Starting a Business

Pimhom waxmelts แบรนด์เทียนละลายของเด็กมหาลัยปี 1 ที่อยากสร้างทางเลือกใหม่ให้คนรักกลิ่นหอม

Text : Yuwadi.s

     ด้วยแพสชันที่ชอบผลิตภัณฑ์สร้างกลิ่นหอม ทำให้เด็กมหาลัยปี 1 ตัดสินใจเริ่มต้นแบรนด์เล็กๆ ที่อยากจะให้เป็นทางเลือกใหม่ให้แก่คนรักกลิ่นหอมเหมือนกัน แต่ทางเลือกใหม่นี้มีข้อดีคือช่วยลดขยะได้ด้วย! และนี่คือเรื่องราวของแบรนด์ Pimhom waxmelts แบรนด์เทียนละลายที่ก่อตั้งโดย ดล ดลพร ชุ่มชูจันทร์ เธอหยิบเอาความหลงใหลในเทียนหอมมาประยุกต์ใหม่ให้หลายเป็นเทียนละลาย ลดขยะจากแพ็คเกจจิ้ง สามารถใช้งานได้ยาวนานแถมยังมิกซ์กลิ่นได้หลากหลายอีกด้วย

เปลี่ยนความชอบเป็นธุรกิจที่ใช่ในวัยมหาลัย

     ก่อนที่ดลจะก่อตั้งแบรนด์ Pimhom waxmelts เธอเคยทำธุรกิจอื่นมาก่อน อาทิ แก้วที่เพนต์ด้วยมือหรือจะเป็นแบรนด์บอดี้ บัตเตอร์ แต่ธุรกิจก่อนหน้านี้ก็ต้องยุติลงไปด้วยเหตุจำเป็นบางอย่าง

     “เราเป็นคนชอบปัดพินเทอเรส ก็จะเห็นไอเดียงานฝีมือขึ้นมาจากต่างประเทศ ก่อนหน้านี้เราเคยเพนต์แก้ว พอได้ไอเดียเราก็ลองทำเล่นๆ ลงคลิปใน TikTok แล้วมีคลิปแมสขึ้นมาก็มีคนมาติดต่อขอซื้อ เราก็เลยทำขาย แล้วมีช่วงหนึ่งที่เราไม่ได้อยู่ที่บ้าน ทุกอย่างไม่สะดวก เราเลยหยุดไป พอกลับมาทำ AI ใน TikTok ก็ไม่นำส่งคลิป เราเลยเริ่มท้อ คิดว่าไม่ใช่ทางเลยพักไป หลังจากนั้นก็กลับมาทำบอดี้บัตเตอร์ เป็นครีม เราชอบใช้ครีมแต่มันไม่ค่อยเหมาะกับเมืองไทย มันร้อน เราได้ไอเดียมาก็เลยลองลงคลิปเล่นๆ พอลงคลิปไปก็มีปัญหาว่าต้องจดอย.นะ เราเลยไม่ได้ทำตัวบอดี้บัตเตอร์ต่อ ทีนี้เราก็มาดูว่าเราขาดทุนไปเท่าไหร่ มันก็เยอะอยู่ แล้วเรามีแม่พิมพ์จากที่ทำบอดี้บัตเตอร์เหลือ เราเลยเล็งอีกอย่างคือเราชอบเทียนหอม เครื่องหอม ก้านไม้หอม แต่พอเราใช้เยอะๆ มันจะมีสิ่งที่เหลือจากการใช้คือพวกแก้วที่ใส่เทียน มีเยอะมาก ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เราเลยเห็นว่าต่างประเทศเขาทำ Waxmelts มันน่ารักดี ไม่มีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นแก้วหรือกระปุกด้วย ลดขยะตรงนี้ไปได้”

     ดลได้เล่าถึงไอเดียของการทำเทียนละลายต่อว่าเป็นอีกทางเลือกของการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมสำหรับคนที่อยากช่วยลดโลกร้อน เพราะว่าเทียนละลายจะช่วยลดขยะจากแพ็คเกจจิ้ง นอกจากนี้ทางแบรนด์ยังมีการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ง่ายอีกด้วย

      “เราเอาแม่พิมพ์ที่เหลือจากตอนทำบอดี้บัตเตอร์มาใช้เพราะไม่อยากให้ทุนมันสูงไปกว่านี้ เราก็เลยมาทำตัว Waxmelts เป็นสินค้าแฮนด์เมด เราลองดูตลาดในไทย มีแต่น้อยมาก คนจะรู้จักเทียนหอมมากกว่า เราอยากให้คนไทยรู้จักมากขึ้น อยากเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเครื่องหอมที่ช่วยลดขยะได้ เพียงแค่ซื้อเตาไฟฟ้าหรือเตาอโรม่า ก็สามารถใส่เทียนละลายเข้าไป มันก็จะส่งกลิ่นหอม แล้วผู้ใช้ก็สามารถควบคุมปริมาณของการใช้งานได้ ถ้าอยู่ห้องขนาดเล็ก แต่ไม่อยากได้กลิ่นแรงเกินไปก็ใส่แค่นิดหน่อยได้ อย่าง 1 กระปุก ตัว 100 กรัม สามารถใช้ได้นานเลยค่ะ กระปุกหนึ่งแบ่งใช้ได้เกือบ 15 รอบ เมื่อมันละลายแล้ว เราสามารถเอาที่ใช้ไปแล้วกลับมาใช้ซ้ำได้จนกว่ากลิ่นจะหมด ประหยัดไปได้อีกค่ะ”

ใส่สตอรี่ลงในกลิ่นหอมพร้อมแพ็คเกจจิ้งที่วาดด้วยมือ

     นอกเหนือจากคอนเซปต์ที่รักษ์โลกแล้ว Pimhom waxmelts ยังมีจุดเด่นอยู่ที่การใส่สตอรี่ลงไปในกลิ่นแต่ละกลิ่น ถ่ายทอดออกมาผ่านแคปชั่นเล่าเรื่องให้คนอ่านได้เห็นภาพว่าแต่ละกลิ่นนั้นเป็นอย่างไร อีกทั้งยังใส่ใจด้วยการวาดรูปสวยๆ ให้สอดคล้องกับแต่ละกลิ่นด้วยตัวเอง

     “จุดเด่นของ Waxmelts คือมันน่ารัก จะเป็นอันเล็กๆ สามารถทำใส่แม่พิมพ์ได้หลายแบบมากเลยค่ะ ตอนนี้กลิ่นที่เราทำออกมา เราจะคัดสรรมาแล้ว ทดลองไปเยอะมาก อันไหนไม่ชอบเราก็ไม่ขาย กลิ่นที่ขายดีที่สุดจะเป็นกลิ่น After the rain ฟ้าหลังฝน ตัว Waxmelts เราจะทำเป็นรูปก้อนเมฆสีฟ้ากับสีขาว เราจะใส่กลิตเตอร์ทุกอัน กลิ่นก็จะให้ความรู้สึกเหมือนฟ้าหลังฝนที่จะสะอาดๆ มีความชุ่มชื่นของไอฝน ผสมดอกไม้เล็กๆ มีความเขียวเล็กๆ ของใบไม้ดอกไม้ที่กำลังผลิบานหลังฝนตก สดชื่น เราจะมีสตอรี่ในแต่ละกลิ่น หรือตัวสติกเกอร์แปะฝา อย่างคอลเลกชันนี้เป็นคอลเลกชันแรกที่เราทำ เราอยากให้มันพิเศษ เราเลยลงมือวาดเองทุกอันตามคอนเซปต์ของแต่ละกลิ่น เราขายทั้งหมด 10 กลิ่น เราก็วาดเองหมดเลย ใช้เวลาเดือนกว่าๆ ในการวาดรูป ให้มันสอดคล้องทั้งกลิ่น ทั้งตัว Waxmelts และตัวสติกเกอร์บนฝา เราทำทุกอย่างเองหมดเลยค่ะ”

     ทางด้านการทำตลาดให้คนรู้จัก ดลเล่าว่าเธอใช้วิธีการเล่าเรื่องผ่านคลิปวิดีโอลงบน TikTok เน้นการเล่าถึงจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังเน้นของความสม่ำเสมอเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า

     “เราต้องทำให้คนเข้าใจ วิธีการคือเราทำคลิปลง TikTok ทำคอนเทนต์นำเสนอจุดเด่น จุดแตกต่าง ว่าทำไมคนต้องหันมาซื้อสินค้าของเรา อยากให้คนหันมาสนใจเราต้องหาจุดแตกต่าง แต่สิ่งที่ทำให้คนตัดสินใจซื้อ เรามองว่าคนเห็นบ่อยแล้วเขาจะอยากลอง ไม่ใช่เห็นแค่คลิปเดียวแล้วเราหายไปเลย คนก็จะไม่สนใจ เราต้องทำไปเรื่อยๆ เพื่อให้คนไว้วางใจและเปิดใจ เราก็พยายามลงคลิปเรื่อยๆ ทำคอนเทนต์ให้ความรู้สลับกับความบันเทิง เดี๋ยวคนจะเบื่อ”

     เธอได้ปิดท้ายถึงหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจว่าเธอให้ความสำคัญกับแพสชันและมีเป้าหมายสำคัญคืออยากให้คนหันมารู้จักสิ่งที่เรียกว่าเทียนละลายมากขึ้น

      “หัวใจในการทำธุรกิจของแบรนด์เรา เราใช้แพสชันอย่างเดียวในการทำ อาจจะมอง Pain point ในเรื่องการลดโลกร้อน เราอยากช่วยลดขยะแต่แพสชันเราคืออยากให้คนไทยได้รู้จัก Waxmelts มากขึ้น เป็นทางเลือกที่ยั่งยืน ถ้าวันหนึ่งมีแบรนด์ที่ใหญ่กว่าเข้ามาทำสิ่งนี้ เราก็โอเค เพราะเป้าหมายเราคือการทำให้ Waxmelts เป็นที่รู้จักมากขึ้นและเราประสบความสำเร็จแล้ว”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup