Starting a Business

จากเด็กชอบตัดกระดาษสู่ Cuting.cut ที่ตัดกระดาษให้เป็นของขวัญ ปังจนขายได้ชิ้นละ 4 หมื่นบาท!

 

Text : Yuwadi.s

     จะดีแค่ไหนถ้าเราได้ตื่นขึ้นมาทำในสิ่งที่ชอบทุกวันแถมยังสร้างรายได้แบบที่ไม่ต้องออกจากบ้าน! นี่คือเรื่องราวของแบรนด์งานคราฟท์เล็กๆ แบรนด์หนึ่งที่มียอดผู้ติดตามใน TikTok ถึงครึ่งล้านกับ Cuting.cut ก่อตั้งโดยตาล ชลิตา แซไซย ผู้ที่หลงรักการทำงาน DIY มาตั้งแต่จำความได้ หนึ่งในงานศิลปะที่เธอชอบทำคือการตัดกระดาษให้เป็นผลงานสุดน่ารัก เมื่อเธอโตขึ้น เธอก็หยิบสิ่งที่เธอชอบมาต่อยอดจจนกลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลายหมื่นบาทต่อเดือน

จากเด็กน้อยชอบตัดกระดาษสู่แบรนด์ cut

    จุดเริ่มต้นของแบรนด์ Cuting.cut ตาลเล่าย้อนให้ฟังว่าเธอเป็นคนที่ชอบการทำงาน DIY และการทำงานศิลปะตัดกระดาษเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ตั้งแต่เธอจำความได้ เธอก็ทำการ์ดจากการตัดกระดาษให้พ่อและแม่ในวันสำคัญ อีกทั้งพี่สาวเธอก็เริ่มต้นทำงานตัดกระดาษมาก่อน ทำให้เธอได้ฝึกฝีมือในการทำงานตัดกระดาษมาตั้งแต่เด็กๆ

     “ลองย้อนกลับไปดู ตั้งแต่อนุบาล เราทำการ์ดตัดกระดาษให้แม่กับพ่อตั้งแต่เด็กๆ เราชอบตรงนี้อยู่แล้ว ชอบทำงาน DIY เวลาวันเกิด วันอะไรที่พิเศษ วันพ่อ วันแม่ เราก็จะชอบตัดกระดาษให้พวกเขา พี่สาวเองก็เรียนศิลปะ เขาเริ่มตัดกระดาษก่อน เราว่ามันน่าสนใจดี เลยลองเอามาตัดดูก็ชอบ เหมือนเราสนุกไปกับมัน เราเลยทำมาเรื่อยๆ”

    แต่จุดที่ทำให้ปิ๊งไอเดียจนเปิดร้านบน Instagram และเริ่มรับงานจริงจัง เกิดจากช่วงที่ตาลมีเวลาว่างตอนซัมเมอร์มหาวิทยาลัยช่วงปี 2 ทำให้เธอลองตัดกระดาษเป็นรูปเหมือนของ Taylor Swift ซึ่งเป็นศิลปินที่เธอชื่นชอบ จากนั้นเธอก็โพสต์ลงในโซเชียลของตัวเองจนมีคนมาคอมเมนต์ว่าให้ลองเปิดร้านตัดกระดาษ เธอจึงปิ๊งไอเดียและลองทำดูนับตั้งแต่ตอนนั้น

    “ตอนนั้นช่วงปี 2 เรียนซัมเมอร์แล้วเราว่างก็เลยตัดกระดาษเป็นรูป Taylor Swift เป็นภาพเหมือนของเขา ตัดกระดาษตรงช่วงใบหน้ากับทรงผม เหมือนเขาเป็นแรงบันดาลใจของเราด้วยว่าทำอะไรก็จะสำเร็จ เราเลยตัดรูปเขา พอเสร็จก็ลองโพสต์ในเฟซบุ๊ก แล้วมีเพื่อนที่ติดตามมาแสดงความคิดเห็นว่าสวยดี ทำไมไม่ลองเปิดร้านตัดดู ช่วงนั้นเรายังไม่เล่นไอจี เราก็เลยลองเปิดร้านในไอจี พอลงรูป อยู่ดีๆ ก็มีคนที่เราไม่รู้จักมาสั่ง เป็นลูกค้าคนแรก ตอนเริ่มเราไม่ได้โปรโมตอะไรเลย พอมีคนไม่รู้จักทักมาทำให้ก็เป็นจุดเริ่มที่ทำให้ขายได้ ตอนนั้นเขาทักมาเหมือนให้ทำรูปครอบครัวเขา เรายังเน้นทำเป็นภาพเหมือนอยู่ พอทำมาเรื่อยๆ จากภาพเหมือน บางคนก็อยากได้ภาพการ์ตูน เราเลยทำควบคู่กันไป ปรับไปตามที่ลูกค้าแนะนำจนกลายเป็นเราในปัจจุบัน”

    สำหรับจุดเด่นของร้าน Cuting.cut ร้านตัดกระดาษให้เป็นของขวัญของตาลจะเน้นการทำงานแบบคัสตอม ตามใจลูกค้า 100% สามารถเลือกฉากหลังได้ตามที่ลูกค้าต้องการ ราคาเริ่มต้นในการสั่งทำอยู่ที่ 1,000 บาท ได้ 1 คนและมีฉากหลังเป็นภาพปรินท์ ส่วนถ้างานที่มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นก็จะมีราคาเพิ่มขึ้นแตกต่างกันไป

    “งานของร้านเราปัจจุบันจะเป็นงานแนวการ์ตูน ฉากหลังลูกค้าสามารถคัสตอมเองได้ว่าต้องการให้เป็นแบบไหน อยากให้เป็นฉากนี้ ชุดนี้ ตามที่ลูกค้าต้องการ เราก็จะตัดตามนั้น 100% เพื่อให้ตรงตามที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด ราคาเริ่มต้นที่ 1,000 บาท ราคาจะเพิ่มขึ้นอยู่กับรายละเอียดของชิ้นงาน ดีเทลต่างๆ ในฉาก งานที่เราเคยทำสูงสุดอยู่ที่ 4 หมื่นกว่าบาท เป็นรูปครอบครัวโฮสต์ที่เขาไปเรียนต่างประเทศ เขามาสั่งตัดให้โฮสต์ มีหลายคน แล้วฉากหลังก็มีดีเทลหลายอย่างที่เป็นประเทศไทย ขนาด A3 ใช้เวลาทำประมาณ 20-25 วัน”

ทำคลิปคอลแลปกับร้านของพี่สาว เพิ่มความปังให้ร้าน

     นอกจากเปิดร้านใน Instagram ตาลยังขยายกลุ่มลูกค้าไปสู่แพลตฟอร์มใหม่อย่าง TikTok ที่สำคัญเธอยังเน้นทำคลิปด้วยกลยุทธ์คอลแลปกับร้านของพี่สาวเพื่อขยายฐานลูกค้าและสร้างความสนุกให้กับคนดูด้วย

    “มันมีช่วงที่ไอจีเริ่มเงียบ คนหันไปเล่น TikTok กัน เราก็ต้องตามเทรนด์ว่าในปัจจุบันลูกค้าอยู่ในแพลตฟอร์มไหน ศึกษาวิธีการเล่าเรื่องให้น่าสนใจ ให้คนหยุดดูคลิปเราเพื่อให้ลูกค้าหันมาสนใจในงานของเรามากขึ้น ตอนแรกที่ตาลทำใน TikTok เราทำคนเดียว ทำทุกวันจนมันไม่รู้จะทำอะไรต่อ เราเลยเริ่มถ่ายคลิปกับพี่สาว แล้วคลิปมันแมส เราก็ทำต่อมาเรื่อยๆ ทำคลิปตัดกระดาษบ้างและเป็นงานของพี่สาวบ้าง เหมือนเราทำคลิปอื่นๆ เพื่อจะได้มีไอเดียใหม่ๆ ในการทำงาน ลองปรับแนวไปเรื่อยๆ ว่าคนจะสนใจอะไร ไม่ได้ทำงานตัดกระดาษอย่างเดียว เป็นงานศิลปะทั้งหมดเลย คลิปที่แมสๆ อย่างเช่นทำของเล่น เราเอากระดาษเหลือใช้มาทำงาน Paper Mache ทำเป็นกระทะแล้วก็ให้พี่สาวเพนต์ เป็นการคอลแลปกับร้านของพี่สาว คนก็จะรู้จักทั้งพี่สาวแล้วก็เราด้วย คนติดตามช่องจะได้ไม่เบื่อ ได้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นมาด้วย”

     โดยตาลได้ปิดท้ายถึงหัวใจสำคัญในการทำร้าน Cuting.cut ว่าเธอไม่ได้มองสิ่งที่ทำเป็นธุรกิจ แต่เธอมองว่าเธอกำลังได้ทำในสิ่งที่รักและตื่นขึ้นมาทำงานที่ชอบในทุกวัน

     “ตาลไม่ได้มองว่าที่เราทำเป็นธุรกิจ เราแค่ชอบทำงาน DIY ได้ตื่นมาทำงานที่เราชอบทุกวัน อันนี้คือหัวใจหลักในการทำงาน เพราะตัวเราปกติไม่ได้เป็นคนชอบออกไปไหน การได้อยู่บ้านแล้วได้ทำงานที่ทำให้ผู้รับและผู้ให้มีความสุข แค่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างโมเมนต์ในวันสำคัญของเขา แค่นี้ก็ดีใจมากๆ แล้วค่ะ”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup