ถ้าอยากวินต้องมี! รวม 10 เช็กลิสต์ที่ต้องตอบคำถามก่อนตัดสินใจลงทุนแฟรนไชส์
Text : Yuwadi.s
เพราะความฝันของใครหลายคนที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ ทำให้หนึ่งในรูปแบบธุรกิจนั้นเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องคือแฟรนไชส์ ที่เปิดให้คนที่มีเงินลงทุนสามารถจับจองเป็นเจ้าของและสร้างยอดขายได้โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ฟังเหมือนง่ายแต่ความจริงแล้วการซื้อแฟรนไชส์มาบริหารก็มีความเสี่ยงหลายอย่างที่คุณต้องรู้ การมีเงินลงทุนเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ เราจึงอยากชวนคุณมาตั้งคำถามกับ 10 เช็กลิสต์ที่ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์
1. ธุรกิจที่คุณกำลังจะซื้อแฟรนไชส์ ดำเนินกิจการมานานแค่ไหน?
คำถามสำคัญก่อนที่คุณจะตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์สักธุรกิจ คุณต้องรู้ให้ได้ว่าแฟรนไชส์ที่คุณจะซื้อดำเนินกิจการมานานเท่าไหร่ มีประสบการณ์แค่ไหน เจอปัญหาอะไรมาแล้วบ้าง แน่นอนว่าธุรกิจแฟรนไชส์ที่เปิดใหม่ย่อมสดใหม่และน่าสนใจ แต่บางครั้งแฟรนไชส์ใหม่ๆ อาจจะยังมีประสบการณ์ไม่มากพอที่จะขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ คุณอาจจะต้องลองชั่งน้ำหนักเรื่องประสบการณ์ของแฟรนไชส์ตรงนี้ด้วย
2. ชื่อเสียงและความต้องการของแฟรนไชส์เป็นอย่างไร?
อีกหนึ่งเรื่องที่คุณต้องศึกษาให้ดีว่าธุรกิจแฟรนไชส์ที่คุณกำลังจะซื้อมีชื่อเสียงเป็นอย่างไร หากพูดถึงในมุมของผู้บริโภคแล้วจะคิดถึงในแง่บวกหรือลบ เคยมีดราม่ามาก่อนหรือไม่ อีกทั้งยังต้องสำรวจความต้องการของตลาดว่าสินค้าหรือบริการนี้ยังเป็นที่ต้องการอยู่ไหม คุณอาจจะต้องสวมบทในมุมของผู้บริโภคก่อนที่จะตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์
3. ทัศนคติและวิสัยทัศน์ของเจ้าของแฟรนไชส์เป็นแบบไหน?
นอกจากเรื่องของตัวธุรกิจ อีกสิ่งสำคัญที่ต้องดูให้ดีคือเรื่องของวิสัยทัศน์ในการดำเนินกิจการของเจ้าของแฟรนไชส์ที่คุณจะซื้อ เพราะการตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์นั้นเหมือนคุณต้องยอมรับทั้งแบรนด์ เจ้าของแบรนด์ ต้องประกอบธุรกิจตามวิสัยทัศน์ของเขา ตามแนวทางของเขา หากคุณไม่ได้มีแนวคิดไปในทางเดียวกัน คงเป็นเรื่องยากที่จะรับไม้ต่อแฟรนไชส์ของเขาและทำให้สำเร็จได้
4. บริษัทมั่นคงและมีผลกำไรต่อเนื่องหรือไม่?
การที่คุณตัดสินใจจะทำธุรกิจสักอย่าง สิ่งที่ต้องการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือผลกำไร ดังนั้นคุณจำเป็นต้องดูความมั่นคงของธุรกิจที่จะซื้อแฟรนไชส์ ดูว่าบริษัทมีการเติบโตต่อเนื่องทุกปีหรือไม่ มีผลกำไรเป็นอย่างไร โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถเช็คได้อย่างเปิดเผยที่เว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
5. บริษัทมีการทำการตลาดให้แฟรนไชส์ซีมากน้อยแค่ไหน?
เรื่องของการทำการตลาดก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน หากคุณอยากซื้อแฟรนไชส์ คุณต้องดูเรื่องของการทำการตลาดที่ทางแฟรนไชส์ซอลงทุนให้แฟรนไชส์ซีว่ามีงบทำการตลาดเท่าไหร่ มีการโปรโมตให้แฟรนไชส์ซีแบบไหน ช่วยด้านไหนบ้าง
6. สัญญาการซื้อแฟรนไชส์เป็นแบบไหน?
หากคุณตัดสินใจเลือกแฟรนไชส์ได้แล้ว สิ่งสำคัญต่อมาคือการศึกษารายละเอียดของสัญญาการซื้อแฟรนไชส์ให้ละเอียดถี่ถ้วนว่าในการซื้อแฟรนไชส์ครั้งนี้ คุณได้รับสิทธิ์อะไรบ้าง ต้องซื้ออะไรจากทางแฟรนไชส์ซอบ้าง อะไรที่คุณบริหารจัดการเองได้ สามารถต่อยอดธุรกิจได้อย่างไรบ้างหรือต้องทำตามแนวทางของแฟรนไชส์ซอแบบ 100% เพราะการซื้อแฟรนไชส์มีทั้งที่คุณซื้อแค่ชื่อและสูตรของแบรนด์ แต่ต้องหาวัตถุดิบเอง หรือบางแฟรนไชส์จะต้องซื้อวัตถุดิบจากบริษัทแม่เท่านั้น เป็นต้น
7. สำรวจความพร้อมของตัวเองหรือยัง?
นอกเหนือจากการสำรวจธุรกิจที่เราจะซื้อแฟรนไชส์แล้ว อีกสิ่งสำคัญคือการหันมาสำรวจความพร้อมของตัวเองก่อนตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ เพราะเมื่อเดินหน้าแล้ว คงถอยหลังกลับไปได้ยาก คุณมีความพร้อมในการบริหารแค่ไหน มีเวลากับธุรกิจนี้เท่าไหร่ จะจัดการอย่างไรให้ธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
8. มีเงินลงทุนเท่าไหร่?
เรื่องสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของการตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์นั่นคือเรื่องของเงินลงทุน เพราะคุณจำเป็นต้องตั้งเป้างบประมาณไว้ก่อนถึงจะสามารถเลือกแฟรนไชส์ที่อยู่ในงบที่คุณมีได้ นอกจากงบประมาณที่คุณต้องซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์ คุณยังจำเป็นต้องมีเงินในมืออีกก้อนเพื่อเป็นสายป่านให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างไม่สะดุดในช่วงแรกที่ยังไม่มีกำไรอีกด้วย
9. คุณมีทำเลที่ดีแล้วหรือยัง?
คำถามนี้เป็นคำถามสำคัญที่คุณต้องตอบตัวเองให้ได้และเป็นเรื่องที่แฟรนไชส์ซอก็มักจะถามคุณเช่นกัน เพราะเรื่องทำเลการขายคือหัวใจสำคัญในการเปิดธุรกิจแฟรนไชส์ใหม่ๆ ส่วนใหญ่แฟรนไชส์ที่เปิดมักจะต้องมีระยะห่างจากกัน บางแฟรนไชส์มีแค่จังหวัดละ 1 แฟรนไชส์เท่านั้น เรื่องทำเลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
10. หากแฟรนไชส์ที่เราเลือกมามีปัญหาจะทำอย่างไร?
เป็นการปิดท้ายคำถามด้วย Worst-case scenario สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นได้ในการซื้อแฟรนไชส์ ถ้าหากแฟรนไชส์ที่คุณซื้อมาเกิดมีปัญหา เจ้าของแฟรนไชส์จะสามารถช่วยอะไรได้บ้าง ในสัญญาระบุอะไรไว้บ้าง คุณมีสิทธิ์ในการจัดการแฟรนไชส์มากแค่ไหนในวันที่เกิดปัญหา
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี