Tech Startup

คิดแบบ Tech Startup สู่การเติบโตอย่างก้าวกระโดด

 


    
เรื่อง : นิธิดา วงศาโรจน์


    ในช่วง 2-3 ปีให้หลังมานี้ ความนิยมของ Tech Startup นับว่าเป็นกระแสที่มาแรงเลยทีเดียว ดังจะเห็นได้จากจำนวน Startup เกิดใหม่ และสมาคม Thailand Tech Startup Association ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนที่มีไอเดียสร้างสรรค์พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์โดนๆ ซึ่งถ้าใครยังนึกภาพของ Tech Startup ไม่ออก ก็ลองนึกภาพบรรดาโซเชียลมีเดีย อย่างเฟซบุ๊ก กูเกิล ทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรม เหล่านี้เองคือต้นแบบความสำเร็จของ Tech Startup


    แต่ทั้งนี้พี่ไทยก็ไม่น้อยหน้าชาติใดเหมือนกัน เพราะตั้งแต่กระแสที่เริ่มเข้ามา ต่างก็มีคนรุ่นใหม่พร้อมใจกันก้าวสู่การเป็น Tech Startup มากมายเช่นกัน รวมถึง อุ๊คบี หรือแอพพลิเคชันร้านหนังสือในรูปแบบดิจิตอลที่ใหญ่ที่สุดใน South East Asia โดยมี ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งเจ้าตัวได้มาเผยประสบการณ์พร้อมแชร์แนวคิดในแบบ Tech Startup ที่สร้างโอกาสให้ธุรกิจได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด


    “Tech Startup ก็ไม่ได้แปลกหรือแตกต่างจาก Startup ทั่วไปนัก เพียงแค่มีเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาเอี่ยวด้วยเท่านั้น ซึ่งในช่วงที่กระแสเหล่านี้เริ่มเข้ามาในประเทศ ก็มีหน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุนโดยจัดการประชุมเพื่อให้สตาร์ตอัพและนักลงทุนได้มาพบปะกัน”


    โดยณัฐวุฒิยังได้เกริ่นถึงจุดเด่นของการเป็น Tech Startup ที่ควรจับตามอง นั่นก็คือหลักการที่เน้นเติบโตไว โดยผ่านการระดมเงินจากนักลงทุนทั้งของไทยและของต่างชาติ ซึ่งก็จะมีการขายหุ้นออกเป็นระยะ หรือที่เรียกว่า Series A ขยับไปสู่ Series B และ C ตามลำดับ โดยจะมีการระดมทุนที่มูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็มาถึงระยะ Exit หรือตามศัพท์เทคนิคของ Startup จะหมายถึงมีบุคคลอื่นมาทำการซื้อต่อ


    “เริ่มแรกอุ๊คบีก็เป็น SME ธรรมดาที่ใช้เงินลงทุนของตนเอง โดยตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่เราเปิดบริษัทมา ถึงได้เริ่มระดมทุนระยะแรกหรือที่เรียกกันว่า Series A โดยบริษัทอินทัช ซื้อหุ้นไป 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงินราวๆ 60 ล้านบาท ต่อมาในปี 2557 เราก็เริ่มขายต่อในระยะที่ 2 หรือ Series B โดยการขายในแต่ละระยะ มูลค่าของธุรกิจก็จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ คราวนี้เราขายให้บริษัทจากประเทศญี่ปุ่น Transcosmos อีก 10 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นเงินราวๆ 200 กว่าล้านบาท โดยเป้าหมายในการระดมทุนครั้งนั้น ผมก็ตั้งใจที่จะรับโนว์ฮาวต่างๆ จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาสู่ไทย ไม่ว่าจะเป็นการทำตลาดออนไลน์ การโฆษณาหรือวิเคราะห์ข้อมูล ที่สำคัญคือความตั้งใจที่จะเป็น Digital Book อันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปี 2558 ที่ผ่านมา เราก็อยู่ในการระดมทุนที่ Series C แล้ว ซึ่งอุ๊คบีเองก็ได้ขยายตลาดไปยังประเทศเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์และฟิลิปปินส์เป็นที่เรียบร้อย”


    โดยเป้าหมายสุดท้ายของบรรดา Tech Startup ที่ณัฐวุฒิเปิดเผยให้ฟังนั้น คือการนำธุรกิจไปสู่จุด Exit หรือตามศัพท์เทคนิคในวงการ ที่หมายถึงการมีบริษัทเข้ามาซื้อกิจการ โดยตัวอย่างการซื้อกิจการในตลาดโลกที่เราเคยได้ยินมาก่อน ก็เช่น เฟซบุ๊กเข้าซื้ออินสตาแกรม เป็นต้น  


    “ผมมองการทำธุรกิจในรูปแบบ Tech Startup คล้ายกับธุรกิจที่ให้ปลาใหญ่คอยตอดกินปลาเล็กไปทีละตัว โดยมีเงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ดังนั้น บรรดาปลาเล็กที่ต้องการอยู่รอดให้ได้ ก็ต้องคอยคิดไอเดียใหม่ๆ มาแลกเงินอยู่เสมอ ซึ่งตรงนี้แหละครับที่จะผิดจากความคิดของเถ้าแก่ SME ซึ่งจะมองในมุมต่างออกไปว่าต้องครองธุรกิจของตนไว้แต่เพียงผู้เดียว ทั้งที่ความจริงแล้วการทำในลักษณะ Tech Startup จะสามารถสร้างเงินได้มูลค่ามหาศาล ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าเราสามารถลบภาพการเป็นเจ้าของธุรกิจแต่เพียงผู้เดียวออกไปได้ ประเทศไทยจะมีเจ้าสัวเพิ่มขึ้นอีกหลายคนเลยทีเดียว” 


    สถิติที่ผ่านมาประเทศไทยมีบริษัท Startup ที่ทำการระดมทุนไปแล้วเป็นมูลค่าหลักพันล้านบาท ซึ่งไม่ได้เป็นตัวเลขที่มากมายเลยเมื่อเทียบกับประเทศหลักรอบตัว เผลอๆ อาจจะน้อยกว่าการระดมทุนแค่บริษัทเดียวในต่างประเทศด้วยซ้ำ โดยหัวใจสำคัญสำหรับการเป็น Tech Startup ณัฐวุฒิเผยว่ากลุ่มผู้ประกอบการ SME ควรคำนึงถึงคีย์เวิร์ดสำคัญ 2 ข้อด้วยกัน ได้แก่ Scalable และ Repeatable


    “ความหมายของ Scalable และ Repeatable คือการปรับขนาดและทำซ้ำเพื่อให้เติบโตได้ ผมเชื่อมั่นว่า SME ก็สามารถทำได้ แม้จะไม่ได้ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางด้านไอทีมาก่อนก็ตาม เช่น การเปิดสาขาใหม่ หรือมีระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในส่วนจัดซื้อหรือจัดจ้าง

  คือจำไว้เลยว่า ถ้าคุณทำธุรกิจขึ้นมาแล้วไม่มี Scale หรือ Repeat ก็เตรียมพับโปรเจ็กต์ธุรกิจตัวนี้ไปได้เลย เพราะสุดท้ายคุณก็สู้กับคู่แข่งไม่ได้อยู่ดี


  นอกจากนั้น สำหรับว่าที่ผู้ประกอบการที่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตนเอง แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรให้สามารถเป็น Tech Startup ได้ ลองดูตัวอย่างจากผู้ประกอบธุรกิจในต่างแดนแล้วนำมาปรับประยุกต์เข้ากับบริบทคนไทย เช่น การจับ Pain Point ของแอพพลิเคชัน Grab Taxi และ Uber ที่รู้ว่าคนไทยมักประสบปัญหาเรื่องการเรียกแท็กซี่ บ้างก็ส่งรถ บ้างก็แก๊สไม่พอ ดังนั้น สองเจ้ายักษ์ใหญ่จึงได้ไอเดียเข้ามาแก้ปัญหา โดยที่ไม่ต้องลงทุนซื้อรถเป็นของตนเองแม้สักคันเดียว จนสุดท้ายก็สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคและทำให้เกิดการหลั่งไหลเข้าไปใช้บริการ” ณัฐวุฒิกล่าวทิ้งท้าย

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี