เด็กมหาลัยปั้นธุรกิจจาก Bungkee.caps คีย์แคปสุดน่ารักที่สร้างรายได้สูงแตะแสนบาทต่อเดือน
Text : flymetothemoon
เวลาคิดอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง สิ่งที่ทำให้หลายคนยังไม่ลงมือทำ คือการไม่แน่ใจว่าตัวเองควรทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร สำหรับ โมจิ-ณัชชา ระมิงค์วงศ์ เริ่มจากความชอบ ตั้งแต่ตอนมัธยมโมจิสร้างรายได้จากการสตรีมเกมเพราะชอบเล่นเกม และได้ทำคอนเทนต์ครีเอเตอร์เพราะชอบถ่ายไลฟ์สไตล์ของตัวเอง แต่พอเจอโควิดออกไปไหนไม่ได้ ทำให้โมจิได้เล่นคอมฯ มากขึ้นเลยคิดอยากจัดโต๊ะคอม โมจิได้หาข้อมูลและได้รู้จัก “artisan keycap” คีย์แคปทำมือ เลยรู้สึกสนใจและลองทำคีย์แคปขาย ซึ่งปรากฏว่าได้เสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้า สร้างรายได้หลักแสนต่อเดือน
ไม่ละความพยายามจนประสบความสำเร็จมีแบรนด์ Bungkee.capsในวันนี้
“ในตอนแรกที่ได้เห็นคีย์แคปในกลุ่มที่มีราคาสูง ทำให้เราสงสัยว่าแพงขนาดนี้ใครจะซื้อและได้เริ่มศึกษาการทำคีย์แคป ได้รู้ว่าคีย์แคปเป็นงานฝีมือและรู้สึกว่าตัวเองน่าจะทำได้เลยลองทำดู ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะขาย แค่พอโมได้ลองปั้นและโพสต์ลง Facebook group แล้วมีคนเชียร์ให้ขาย เลยจริงจังขึ้น พัฒนาทำจนได้คีย์แคปที่เราถูกใจและรู้สึกน่ารักที่สุดและเริ่มเปิดขายคีย์แคปตอนโมอายุ 18 ปี”
โมจิเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำคีย์แคป ก่อนที่จะบอกต่อว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ก็ไม่ง่ายเลย เพราะการทำคีย์แคปต้องใช้อุปกรณ์และวัตถุดิบจำนวนมาก เช่น pressure pot หรือหม้อแรงดันไล่ฟองอากาศที่มีราคาหลักหมื่น ทำให้โมจิซึ่งขณะนั้นยังเป็นนักศึกษาปี 1 ต้องปรึกษากับครอบครัวเพื่อขอซื้อ แต่ครอบครัวรู้สึกกังวลและไม่เห็นด้วยกับการลงทุนซื้ออุปกรณ์แพงๆ อย่างไรก็ตามด้วยความไม่ยอมแพ้เพราะไม่อยากรู้สึกเสียใจภายหลังที่ไม่ได้ลองทำ โมจิจึงตัดสินใจขายคีย์บอร์ดที่เธอสะสมไว้ รวมกับเงินเก็บส่วนตัว เพื่อซื้ออุปกรณ์และวัตถุดิบในการทำคีย์แคป
“หลังจากได้อุปกรณ์แล้ว ในระหว่างที่ลองทำโมเจอปัญหาเยอะมาก เช่นมีฟองอากาศในแม่พิมพ์ซิลิโคน เรซิ่นไม่แข็งตัวเพราะเวลาที่ใช้ไม่ถูกต้องทำให้งานออกมาไม่สวย ลองใช้ซิลิโคนทั้งในไทยและต่างประเทศจนรู้ว่างานของเราไม่เหมาะกับซิลิโคนที่ผลิตในไทย ต้องใช้ซิลิโคนจากต่างประเทศ โมใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่ 3-4 เดือน หมดค่าตัวแม่แบบอีกหลักหมื่น ทิ้งแม่แบบไปร้อยตัวถึงสามารถทำคีย์แคปได้สำเร็จ แต่ถึงเราจะรู้สูตรจนได้คีย์แคปแบบที่ต้องการแล้ว การทำแต่ละครั้งก็ต้องใช้เวลาจำนวนมากด้วยเป็นงานทำมือ ขั้นตอนต้องเป๊ะเพื่อให้ได้คีย์แคปออกมาดีที่สุด โดยโมจะต้องใช้เวลาถึง 72 ชั่วโมงในการทำแต่ละครั้ง”
ดึงดูดความสนใจด้วย Storytelling
ด้วยกลุ่มลูกค้าของคีย์แคปเป็นกลุ่มที่เฉพาะ กล่าวคือเป็นกลุ่มคนที่ชอบในคีย์แคปจริงๆ ตลาดนี้จึงเป็น niche marketing โดยโมจิรู้จักและเจอกลุ่มลูกค้าโดยตรงจากการเข้าร่วมคอมมูนิตี้ของคนที่สนใจคีย์แคป Facebook group คนรัก artisan keycap คีย์แคปทำมือ และได้โพสต์เล่าเรื่องราวของตัวเองตั้งแต่ไอเดีย อัปเดตความคืบหน้า การทดลอง ปัญหาต่างๆ ที่เจอในการทำคีย์แคป ผ่านคอมมูนิตี้แห่งนี้ จึงทำให้โมจิเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจก่อนที่จะขายคีย์แคปจริงๆ
“โมตั้งราคาขายที่ชิ้นละ 2 พันบาท พอลงขายรอบแรกไม่ถึง 10 นาที ยอดจองพุ่งถึง 250 ออร์เดอร์ จากที่เปิดให้สั่งจอง 40 ออร์เดอร์ ทำให้ต้องสุ่มรายชื่อลูกค้าที่จะได้สินค้าคล้ายกับการลุ้นกดบัตรคอนเสิร์ตว่ากดแล้วจะได้บัตรไหม ซึ่งก่อนที่จะวางขายโมได้โพสต์เล่าเรื่องราวของ Bungkee.caps ผ่าน Facebook group คนรัก artisan keycap และใน Reddit เพื่อเข้าถึงคนต่างประเทศ ทำให้กลุ่มเป้าหมายได้รู้จักและสนใจตัวคีย์แคปของแบรนด์มาก่อนการเปิดขาย โมคิดว่าสิ่งนี้ทำให้กระแสตอบรับดีมากๆ ตั้งแต่วันแรกที่เปิดขาย”
ดีไซน์น่ารัก นุ่มฟูคือจุดเด่นของ Bungkee.caps
สิ่งสำคัญในการทำงานฝีมือคือการวางคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน และสร้างเอกลักษณ์ความโดดเด่นให้กับสินค้า ซึ่งโมได้วางคอนเซ็ปต์คีย์แคป ภายใต้แบรนด์ Bungkee.caps ว่า “นุ่มฟู”
“ตอนที่โมตัดสินใจทำคีย์แคป สั่งอุปกรณ์และวัตถุดิบแล้ว โมก็ว่าจะปั้นอะไรดี ระหว่างคิดโมหันไปเห็นพ่อเลยคิดถึงหมูเพราะพ่อเกิดปีหมู โมได้เอาคาแรคเตอร์หมูรูปทรงกลมใส่ผ้าอ้อมที่วาดตั้งแต่เด็กมาปั้นคีย์แคป พอปั้นหมูแล้วโมรู้สึกกลัวน้องเหงาเลยได้ปั้นสัตว์ตัวอื่นใส่ผ้าอ้อมด้วยจนกลายเป็นคอนเซ็ปต์ของแบรนด์ โดยคีย์แคปที่โมออกแบบจะมีรูปทรงโค้ง ให้ความรู้สึกนุ่มฟู ปุยนุ่ม รู้สึกหนึบๆ โมได้สอบถามลูกค้าประจำด้วยเพื่อเก็บข้อมูลมาพัฒนาแบรนด์ว่าสิ่งที่เขาชอบในคีย์แคปเราคืออะไร คำตอบที่ได้คือความดีไซน์ที่น่ารัก ไม่เหมือนใครและความเรียบง่ายที่สามารถเข้ากับคีย์บอร์ดได้ง่ายๆ โมคิดว่าการรู้ถึงความต้องการลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำธุรกิจปัจจุบัน เพราะถ้าเรารู้จักลูกค้าได้ดี เราก็จะสามารถทำสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น”
สร้างกิมมิคในการขายและสินค้าที่มีจำนวนจำกัด
Welcome to Bungkee Nursery คือประโยคที่เราจะได้เห็นในแคปชั่นบนอินสตาแกรมของ Bungkee.caps เพราะโมจิมีความตั้งใจที่อยากให้ทุกคนรู้สึกเหมือนเป็นพ่อแม่ที่มารับลูกจากโรงเรียนอนุบาล รวมถึงการตลาดแบบจำนวนจำกัด ที่ถ้าออร์เดอร์ไม่ทันก็จะไม่ได้สินค้ารุ่นที่ต้องการ จึงทำให้สินค้าได้รับความนิยมมากขึ้น โดยในช่วงที่ความต้องการมากๆ โมจิสามารถสร้างรายได้จากขายคีย์แคปได้ถึง 4 แสนบาทต่อเดือน
“เราแทนแบรนด์ตัวเองเป็นโรงเรียนอนุบาลและแทนลูกค้าที่มาซื้อคีย์แคปเป็นพ่อ แม่มือใหม่ที่ได้มารับเลี้ยงลูกๆ จากโรงเรียนของเรา เวลามีคนมารับเลี้ยงเราจะมีใบเกิดของน้องให้กับพ่อ แม่ที่รับเลี้ยงและคีย์แคปทุกตัวจะมีสตอรี่เป็นของตัวเอง วาดการ์ตูนจากคีย์แคป เช่น น้อง Fuku จะเป็นน้องหมูที่มีความกล้าหาญ มีความเป็นผู้นำ พี่คนโตของกลุ่ม น้องแมวน้ำ Bungkee จะซนหน่อยๆ เพิ่มเรื่องราวของแบรนด์ทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความน่ารักของสัตว์แต่ละตัว รู้สึกผูกผันเพราะมีนิสัยตรงกับตัวเองทำให้อยากดูแลมากขึ้น โดยน้องที่มีคนรับเลี้ยงมากที่สุดคือน้อง Fuku หมูสีชมพูและคอลเลกชั่นน้อง Raffle Noel ที่มีสีชมพู ฟ้า โดยแต่ละครั้งที่เปิดรับเลี้ยงสีของน้องจะไม่ซ้ำกันและจะไปวนกลับมาทำอีก”
จาก Bungkee.caps สู่ Bungkee world ขยายฐานลูกค้ากว้างขึ้น
นอกจากทำคีย์แคป Bungkee.caps แล้ว โมจิยังมีความตั้งใจเพิ่มฐานลูกค้าให้เป็น Bungkee world โดยขยายสินค้าสู่แผ่นรองเมาส์และอื่นๆ อีกด้วย
“ลูกค้าคีย์แคปส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าจากต่างประเทศถึง 70% มากที่สุดจะเป็นประเทศอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซียและฮ่องกง โมอยากจะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศเลยมีความคิดที่อยากแตกไลน์สินค้าและมีการออกบูธมากขึ้น รวมถึงการร่วมมือทำแบรนด์กับเพื่อนที่สนใจจากตอนแรกที่เราเริ่มทำคนเดียวเพื่อเสริมในส่วนที่โมยังขาดทำให้เราพัฒนาแบรนด์ได้เร็วและดีขึ้น”
ต่อยอดธุรกิจสู่แบรนด์จิวเวลรี่ Lumichu Jewelry
หลังจากได้เสียงตอบรับที่ดีจากการทำคีย์แคป โมจิได้มีความคิดพัฒนา ต่อยอดธุรกิจด้วยการสร้างแบรนด์จิลเวลรี่เป็นของตัวเองจากความชอบในจิลเวลรี่ที่มีตั้งแต่เด็กและใส่ติดตัวอยู่ตลอด
“ด้วยความชอบในจิลเวลรี่ โมเลยตัดสินใจอยากสร้างแบรนด์จิลเวลรี่ของตัวเอง โดยได้ลงเรียนการออกแบบจิลเวลรี่ก่อนเพื่อศึกษาข้อมูลและรู้ว่าตัวเองชอบที่ได้ออกแบบจิลเวลรี่ โมได้พัฒนาและออกแบบจิลเวลรี่จนเจอรูปแบบลายเส้นที่ใช่ของตัวเอง โมมีแผนจะทำแบรนด์จิลเวลรี่ Lumichu Jewelry ในเดือนมีนาคม คอนเซ็ปต์ของแบรนด์จะเป็น storytelling jewelry เป็นแบรนด์จิลเวลรี่พลังบวก จิลเวลรี่ที่มีคำหรือความหมายดีๆ ให้คนใส่ได้พกกำลังใจติดตัว ด้วยโมสังเกตเห็นจิลเวลรี่ส่วนใหญ่ถ้าความรักก็เป็นรูปหัวใจ ตลอดไปจะเป็นสัญลักษณ์อินฟินิตี้ โมอยากทำจิลเวลรี่ที่เป็นเหมือนผืนผ้าที่เราสามารถใส่เรื่องราวต่างๆ ได้มากขึ้น อย่างคอลเลคชั่นแรกของแบรนด์จะเป็นกระต่ายบนดวงจันทร์ ที่มาของคอลเลคชั่นคือโมมองว่าเวลาคนพูดถึงกระต่ายหมายจันทร์ คนส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดูเป็นเรื่องเผลอฝัน แต่โมมองว่าถ้ากระต่ายอยากจะไปอยู่บนดวงจันทร์แล้วกระต่ายก็จะพยายามเพื่อไปอยู่ให้ได้” โมจิกล่าวในตอนท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup