Starting a Business
LATIA เปิดโลกแฟชั่นออนไลน์ในแบบเด็ก Gen Y
วันนี้การจะเริ่มทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะด้วยเทคโนโลยีทีอันทันสมัย ได้กลายเป็นช่องทางในการเริ่มต้นแบบง่ายๆ แต่จะสำเร็จหรือไม่นั้น คงเป็นเรื่องที่ต้องรอการพิสูจน์จากผู้ที่ลงมือทำ ดังเช่น แบรนด์สินค้าแฟชั่นนามว่า “LATIA” ของ “เอื้อน” หรือ “ณพสรา ไทยวัฒน์” และเพื่อนๆ ชาว Gen Y ซึ่งกำลังพิสูจน์ตัวเอง ด้วยแนวคิดการทำธุรกิจในแบบคนรุ่นใหม่ ซึ่งวันนี้พวกเธอสามารถข้ามผ่านก้าวแรกทางธุรกิจได้อย่างงดงาม
เอื้อน นิสิตปี 4 ในวัยเพียง 23 ปีเล่าว่า LATIA เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา จากการรวมกลุ่มกันกับรุ่นพี่ผู้หญิงอีก 2 คน ผู้ซึ่งมีอายุเพียง 25 ปีในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพราะความสนใจในธุรกิจแฟชั่นเหมือนๆ กัน จึงทำให้เธอทั้ง 3 ตัดสินใจสร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง ตามแบบฉบับผู้ประกอบการรุ่นใหม่
“เมื่อเราตกลงใจทำธุรกิจร่วมกัน สิ่งแรกที่เริ่มทำคือการวางระบบให้ชัดเจน โดยแบ่งแยกตำแหน่งหน้าที่ พี่คนแรกจบมาทางด้านดีไซน์ บวกกับพื้นฐานครอบครัวมีธุรกิจเสื้อ เราจึงวางตำแหน่งให้เป็นหัวหน้าดีไซเนอร์ พี่อีกหนึ่งคนจบมาจากประเทศอังกฤษ ค่อนข้างมีความคิดสร้างสรรค์ เขาจึงเป็นคนดูแลเรื่องออกแบบคอลเลกชั่น ธีมของแบรนด์ รวมไปถึงเว็บไซต์ ส่วนเอื้อนจะดูแลในส่วนของงาน PR ซึ่งเราเริ่มทดลองจำหน่ายบนช่องทาง Social Network เช่น Instagram หรือ Facebook ราว 3 เดือน ต่อมาจึงนำเงินทุนจากส่วนนั้นมาสร้างเป็นเว็บไซต์”
จะเห็นว่าโดยส่วนใหญ่วิธีการบริหารของคนรุ่นใหม่จะดูมีลักษณะคิดไวทำไว และไร้แบบแผน ทว่าตั้งแต่ก้าวแรกในการบริหาร LATIA ผู้ประกอบการที่ถูกเรียกว่าเด็กอย่างพวกเธอทั้ง 3 คน กลับคำนึงถึงระบบเป็นสำคัญ เพราะเชื่อว่าระบบจะช่วยสร้างความเป็นมืออาชีพได้
“แรกเริ่มเขาขายสินค้าผ่าน Social Network ต่างๆ ลูกค้าจะเลือกซื้อสินค้าผ่านอีเมล และช่องทางเหล่านี้ แต่คนที่สั่งผ่านเว็บไซต์มีน้อยมาก เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เรามีกลุ่มลูกค้า เราจึงขอให้เขาสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ที่มีความเป็นระบบ กระทั่งปัจจุบันเรารับออร์เดอร์ผ่านเว็บไซต์เพียงอย่างเดียว ส่วนในอีเมลจะเป็นเพียงการแจ้งเตือนเวลาสั่งซื้อ ทุกวันนี้ลูกค้าต่างชาติซื้อสินค้าของเราได้เยอะ ก็เป็นผลมาจากการที่เรามีระบบจ่ายเงินที่ดีเพียงพอ”
ทั้งนี้ หากย้อนเส้นทางสายธุรกิจของณพสรา พบว่าก่อนจะมาบริหาร LATIA เธอมีโอกาสชิมลางบทบาทผู้ประกอบการมาแล้ว 1 ปี ด้วยความที่สนใจเรื่องธุรกิจเป็นทุนเดิม บวกกับความชื่นชอบสินค้าแฟชั่น จึงสร้างเพจเป็นของตนเองชื่อ “A Fashion Line” เพื่อไว้คอยอัพเดตเทรนด์ต่างๆ รวมถึงเป็นช่องทางให้เริ่มจำหน่ายสินค้าดีไซน์เอง จนได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม เส้นทางธุรกิจของเธอจึงเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ คืองานอดิเรก
“การเริ่มต้นธุรกิจด้วย Social Network อาจจะง่ายสำหรับใครหลายๆ คน แต่ก็ไม่ใช่สำหรับทุกคน หากใครไม่ชอบอัพเดตข้อมูลบนหน้าเพจ ไม่มีความกระตือรือร้น หรือใส่ใจอยู่เสมอ คิดว่าก็ไปไม่รอดอยู่ดี เพราะช่องทางนี้ต้องพร้อม 24 ชั่วโมง การพูดคุยผ่านโทรศัพท์กับลูกค้าอาจจะสามารถระบุเวลาได้ว่าตั้งแต่เท่านี้ถึงเท่านี้ แต่สำหรับการสั่งซื้อ และการตอบอีเมลนั้น ต้องพร้อมตลอดเวลา”
สำหรับกลยุทธ์ที่เหล่าผู้ประกอบการไฟแรงกลุ่มนี้นำมาใช้เพื่อสร้างความแตกต่าง นั่นก็คือ การสร้างให้เว็บไซต์เป็น “Department Store Online” กล่าวคือ มีการเปิดโอกาสให้สินค้าแฟชั่นแบรนด์อื่นๆ เข้ามาจัดจำหน่ายในหน้าร้านของ LATIA เพื่อให้เป็นไปตามคอนเซ็ปต์ที่ต้องการให้แบรนด์ LATIA นั้นเป็น “Ultimate Online Fashion Destination”
“สิ่งที่เราคิดคือ จะทำอย่างไรให้คนรู้จักเรามากที่สุด วิธีนี้เป็นไอเดียใหม่ ที่เราไปชวนแบรนด์อื่นให้นำสินค้ามาขายกับเรา เพราะข้อดีนอกจากจะทำให้มีคนรู้จักเราเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือเว็บไซต์จำเป็นต้องมีการอัพเดตบ่อยที่สุด เพราะสามารถสร้างความหลากหลายและเรียกร้องความสนใจจากลูกค้าได้ คล้ายกับว่าเราโปรโมตแบรนด์ให้เขา เขาก็ช่วยโปรโมตแบรนด์ของเรา สินค้าของเขาขายได้ เราเองก็ได้เปอร์เซ็นต์ เว็บไซต์เองก็มีความน่าสนใจ”
ทั้งนี้ ในความคิดของณพสรา มองว่าการทำธุรกิจของผู้ประกอบการอายุน้อยนั้น การมีหุ้นส่วนถือเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก ด้วยความที่ยังขาดประสบการณ์ เพื่อนร่วมธุรกิจจะสามารถช่วยคิด และแลกเปลี่ยนความรู้ที่ต่างคนต่างมีให้แก่กันและกันได้
“LATIA มีเจ้าของธุรกิจ 3 คน 3 สไตล์ คนหนึ่งชอบหวานๆ ส่วนอีกคนชอบเรียบง่าย ในขณะที่เอื้อนชอบรายละเอียดเยอะๆ ซึ่งหากเสื้อผ้าถูกดีไซน์ออกมาแล้วเราชอบทั้ง 3 คน ชุดนั้นจะขายดีมากๆ หรือในบางครั้ง เราไม่ชอบแบบนี้ แต่ปรากฏว่าขายดีมาก นั่นแสดงว่าเราไม่สามารถเอาความชอบของเราไปตัดสินได้ เพราะลูกค้ามีหลากหลาย แต่หลักๆ เราวางรูปแบบเสื้อผ้าให้มีความเป็น Modern Simplicity คือใส่ได้ทุกโอกาส ก่อนจะเริ่มทำธุรกิจ เรามองดูตลาดแล้วว่าเสื่อผ้าแบบนี้ไปได้ดีเสมอ”
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญของการเป็น Young Entrepreneur อายุน้อย คือยังขาดความเป็นมืออาชีพในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความน่าเชื่อถือ ดังนั้น สิ่งที่เอื้อนทำได้ คือพยายามอธิบายให้ทุกคนเข้าใจในมุมมองของพวกเธอ ที่สำคัญคือพยายามเรียนรู้ Step by Step โดยใช้แบรนด์ใหญ่ๆ ที่ติดตลาดแล้วมาเป็นกรณีศึกษา
“หากต้องการมีกิจการเป็นของตัวเองตอนอายุยังน้อย จะต้องตั้งใจจริง เพราะเป็นผลดีมากต่อประสบการณ์ของเรา ทว่าจะต้องทำในสิ่งที่พอดี ทั้งพอดีกับความชอบ พอดีกับเงินทุน และพอดีสำหรับทุกๆ อย่างรอบตัว เพราะเมื่อไหร่ที่ต้องเจ็บตัวจริงๆ เราจะไม่เจ็บมาก เพราะเราไม่มีทางลงทุนได้มากอยู่แล้ว” ณพสรากล่าวทิ้งท้าย
Key to Success…LATIA
1. ให้ความสำคัญกับระบบ เพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพ
2. เปิดกว้างทางความคิด เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่หลากหลาย
3. เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการก้าวเดิน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของ SME (เอสเอ็มอี)
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของ SME (เอสเอ็มอี)