการหลากหลาย เช่น เช่าระยะสั้นต่อวัน สัปดาห์ หรือเดือน เช่าระยะยาวเพื่อใช้งานในองค์กรเป็นรถประจำบริษัท หรือเหมาเช่ารายปี 

     ที่ผ่านมา ธุรกิจรถเช่าในสิงคโปร์ก็ดำเนินไปเรื่อย ๆ ไม่ได้หวือหวาอะไร มีช่วงโลว์ ช่วงพีคตามปกติ ช่วงพีคคือช่วงตรุษจีนที่คนสิงคโปร์จะแห่งเช่ารถ จองล่วงหน้ากันเป็นเดือนเพื่อพาครอบครัวไปพักผ่อนไกล ๆ เช่น ข้ามแดนไปมาเลเซียหรือไทย จนกระทั่ง Uber ผู้ให้บริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นเข้ามาปักหลักในสิงคโปร์เมื่อปี 2014 นั่นแหละ การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น ช่วงระหว่างปี 2014-2015 จำนวนรถเช่าบนท้องถนนเพิ่มขึ้นกว่า 50% มาอยู่ที่ราว 30,000 คัน แซงหน้าจำนวนแท็กซี่ไปเรียบร้อย



    รายงานระบุด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้น บวกกับอัตราการว่างงานที่สูงมาตลอด 6 ปีทำให้สภาวะเศรษฐกิจไม่สดใสนัก ส่งผลให้ชาวสิงคโปร์ส่วนหนึ่งต้องหารายเสริม การเข้ามาของ Uber และ Grab จึงเป็นทางออกอย่างหนึ่ง การไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์ไม่ใช่ปัญหา พวกเขาใช้วิธีเช่ารถ อาจจะเช่าจากบริษัททั่วไปหรือเช่าจาก Uber และ Grab ก็ได้ซึ่งส่วนใหญ่จะบังคับให้ผู้เช่าทำสัญญาเช่าอย่างน้อย 3 หรือ 6 เดือนขึ้นไป


    ปีเตอร์ จิว อดีตนายตำรวจวัย 58 ปีที่เกษียณราชการแล้ว ก็เช่ารถ Honda Vezel จากบริษัทแห่งหนึ่งมาขับหาเงิน สัปดาห์ละ 6 วัน วันละ 3-4 ชั่วโมง แค่นี้ก็เพียงพอจ่ายค่าเช่ารถที่คิดเป็นรายสัปดาห์ ๆ ละ 500 ดอลลาร์ นอกจากสร้างรายได้ให้ครอบครัว ยังทำให้เขามีรถยนต์ไว้ใช้ส่วนตัวนอกเวลางานด้วย    ด้านไซมอน ซึ่งทำงานออฟฟิศแต่หารายได้เสริมด้วยการขับรถให้ Uber โดยเช่ารถจาก Uber เลย เขามีวิธีลดค่าใช้จ่ายคือขับข้ามแดนระยะทาง 20 กม.เพื่อไปเติมน้ำมันที่ฝั่งมาเลเซียที่ค่าน้ำมันถูกกว่ามาก ส่วนตั้งคินยี ชายผู้ทำงานด้านภาพถ่ายและโฆษณาเล่าว่าธุรกิจซบเซามาก เขาจึงมาขับ Uber ถ้าธุรกิจไม่ดีขึ้น เขาอาจจะตัดสินใจขับรถรับจ้างแบบเต็มตัว 

    การเติบโตของธุรกิจบริการแท็กซี่ผ่านสมาร์ทโฟนนี่เองที่เป็นเหตุผลให้ธุรกิจเช่ารถเฟื่องฟู สำหรับชาวสิงคโปร์กลุ่มหนึ่ง นอกจากจะสร้างรายได้จุนเจือครอบครัวได้ ยังทำให้มีรถยนต์ส่วนตัวใช้งานแม้จะเป็นแค่รถเช่าก็ตาม


ข้อมูล
www.thestar.com.my/tech/tech-news/2017/03/17/singaporeans-become-uber-drivers-to-get-around-high-car-prices/

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี